Lifestyle

ธัญบุรีMOUกัญชา5ปีครบวงจรจับมือเจเอสพีวิจัยบริการทางการแพทย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ  [email protected]

 

 

 

          ขณะนี้มีหน่วยงานรัฐที่ขออนุญาตปลูกและผลิตกัญชาทางการแพทย์ หลายหน่วยงาน ทั้ง องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขออนุญาตในการปลูกและผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็กำลังดำเนินการขออนุญาต รวมทั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ระหว่างดำเนินการ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอของกลางไปทำการวิจัย และขออนุญาตปลูกอยู่เช่นกัน

 

 

          นอกจากนี้ยังมีชมรม เครือข่าย กลุ่มที่มีการผลิตกัญชาใต้ดิน ก็สามารถร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการผลิตและวิจัยกัญชาได้เช่นกัน เป็นลักษณะจับคู่วิจัยหรือแมชชิ่ง จะทำให้ผู้ผลิตทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันเกิดองค์ความรู้มากมายเรื่องการผลิตกัญชาทางการแพทย์ ที่สำคัญ จะทำให้ผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชาอยู่แล้วมียาใช้ต่อเนื่องต่อไป โดยเข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยและมีความปลอดภัยมากขึ้น จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกตรวจคุณภาพแล้ว

 

ธัญบุรีMOUกัญชา5ปีครบวงจรจับมือเจเอสพีวิจัยบริการทางการแพทย์

 


          ล่าสุดวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) ลงนามทำบันทึกความเข้าใจ เรื่อง “การศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ร่วมกับ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นเวลา 5 ปี เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ ระบุชนิดพันธุ์พืช พัฒนาสายพันธุ์ และทดลองเพาะปลูกพืชกัญชา  และทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาจากตำรับยาที่มีส่วนผสมของพืชกัญชา รวมทั้งทดสอบประสิทธิผลของตำรับยาที่มีส่วนผสมของพืชกัญชาในคน นับว่าเป็นการดำเนินการครบวงจรเลยทีเดียว 

 

 

 

ธัญบุรีMOUกัญชา5ปีครบวงจรจับมือเจเอสพีวิจัยบริการทางการแพทย์

 


          ดร. พทป. (แพทย์แผนไทยประยุกต์) วัชระ ดำจุติ หัวหน้างานวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โรงงานผลิตยาสมุนไพรและอาหารเสริม JSP กับ บริษัทวิจัยพัฒนา CDIP ภายใต้การบริหารงานของ ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ  พัฒนาโรงงานผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน GMP ต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ มาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว

 

 

 

ธัญบุรีMOUกัญชา5ปีครบวงจรจับมือเจเอสพีวิจัยบริการทางการแพทย์

 



          สำหรับการคัดเลือกสายพันธุ์ ระบุชนิดพันธุ์พืช พัฒนาสายพันธุ์ และทดลองเพาะปลูกพืชกัญชา เป็นภารกิจของคณะเทคโนโลยีการเกษตร โดยวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย จะรับผิดชอบในส่วนการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาจากตำรับยาที่มีส่วนผสมของพืชกัญชา รวมทั้งทดสอบประสิทธิผลของตำรับยาที่มีส่วนผสมของพืชกัญชาในคน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านห้องปฏิบัติการ สถานผลิตยาสมุนไพรมาตรฐาน GMP มีโรงงานผลิตยาสมุนไพรแผนโบราณ และมีสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สามารถนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ โดยทางบริษัทจะเป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์มาให้ดำเนินการ


          ด้วยความที่วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย จัดการเรียนการสอน หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพและความงามหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มีสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทยประยุกต์ราชมงคลธัญบุรี บัวสปา โรงงานผลิตยาศูนย์ผลิตและบริการวิชาการผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ทำให้ ดร.พทป. วัชระ เชื่อมั่นว่าจะสามารถเป็นแหล่งสนับสนุนการทำการวิจัยเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้

 

 

 

ธัญบุรีMOUกัญชา5ปีครบวงจรจับมือเจเอสพีวิจัยบริการทางการแพทย์

 


          สำหรับบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (JSP) ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการผลิต และจัดจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม แบบครบวงจร มาเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งขยายธุรกิจมาจาก บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม ค็อกซ์ จำกัด ที่ผลิตและจัดจำหน่ายยาน้ำแก้ไอสำหรับเด็ก และยาฮอร์โมนคุมกำเนิด เป็นต้น


          มีแบรนด์ในเครือ อาทิ สุภาพโอสถ (ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ), พีทแอนด์พอล(ผลิตภัณฑ์เสริม) และ Eviton (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารระดับไฮเอนด์) มีโรงงาน 2 แห่ง คือที่ JSP พระราม 3 (ผลิตอาหารเสริม), JSP จังหวัดลำพูน (ผลิตผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร) โดยเน้นร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ วิจัยพัฒนายอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีมูลค่าสูง

 

 

 

ธัญบุรีMOUกัญชา5ปีครบวงจรจับมือเจเอสพีวิจัยบริการทางการแพทย์

 


          ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตน่าจะต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้เปิดสอนวิชากัญชาศาสตร์ขึ้นมาในระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยไทย ที่มีการเปิดสอนวิชานี้ ซึ่งการเรียนการสอนเน้นความรู้ไปทางการแพทย์เป็นหลัก โดยอยู่ในหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเกษตร ในกลุ่มวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช และการจัดการผลิตผลเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจำนวน 4 รายวิชา คือ 1) กัญชาศาสตร์ 2) เทคโนโลยีการผลิตกัญชาทางการแพทย์ 3) เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์กัญชาทางการแพทย์  4) การปฏิบัติการปรับปรุงพันธุ์กัญชาทางการแพทย์


          โดยจะมุ่งเน้นสอนเทคนิคการปลูก การขยายพันธุ์ ซึ่งการเรียนการสอนเน้นความรู้ไปทางการแพทย์ เทคโนโลยีการผลิตกัญชาทางการแพทย์แบบแม่นยำสูง การเลือกและการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดที่เหมาะสม รูปแบบและวิธีการติดตั้งตัวตรวจวัด การเชื่อมต่อการใช้งานตัวตรวจวัดในลักษณะของเครือข่ายในสภาพแวดล้อมจริง เพื่อควบคุมและจัดการฟาร์มกัญชาอัจฉริยะ เช่น ระบบให้น้ำและปุ๋ย ระบบตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมในแปลงปลูก ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนปิด เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีการเก็บรักษา ที่ตอบสนองอาชีพปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

 

ธัญบุรีMOUกัญชา5ปีครบวงจรจับมือเจเอสพีวิจัยบริการทางการแพทย์

 

 


          กัญชา(รักษาโรค)ไม่ใช่ทางเลือกแรก
          การใช้กัญชาทางการแพทย์มีหัวใจสำคัญที่จะต้องคำนึงให้มาก นั่นก็คือจะต้องไม่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นทางเลือกแรกในการรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจะต้องผ่านการรักษาตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานมาก่อนแล้วไม่ได้ผล และแพทย์จะต้องอธิบายข้อดีและผลกระทบจากการใช้กัญชาให้ผู้ป่วยเข้าใจจนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้หรือไม่เสียก่อน และการสั่งใช้กัญชาต้องทำในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยมีแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมใช้กัญชาทางการแพทย์และขึ้นทะเบียนกับ อย.ทั้งคู่ ในสถานพยาบาลที่มีเฉพาะแพทย์ หรือเฉพาะเภสัชกรที่ขึ้นทะเบียนเพียงวิชาชีพเดียวไม่สามารถสั่งใช้กัญชาได้


          การใช้กัญชาทางการแพทย์จะต้องพิจารณาถึงปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ มีประสิทธิผลในการรักษา และมีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ใด หรือกลุ่มใดเป็นพิเศษ โดยมีงานวิจัยรองรับแล้วว่าสามารถใช้ในโรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักดื้อต่อยารักษา ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปอดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล รวมทัั้งสารสกัดจากกัญชาน่าจะมีประโยชน์ในการควบคุมอาการของโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง และผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ในอนาคต

 

 

ธัญบุรีMOUกัญชา5ปีครบวงจรจับมือเจเอสพีวิจัยบริการทางการแพทย์

 

 


          ข้อควรระวังในการใช้กัญชา
          กรมการแพทย์ได้จัดทำคู่มือข้อควรระวังในการใช้ไว้ว่าห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จาการสกัดกัญชา ผู้เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อนหรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรควิตกกังวล และหลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด หรือสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ห้ามสั่งใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีทีเอชซีกับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่เป็นโรคตับ ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติด รวมถึงนิโคตินหรือเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก ผู้ใช้ยาอื่นๆ โดยเฉพาะยากลุ่มโอปิออยด์(opioids) และยากล่อมประสาท และผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น


          การใช้กัญชาทางการแพทย์ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างเสรี เนื่องจากระดับสากลกัญชายังถือเป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยได้ปลดล็อกให้ใช้ทางการแพทย์ได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการปลูกและผลิตกัญชาเพื่อส่งออก จะต้องส่งคำขออนุญาตจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime :UNODC) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมยาเสพติดทั่วโลก โดยจะต้องแสดงปริมาณการผลิตที่จะส่งออก และจะส่งออก ซึ่งประเทศไทยยังต้องการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาให้ได้คุณภาพในระดับเกรดทางการแพทย์ (Medical Grade) และกำลังการผลิตเพื่อส่งออกด้วย คาดว่าจะต้องใช้เวลาพัฒนาสิ่งเหล่านี้ระยะเวลาหนึ่ง จึงจะมีความพร้อม
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ