Lifestyle

ขอให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้รัฐบาลเสียงจากคนใช้แรงงาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected]

 

 

          "อยากให้รัฐบาลช่วยให้คนรากหญ้าเข้ามาจัดสรรหนี้นอกระบบ และเข้าถึงเงินกู้ของรัฐบาลมากขึ้น" เนาวนิตย์ เปี่ยมชัย


          แม้สวัสดิการประกันสังคมจะครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ โดยมีทั้งผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 และผู้ประกันตนนอกระบบ มาตรา 40 อย่างไรก็ตามยังคงมีเรื่องหนี้นอกระบบซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้ใช้แรงงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ยาก  

 

 

          เนาวนิตย์ เปี่ยมชัย หรือป้าหน่อย อายุ 57 ปี อาชีพขายส้มตำ เล่าว่า ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด เข้ามาทำงานที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยการรับจ้างทั่วไปและแม่บ้านย่านบรรทัดทอง หลังจากนั้นเริ่มอาชีพขายส้มตำในปี 2528 รายได้ต่อวันอยู่ที่หลักพันบาท และเป็นหนึ่งในผู้ประกันตนนอกระบบตามมาตรา 40 เพื่อเป็นสวัสดิการในยามเจ็บป่วยและเกษียณ

 

ขอให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้รัฐบาลเสียงจากคนใช้แรงงาน

เนาวนิตย์ เปี่ยมชัย

 


          ครอบครัวของป้าหน่อย มีสมาชิกกว่า 6 คน และเคยเป็นหนี้นอกระบบ ป้าหน่อย เล่าว่าตอนนั้นสามีออกจากงานและต้องผ่อนบ้านจึงเป็นสาเหตุของการเป็นหนี้ ด้วยดอกเบี้ยกว่าร้อยละ 20 เคยเป็นหนี้มากที่สุดหลักแสนบาท จึงพยายามขยันทำงานและปลดหนี้ได้สำเร็จ ปัจจุบันอยู่อย่างปลอดหนี้มาแล้วกว่า 15 ปี ถึงแม้ในบางเดือนรายได้จะไม่เพียงพอต่อรายจ่ายบ้าง แต่ก็ดีกว่ามีหนี้เช่นที่ผ่านมา

 


          “สาเหตุที่เราไม่ยืมเงินในระบบเพราะค่อนข้างยุ่งยาก ต้องหาคนค้ำประกัน หลายคนที่หาเช้ากินค่ำจึงเลือกที่จะยืมเงินนอกระบบเพราะจับต้องได้ง่ายกว่า พูดวันนี้ได้วันนี้ แม้ปัจจุบันจะปลอดหนี้แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังเป็นหนี้นอกระบบถึงขนาดต้องย้ายบ้านหนี จึงอยากจะวิงวอนให้ภาครัฐช่วยเข้ามาจัดสรรหนี้นอกระบบให้อยู่ในระบบสำหรับคนรากหญ้าและให้เข้าถึงเงินกู้ของรัฐบาลมากขึ้น เพราะส่วนมากคนจนเข้าไม่ถึง ต้องมีหลักฐาน ต้องมีคนค้ำประกัน โดยอาจจัดตั้งกองทุนในชุมชนให้เข้าถึงง่ายขึ้น” ป้าหน่อย กล่าว

 



          ด้าน นันทศักดิ์ เจียมจิตร อายุ 42 ปี อาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์ย่านสุขุมวิท ซึ่งแต่เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ทำงานในบริษัทจิวเวลรี่และโลจิสติกส์ กระทั่งหันมาขับวินมอเตอร์ไซค์น์เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดยสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตั้งแต่ลาออกจากงาน ปัจจุบันรายได้หักค่าน้ำมันและค่าข้าวอยู่ที่ราว 800-1,000 บาทต่อวัน

 

ขอให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้รัฐบาลเสียงจากคนใช้แรงงาน

นันทศักดิ์ เจียมจิตร

 


          “เรารู้สึกว่าอาชีพนี้อิสระ เหนื่อยก็หยุดได้ เป็นงานของเราเอง หาเราก็ได้เงิน ไม่หาก็ไม่ได้ ซึ่งแต่ละเดือนจ่ายค่าเช่าบ้านราว 3,500 บาท โดยส่วนตัวมีภาระหนี้ในระบบซึ่งเป็นบัตรเครดิตราว 40,000 บาท และนอกระบบไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งในแต่ละเดือนต้องจ่ายหนี้ที่มีรวมถึงส่งเงินให้ลูกราว 10,000 กว่าบาท ซึ่งในส่วนนี้เราสามารถบริหารจัดการได้ แต่สิ่งที่อยากให้ภาครัฐชปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานราชการให้เป็นระบบและบริการประชาชน โดยการแนะนำขั้นตอนการบริการให้ดียิ่งขึ้น


          สำหรับ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 เป็นการประกันตนสำหรับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน และต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม โดยผู้ประกันตนจะส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือกรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

 

 

 

ขอให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้รัฐบาลเสียงจากคนใช้แรงงาน

 


          ส่วน ผู้ประกันตนนอกระบบมาตรา 40 ถือเป็นการขยายระบบประกันสังคมครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งในส่วนของพ่อค้าแม่ค้า ผู้ที่ทำอาชีพอิสระ โดยมีให้เลือก 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 3 กรณี คือกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
ปลอดหนี้ได้ถ้าใช้เงินเป็น


          วิรัตน์ สุขพ่วง อายุ 51 ปี   อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งย้ายมาลงหลักปักฐานในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 1 ปี เพื่ออยู่เป็นเพื่อนลูกสาวซึ่งทำงานด้านบัญชี แต่เดิมเป็นชาวอุทัยธานี จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังจากบวชเป็นพระและสึกออกมา ได้ทำงานรับจ้างทั่วไป อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา รับปูกระเบื้อง รวมถึงเคยเดินทางไปทำงานและเรียนรู้ด้านการเกษตรที่ภาคใต้

 

 

ขอให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้รัฐบาลเสียงจากคนใช้แรงงาน

วิรัตน์ สุขพ่วง

 


          ปัจจุบัน วิรัตน์ ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ 7 เดือน รายได้เฉลี่ย 487 บาทต่อวัน โดยเดือนหนึ่งเงินออก 2 รอบ ปกติทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ เวลา 06.00–18.00 น. กะเช้า และกะดึกเวลา 18.00–06.00 น. นานๆ จะหยุดหากมีความจำเป็นจริงๆ และหากทำงานในช่วงเทศกาลจะได้ค่าแรง 2 เท่า โดยเช่าห้องอยู่คอนโดเล็กๆ กับลูกสาวคนละห้อง ซึ่งค่าห้องต่อเดือนราว 3,000 บาท ด้วยความที่เป็นคนประหยัดทำให้ปลอดหนี้และมีเงินเก็บ


          “เราเป็นคนไม่ชอบฟุ่มเฟือย มาทำงานก็มามอเตอร์ไซค์ ทุกวันนี้จะซื้อแกงถุงละ 30 บาท ข้าว 20 บาท เท่ากับวันละ 50 บาท ส่วนค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์เติมเต็มถังอยู่ได้ทั้งเดือน ชีวิตคนเราไม่ทำตัวให้ล่างสุดก็ต้องสูงสุดไปเลย แต่เราชอบที่จะอยู่แบบนี้ เคยเห็นคนอื่นที่รู้จักซื้อรถ เช่าห้องแพง กินอาหารแพง ขณะที่เราเป็นคนไม่ดื่ม กลับถึงห้องอาบน้ำ แช่ผ้า อ่านหนังสือธรรมะ เข้านอน แต่ละเดือนจึงมีภาระแค่ค่าเช่าห้องอย่างเดียว หรือไม่ก็โอนเงินช่วยเหลือพี่ชายที่เป็นโรคมะเร็งระยะที่ 3 บ้าง สำหรับตนเองทุกวันนี้มีประกันสังคมที่บริษัททำให้แต่ไม่เคยใช้บริการเนื่องจากพยายามดูแลสุขภาพอยู่เสมอ”

 

 

ขอให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้รัฐบาลเสียงจากคนใช้แรงงาน

 


          บั้นปลายชีวิต  วิรัตน์ บอกว่า หากทำงานไม่ไหวก็จะกลับไปอยู่ที่บ้านเกิด เพราะปัจจุบันพ่อแม่ก็เสียหมดแล้ว บ้านปิดล็อกไว้ ด้านในมีสวนมะม่วงให้ลูกหลานช่วยเก็บโดยให้ค่าจ้างวันละ 500-700 บาท ส่วนตัวเองก็ไม่ได้ใช้จ่ายอะไร เหล้าก็ไม่กิน ประหยัดเงิน ทำให้ปัจจุบันมีเงินเก็บพอใช้จ่ายในยามฉุกเฉินและซื้อสิ่งของที่อยากได้

 


          เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาท
          ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ในปีนี้สิ่งที่แรงงานอยากได้รับการดูแลจากรัฐบาลชุดปัจจุบันและชุดใหม่ คือ อยากให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศไทยเพราะค่าครองชีพไม่ได้สูงเฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่ค่าครองชีพสูงทุกจังหวัด แรงงาน กรรมกรต้องกินต้องใช้เหมือนกันหมด ค่าแรงควรได้เท่ากัน เพื่อความอยู่รอดของแรงงาน
 

 

 

ขอให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้รัฐบาลเสียงจากคนใช้แรงงาน

ชาลี  ลอยสูง

 

 

          อีกทั้งควรจะมีการส่งเสริม พัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานยุคเก่าที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้จะขาดทักษะในด้านภาษา แต่เขามีประสบการณ์ มีทักษะการทำงาน ความเชี่ยวชาญที่สูง ดังนั้นในยุคที่เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทในการทำงานต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลง แรงงานต้องเพิ่มศักยภาพ เพิ่มทักษะในการทำงานด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่


          ขณะเดียวกันบริษัท สถานประกอบการ นายจ้างก็ต้องมองลูกจ้างเป็นหุ้นส่วน เป็นคนทำงานร่วมกันที่ต้องเพิ่มทักษะความสามารถและค่าแรงที่เป็นธรรมแก่พวกเขา อย่ามองเพียงว่าเป็นลูกจ้าง ลูกน้องที่ทำงานแลกเงินเท่านั้น


          ปัจจุบันแรงงานรุ่นเก่าและแรงงานรุ่นใหม่มีสัดส่วนประมาณ 50:50 ซึ่งในกลุ่มแรงงานรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มีปัญหาแตกต่างกัน โดยแรงงานรุ่นเก่าขาดทักษะด้านภาษาและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หากเติมเต็มทักษะเหล่านี้ได้ แรงงานไทยจะไม่แพ้ชาติใดในโลก เพราะเรามีทักษะด้านอื่นที่ดีอยู่แล้ว ส่วนแรงงานรุ่นใหม่ สิ่งที่ขาดคือความอดทน การสู้งาน และสนใจการทำงานในรูปแบบพาร์ทไทม์มากกว่าการจะสร้างความมั่นคงในชีวิต ฉะนั้น เมื่อทำงานได้ระยะเวลาหนึ่งเขาก็จะเปลี่ยนงาน

 

          “แรงงานในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงว่าจะตกงาน หากไม่มีการปรับตัว AI จะเข้ามาแทนที่ คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นลักษณะการทำงานรูปแบบเดิมๆ อีกทั้งยังไม่มีการพัฒนาทักษะอาชีพเพิ่มเติม ส่วนอุตสาหกรรมที่แรงงานจะไม่ได้รับผลกระทบและมีความมั่นคงสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ 

          อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้จะได้ค่าตอบแทน สวัสดิการและการดูแลที่ดี อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี AI มีผลต่อความอยู่รอดของแรงงานไทย” ชาลี กล่าว


          ดังนั้นอยากฝากแรงงานทุกคนต้องปรับตัว เรียนรู้ เพิ่มทักษะในการทำงานของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีโอกาสในการศึกษาต่อไม่ว่าจะด้านความเชี่ยวชาญหรือด้านภาษาต้องอย่าละเลย ขณะเดียวกันนายจ้างก็ต้องให้ความสำคัญและความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างมากขึ้น

 


          10 ข้อเรียกร้องคสรท.
          วันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นี้ คสรท.จัดกิจกรรมเรียกร้องเพื่อผู้ใช้แรงงานทุกคนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้แก่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย 1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ


          อาทิ ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน อาทิ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี 3.รัฐต้องให้สัตยาอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองเพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 มาตรา 48)
4.รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม เช่น จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐนายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และนำเงินส่งสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 33 เป็นต้น


          5.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อาทิ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 6.รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว


          7.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมหมวด 5 มาตรา 53) 8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม 9.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง และ 10.รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้แก่สถาบันความปลอดภัยเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ