Lifestyle

แนะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดเสียชีวิต-ภาวะแทรกซ้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 



          แม้จะมีรายงานว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันการป่วยได้ 38% แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-65 ปี และกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงยังคงมีความจำเป็นเนื่องจากวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดการเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากปอดบวมและลดการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้คนรอบข้างก็ควรตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน

 

 

          ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร กรรมการบริหาร ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ : วัคซีนที่ต้องฉีด” ว่าคนมักเข้าใจผิดว่าวัคซีนสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ความเป็นจริงวัคซีนยังจำเป็นสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในวัยเด็กลดลง ซึ่งวัคซีนสามารถลดการติดเชื้อ ลดการนอนโรงพยาบาล และโรคติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงขึ้นหากไม่ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว

 

แนะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดเสียชีวิต-ภาวะแทรกซ้อน

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร

 

 

          สำหรับวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ 60-65 ปี ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญและพบเป็นสาเหตุที่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือป่วยหนัก ทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต ปัจจุบันมีการให้บริการฉีดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และหญิงตั้งครรภ์กว่า 3.5 ล้านโดส และจะเพิ่มเป็น 6 ล้านโดสในปีถัดไป

 



 


          รวมถึง วัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียตัวการทำให้อาการป่วยหนักขึ้น บางรายถึงขั้นติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือเสียชีวิต ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันปอดบวมจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส แต่ประเทศไทยยังไม่มีให้บริการฟรี เนื่องจากราคาสูงราว 1,000–2,000 บาท นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ วัคซีนป้องกันงูสวัด กระตุ้นทุก 10 ปี ก็มีความสำคัญเช่นกัน

 

 

 

แนะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดเสียชีวิต-ภาวะแทรกซ้อน

 


          ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหน้าฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ขณะที่ฝั่งยุโรปจะพบผู้ป่วยมากในช่วงหน้าหนาว เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยการหายใจหรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทำได้โดยการรักษาอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือและการฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดการเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากปอดบวมและลดการเสียชีวิตได้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยฉีดเข้ากล้ามบริเวณต้นแขนปีละ 1 ครั้ง”

 


          ป้องกันได้ 38% ดีกว่าไม่ฉีดเลย
          แม้สหรัฐอเมริกาจะระบุว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันการป่วยจากไข้หวัดใหญ่ได้ 38% ป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N3) 22% ป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1 pdm09) 62% และป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B 50% อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณทางระบาดวิทยา พบว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในชาวอเมริกัน สามารถป้องกันการป่วยจากไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 7.1 ล้านคน ป้องกันการป่วยจากไข้หวัดใหญ่ที่ต้องพบแพทย์ 3.7 ล้านคน ป้องกันการป่วยจากไข้หวัดใหญ่ที่ต้องนอนโรงพยาบาล 1.09 แสนคน และสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้กว่า 8,000 คน

 

 

 

แนะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดเสียชีวิต-ภาวะแทรกซ้อน

 

 


          คนในครอบครัวอย่าชะล่าใจ
          ทั้งนี้จากรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อน โดยสำนักระบาดวิทยา จำแนกตามสถานที่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 เมษายน 2562 พบว่า สถานที่ที่พบผู้ป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่มากที่สุด ได้แก่ โรงเรียน รองลงมาคือ เรือนจำ โรงพยาบาล ค่ายฝึกตำรวจและค่ายทหาร ตามลำดับ ขณะเดียวกันจากรายงานในปี 2552 พบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อปอดบวมในประเทศไทย 200–250 คนต่อแสนประชากร ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุระหว่าง 0–4 ปี แต่อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปกลับสูงมากกว่า


          สะท้อนให้เห็นว่าแม้ผู้สูงอายุบางรายจะอยู่แค่ในบ้าน แต่ก็ไม่ปลอดภัยและห่างไกลโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นบุคคลซึ่งใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนด้วย เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงเมื่อตนเองป่วย โดยเฉพาะผู้ดูแลที่เป็นแรงงานต่างด้าว อาทิ ประเทศลาว ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการระบาดของโรคคอตีบ และประเทศพม่า พบเชื้อวัณโรคดื้อยาสูง โดยเฉพาะในพื้นที่กาญจนบุรี เนื่องจากการให้วัคซีนแรกเกิดของพม่ากับลาวยังไม่เพียงพอ

 

 

 

 

แนะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดเสียชีวิต-ภาวะแทรกซ้อน

 


          แพทย์ควรให้คำแนะนำ
          ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยพบว่ายังมีผู้สูงอายุที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอยู่เป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักคือห่างไกลโรงพยาบาลและแพทย์ไม่แนะนำให้ฉีด รวมถึงประชาชนยังไม่รู้ถึงประโยชน์ในการฉีดวัคซีน และมีความกังวลว่าการฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียง แต่ในความเป็นจริงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่รุนแรงและมักเป็นอาการเฉพาะที่เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ และหายได้ภายใน 2-3 วัน ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุและการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บป่วย และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล


          ที่ผ่านมาราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้จัดทำ “แนวทางการให้วัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ” เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แพทย์และประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยและผู้สูงอายุผู้ในครอบครัวในด้านการป้องกันโรคและผลักดันภาครัฐ สังคม และเอกชน ให้เห็นความสำคัญในการสนับสนุนการให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุมาอย่างสม่ำเสมอ

 

 

 

แนะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดเสียชีวิต-ภาวะแทรกซ้อน

 

 


          ล่าสุดสถานเสาวภา สภากาชาดไทย มีการจัดทำโปรแกรม “สถานเสาวภา” เพื่อให้แพทย์และประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ถึงวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่ควรได้รับการฉีดตามคำแนะนำดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเข้าใช้ได้โปรแกรมได้โดยผ่านทาง QR Code หรือ http:medschedule.md.chula.ac.th/vaccine โดยปัจจุบันมีจำนวนดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 1 หมื่นดาวน์โหลด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ