Lifestyle

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] 

 

 

          กรมการแพทย์อบรมแพทย์-เภสัชฯ ใช้กัญชารักษารุ่นแรกยึดหลักปลอดภัย มีประสิทธิผล ไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มใดเป็นพิเศษไฟเขียว 3 กลุ่มโรค รพ.ที่มีสิทธิ์ใช้กัญชา แพทย์-เภสัชฯ-รพ. ต้องขึ้นทะเบียนกับอย.ใบอนุญาตมีอายุ 2 ปี ขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยอบรมหมอพื้นบ้านใช้ประโยชน์จากกัญชา 150 คน 16 ตำรับ
  

 

 

          วานนี้ (29 เม.ย.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดการอบรม “การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์” และบรรยายพิเศษเรื่อง “Health policy for cannabis on medical use” โดยมีแพทย์ ทันตแพทย์และเภสัชกรจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศเข่าร่วมราว 200 คน ว่าบุคลาการทางการแพทย์ที่เข้ารับการอบรมเป็นผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์จะต้องพิจารณาในการที่จะสั่งใช้ให้กับผู้ป่วยมี 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ปลอดภัย (Safety) สารสกัดจากกัญชาปลอดภัยจากสารพาเจือปน และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่ำเมื่อใช้รักษาผู้ป่วย 2.มีประสิทธิผลในการรักษา และ 3.มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการรักษา ผู้ป่วยเข้าถึงสารสกัดจากกัญชาอย่างเท่าเทียม ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ใด หรือกลุ่มใดเป็นพิเศษ

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์


   

          ประโยชน์ของสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มโรค/ภาวะที่ได้ประโยชน์มีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักดื้อต่อยารักษา ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปอดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล 2.กลุ่มโรคภาวะที่สารสกัดจากกัญชาน่าจะมีประโยชน์ในการควบคุมอาการของโรค ควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน วิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล เพื่อสนับสนุนการนำไปใช้ คือ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และ 3.กลุ่มโรค ภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการศึกษาวิจัย


    

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

 

 

          “สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องไม่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นทางเลือกแรกในการรักษาโรคให้ผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจะต้องผ่านการรักษาตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานมาก่อนแล้วไม่ได้ผล และแพทย์จะต้องอธิบายข้อดีและผลกระทบจากการใช้กัญชาให้ผู้ป่วยเข้าใจจนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้หรือไม่” นพ.สมศักดิ์กล่าว
   

          บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าอบรมรุ่นแรกนี้ หากผ่านการสอบประเมินได้คะแนนเกิน 60% จะได้รับใบรับรองเป็นผู้ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ จากนั้นจะต้องนำใบรับรองไปขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อได้รับอนุญาตจึงจะสามารถสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ จะต้องดำเนินการผ่านในสถานพยาบาลเท่านั้น 

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

 


 

          โดยหากสถานพยาบาลที่ประสงค์จะใช้กัญชาจะต้องขึ้นทะเบียนกับอย.ด้วย และจะสั่งใช้ได้ในสถานพยาบาลนั้นได้ทั้งแพทย์และเภสัชกรจะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตทั้งคู่ โดยแพทย์เป็นผู้สั่งใช้และเภสัชกรจะเป็นผู้จ่าย จะมีใบอนุญาตเฉพาะส่วนไม่ได้ และจะต้องรายงานติดตามเฝ้าระวังการนำไปใช้ให้กับอย.เช่นเดียวกับการใช้มอร์ฟีน ทั้งนี้ใบอนุญาตเป็นผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์จะมีอายุ 2 ปี จากนั้นจะต้องเข้ารับการอบรมใหม่ เนื่องจากความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับกัญชาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก  

 

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

 

 


          นพ.วีรชัย ชีวาดิศัยกุล อายุรแพทย์ รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จ.นครปฐม หนึ่งในแพทย์ที่เข้ารับการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์รุ่นแรก กล่าวว่า สนใจเข้ารับการอบรมเป็นแพทย์ผู้สั่งใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เนื่องจากเห็นว่ายังมีโรคอีกมากที่แนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายได้  เท่าที่ทราบวงการแพทย์เมืองไทยก็มีการนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมาบ้างแล้ว เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง พาร์กินสัน หรืออัลไซเมอร์ เป็นต้น ที่ให้การรักษาตามมาตรฐานแล้วไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ที่ให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้ว ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น  ก็จะเข้ามาปรึกษาและขอให้ใช้กัญชาได้หรือไม่ เมื่อเข้าอบรมและสอบผ่านได้ใบรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์ผู้สั่งใช้กัญชาทางการแพทย์กับอย.แล้ว เมื่อมีผู้ป่วยมาปรึกษาแนวทางการรักษานี้ก็จะอธิบายให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รอบด้าน และพิจารณาให้การรักษาด้วยกัญชาในผู้ป่วยที่เห็นว่าสามารถใช้กัญชาได้ ซึ่งเป็นการดำเนินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

 


          วันเดียวกัน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ สภาการแพทย์แผนไทย จัดทำหลักสูตรและดำเนินการจัดอบรมวิทยากรครู ก. ระหว่างวันที่ 29-30 เมษายน 2562 จำนวน 150 คน เป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อแก่บุคลากรในพื้นที่ของเขตสุขภาพ ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เขตละไม่น้อยกว่า 150 คน โดยกำหนดให้มีการขับเคลื่อนจัดกิจกรรมการอบรมพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้


          ทั้งนี้ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุให้กัญชาและกระท่อม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย ว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถยื่นขออนุญาตมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์ได้

 

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์

 


          นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะประธานพิธีเปิดการอบรมวิทยากรครู ก. หลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า การอบรม 2 วันนี้ มุ่งหวังจะได้คนที่เป็นวิทยากรครู ก. จำนวน 150 คน เขตละไม่เกิน 6 คน (หากสอบผ่าน) เพื่อไปจัดการอบรมพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 27 พฤษภาคม โดยคนที่มาอบรมส่วนหนึ่งเป็นแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหากอบรมผ่านจะมีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้


          สำหรับการขับเคลื่อนในการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยนั้น จะดำเนินการตามรายการยา 16 ตำรับที่ผ่านการประกาศใช้และมีกัญชาเป็นส่วนผสม ซึ่งมีการคัดกรองความซ้ำซ้อนจาก 200 ตำรับ เหลือ 90 ตำรับ ในจำนวนดังกล่าวมีการจัดแบ่งตามกลุ่มในการพัฒนาเป็นลำดับชั้น แยกเป็น 4 กลุ่ม 
   คือกลุ่ม ก. เป็นตำรับยาที่มีประสิทธิผล มีความปลอดภัย วิธีการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตัวยาหาไม่ยาก และมีสรรพคุณตำรับที่แก้ปัญหาสาธารณสุข ประกาศใช้ตามกฎหมาย มีจำนวน 16 ตำรับ
   

     

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

 

 

          กลุ่ม ข. เป็นตำรับยาที่มีประสิทธิผลแต่วิธีการผลิตไม่ชัดเจน มีตัวยาหายาก ข้อมูลตำรับไม่ครบถ้วน เป็นตำรับยาที่เห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม มีจำนวน 11 ตำรับ กลุ่ม ค. เป็นตำรับยากลุ่มที่ไม่แน่นอน เขียนในคัมภีร์ เป็นคำกลอน เขียนระบุโรคต่างๆ ไม่ชัดเจน มีกัญชาเป็นส่วนผสมน้อย กลุ่มนี้ต้องอยู่ในการควบคุม เป็นโครงการวิจัย เป็นตำรับยาที่เห็นควรทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม มีจำนวน 32 ตำรับ
    

          และกลุ่ม ง. เป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบ ห้ามใช้ เนื่องจากอาจมีสารพิษผสมอยู่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ห้ามใช้ตัวยาบางตัว เช่น ไคร้เครือ หรือมีสารประกอบของพืชหรือสัตว์ผสมเป็นข้อห้ามตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) และตัวยาบางชนิดกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ กลุ่มนี้ต้องอยู่ในการควบคุม เป็นโครงการวิจัย มีจำนวน 31 ตำรับ
 

          “จากการสำรวจแพทย์แผนไทย 4,000 คนทั่วประเทศ คำนวณเป็นตัวเลขกัญชาที่ต้องปลูกอยู่ที่ราว 11 ตัน โดยแบ่งให้แก่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ BIOTEC ปลูกในระบบปิดด้วยเทคโนโลยีใหม่ พัฒนาสายพันธุ์ที่ดีที่สุด 2 ตัน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตสกลนครจำนวน 2 ตัน นอกจากนี้ที่เหลืออีก 7 ตัน ให้แก่สภาเกษตรกรแห่งชาติ
    

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

เดชา ศิริภัทร

 

          นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งได้เดินทางเข้ารับการอบรม กล่าวว่า หากผ่านการอบรมในครั้งนี้จะมีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนขอใบรับรองจาก อย. และสามารถใช้ยาทั้ง 16 ตำรับได้  อย่างไรก็ตามปัจจุบันสามารถทำและแจกได้เท่านั้น และต้องทำร่วมกับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลที่มีการทำวิจัยเพื่อเก็บผลเป็นงานวิจัย คนไข้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยแต่ต้องเซ็นยินยอมเป็นทางการ สำหรับการร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อนำของกลางมาทำยาและทดสอบความปลอดภัย
  

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน

 

 

          “การเข้ามาอยู่ในระบบมีทั้งผลดีผลเสียผลดีคือ ได้ทำอย่างถูกกฎหมายแต่ผลเสียคือทำให้มีการจำกัดการเข้าถึงยาของผู้ป่วยที่กำลังต้องการยามีกว่า 8 แสน–2 ล้านคน จะให้ดีจริงต้องปรับกฎหมายให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้คนกว่าล้านคนที่เหลือต้องไปหายาใต้ดินเพราะไม่มีทางเลือก ดังนั้นต้องปรับกฎหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึง" ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าว

 

 

อบรมใช้กัญชารุ่นแรก200คนไฟเขียว3กลุ่มโรคคู่แผนปัจจุบัน


     
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ