Lifestyle

สำเร็จครั้งแรกของโลกวิทย์จุฬาฯเพาะปะการังพุ่มจากสเปิร์มแข็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร  [email protected]

 


          ครั้งแรกของโลก นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพาะปะการังโต๊ะแบบพุ่มจากสเปิร์มแช่เยือกแข็งสำเร็จ มีอัตราการปฏิสนธิของปะการังสูงกว่า 98% และมีอัตรารอดขณะทำการอนุบาลในระบบเลี้ยงจนมีอายุประมาณ 2 ปี ที่ 40–50% ลดเสี่ยงปะการังสูญพันธุ์เพิ่มทางรอดให้อนาคตปะการังและสิ่งแวดล้อมทางทะเลไทย

 

 

          วานนี้ (24 เม.ย.) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ แถลงข่าว “ครั้งแรกของโลก…นักวิทย์ไทยเพาะปะการังชนิดโต๊ะแบบพุ่มด้วยสเปิร์มแช่เยือกแข็ง” โดยมีนายพลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะวิทย์จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีภารกิจหลักในการดำเนินการวิจัย การเรียนการสอน การผลิตบัณฑิต 

 

 

 

สำเร็จครั้งแรกของโลกวิทย์จุฬาฯเพาะปะการังพุ่มจากสเปิร์มแข็ง

 


          รวมถึงการสร้างสรรค์ผลผลิตที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และประเทศ ซึ่งโครงการการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศแบบผสมเทียมและการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็งของกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ไม่เพียงทำให้มีนักวิจัย งานวิจัยนานาชาติเท่านั้น แต่เป็นการสร้างแนวทางในการอนุรักษ์ปะการัง เพราะตอนนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากมนุษย์โดยปราศจากความรับผิดชอบ มีผลต่อการทำลายปะการัง

 

          เพิ่มอัตรารอดของปะการังโต๊ะแบบพุ่ม
          นายวรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการที่ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศในปี 2549 เพาะขยายพันธุ์ปะการังที่มาจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยนำไข่และสเปิร์มของปะการังประมาณ 8 ชนิด มาผสมในระบบเพาะฟัก (การผสมเทียม) กลุ่มการวิจัยได้เฝ้าติดตามผลการนำตัวอ่อนปะการังที่ผลิตได้จากการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีดังกล่าวในแต่ละปีมาศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการอนุบาลตัวอ่อนปะการังภายในระบบเลี้ยงก่อนที่จะนำกลับคืนถิ่นสู่ทะเล โดยมุ่งหวังให้ตัวอ่อนปะการังเหล่านั้นมีการเติบโตและมีอัตรารอดสูงสุด

 

 

 

 

สำเร็จครั้งแรกของโลกวิทย์จุฬาฯเพาะปะการังพุ่มจากสเปิร์มแข็ง

 


  

          “กลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการังมีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งจากการศึกษาทำวิจัยอย่างต่อเนื่องในปีที่แล้วกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการังได้ประสบความสำเร็จในการนำสเปิร์มของปะการังโต๊ะแบบพุ่ม Acropora humilis มาผ่านกรรมวิธีการแช่เยือกแข็งในไนโตรเจนเหลว และนำกลับมาผสมใหม่กับไข่ปะการัง ซึ่งเป็นการทำสำเร็จครั้งแรกของโลกของปะการังโต๊ะชนิดนี้ และมีการตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยระดับนานาชาติแล้ว ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวเป็นการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยชาวไต้หวันด้วย ความสำเร็จของการนำสเปิร์มของปะการังมาผ่านกรรมวิธีการแช่เยือกแข็งนั้นจะช่วยทำให้สามารถเก็บรักษาสเปิร์มได้นานขึ้น และสามารถนำมาผสมกับไข่ปะการังได้ใหม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลที่ต้องการและเหมาะสมต่อไป" นายวรณพ กล่าว

 

 

 

สำเร็จครั้งแรกของโลกวิทย์จุฬาฯเพาะปะการังพุ่มจากสเปิร์มแข็ง

 

 


          อีก30ปีปะการัง90%ทั่วโลกเสื่อมโทรม
          น.ส.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปะการังโดยทั่วไปมีการผสมพันธุ์แบบอาศัยเพศเพียงปีละครั้ง โดยที่ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และสเปริ์ม) ออกมาผสมกันในมวลน้ำ ซึ่งกลุ่มการวิจัยได้นำหลักการดังกล่าวมาใช้ในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ โดยเก็บเซลล์สืบพันธุ์ปะการังที่ถูกปล่อยออกมาตามธรรมชาติแล้วนำไปปฏิสนธิโดยการผสมเทียมเพื่อเพาะฟักในระบบเพาะฟักปะการัง โดยแต่ละปี จุฬาฯ สามารถผลิตปะการังได้ประมาณ 3,000-4,000 กิ่งต่อปี แต่ในปัจจุบันอุณหภูมิของโลกได้สูงขึ้น ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์และผสมกันตามธรรมชาติเองได้ และปะการังไม่สวยอย่างในอดีต อีกประมาณ 30 ปีข้างหน้าปะการัง 90% ทั่วโลกจะอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมจึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องช่วยฟื้นฟู

 

 

 

สำเร็จครั้งแรกของโลกวิทย์จุฬาฯเพาะปะการังพุ่มจากสเปิร์มแข็ง

 

 


          อัตราปฏิสนธิปะการังสูงกว่า 98% รอด 50%
          “การนำเทคนิคใหม่มาใช้โดยการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็งนั้น เป็นการเก็บรักษาเซลล์ภายใต้อุณหภูมิที่เย็นจัด เช่น -196 องศาเซลเซียส เพื่อให้สามารถเก็บเซลล์ได้เป็นระยะเวลานาน จะทำให้สามารถผสมพันธุ์ปะการังได้ปีละหลายครั้งเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการป้องกันการสูญพันธุ์ของปะการังอีกด้วย ดังนั้น การผสมเทียมรวมทั้งการนำเทคนิคการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็งมาใช้จะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยปกติอัตรารอดของปะการังที่มาจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศตามธรรมชาติมีค่าประมาณ 0.01% หรือต่ำกว่า ขณะที่ในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศด้วยวิธีการผสมเทียมดังกล่าวมีอัตราการปฏิสนธิของปะการังสูงกว่า 98% และมีอัตรารอดขณะทำการอนุบาลในระบบเลี้ยงจนมีอายุประมาณ 2 ปี ที่ 40–50% ซึ่งมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ก่อนที่จะนำสู่ลงทะเลต่อไป” น.ส.สุชนา กล่าว
  

 

 

สำเร็จครั้งแรกของโลกวิทย์จุฬาฯเพาะปะการังพุ่มจากสเปิร์มแข็ง

 

 

          อย่างไรก็ตามโครงการการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศแบบผสมเทียมและการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็งของกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการังได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบันโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่สำคัญโครงการประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของนิสิตและผู้ช่วยวิจัยทุกคนจากกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ทั้งที่สำเร็จการศึกษาแล้วรวมถึงผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาทุกระดับ ทั้งปริญญาตรี โท และเอก ร่วม 50 ชีวิต และปัจจุบันกลุ่มการวิจัยได้ให้ความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการนำวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการฟื้นฟูแนวปะการังในประเทศไทย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ