Lifestyle

โครงการไซไฟฝึกงานระยะยาวดันแรงงานระดับกลางป้อนอุตสาหกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ปาริชาติ บุญเอก [email protected]


 

 

          จากความเปลี่ยนแปลงทั้งการแข่งขันในด้านการจัดการการผลิต คุณภาพของสินค้า ราคา รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมนำมาสู่ความร่วมมือระหว่าง สวทน. จุฬาฯ และสวทช. ก่อตั้งโครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (ไซไฟ) สำหรับนิสิต ป.โท ฝึกงานระยะยาว 2 ปี เพื่อพัฒนากำลังคนสอดรับกับความเปลี่ยนแปลง

 

 

          “โครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม” (Science for Industry: Sci-Fi) ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เน้นการสร้างบุคลากรระดับกลางในอุตสาหกรรม (Middle Manager) ที่มีความสามารถตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ ทั้งด้านการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ เชิงเทคนิค และการบริหารจัดการ โดยนำร่องคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นที่แรก

 

โครงการไซไฟฝึกงานระยะยาวดันแรงงานระดับกลางป้อนอุตสาหกรรม

 

 


          ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม” (Science for Industry: Sci-Fi) ณ สวทน. ว่าเป้าหมายหลักของจุฬาฯ คือการสร้างคน ตอนนี้ต้องยอมรับว่าคนเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันภาคเอกชนมีปัญหาเรื่องกำลังคนโดยเฉพาะระดับกลางขึ้นไป บริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนยังติดปัญหาที่กำลังคนศักยภาพไม่พอ ดังนั้น โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนที่มีความสามารถได้รับการบ่มเพาะและมีโอกาสที่ดี การร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือการดึงความสามารถออกมา แต่ประเทศชาติจะพัฒนาได้ มีแค่ความสามารถไม่พอ เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้คนเหล่านั้น “หิว” อยากทำงานดีขึ้น ถ้าความสามารถบวกความหิวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี




          “ภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงถ้าเรายังขับเคลื่อนเหมือนเดิม เราจะหล่นลงไปในสถานะที่ลำบาก สิ่งสำคัญคือต้องตอบโจทย์ ต้องเปลี่ยนแปลงเร็ว ผลิตเร็ว สร้างสิ่งดีๆ เร็วทันเหตุการณ์ และ ต้องสร้างผลกระทบ ความร่วมมือกับภาคเอกชนในวันนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
ป.โทฝึกงาน 2 ปีได้ค่าตอบแทน

 

 

โครงการไซไฟฝึกงานระยะยาวดันแรงงานระดับกลางป้อนอุตสาหกรรม

 


          ทั้งนี้ “โครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม” จะรับนิสิตระดับปริญญาโทหลักสูตรวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry) หรือ Sci-Fi จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อฝึกงานจริงในสถานประกอบการที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเวลา 2 ปี ในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร ผู้ช่วยหัวหน้างาน หรือผู้ช่วยหัวหน้าแผนก โดยมีอาจารย์ให้คำปรึกษาร่วมพัฒนา ปรับปรุง ทดสอบ และร่วมวิจัยในหัวข้อที่สถานประกอบการสนใจ ซึ่งจะถือเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท โดยสถานประกอบการสนับสนุนทุนราว 500,000 บาท/คน/ปี และทาง สวทช. ได้ร่วมสนับสนุน 50% วงเงินไม่เกิน 4 แสนบาท/คน ผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) นิสิตจะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท 

 

 

โครงการไซไฟฝึกงานระยะยาวดันแรงงานระดับกลางป้อนอุตสาหกรรม

 


          โดยจำนวนการรับนิสิตเข้าฝึกงานขึ้นอยู่กับขนาดและโจทย์ของสถานประกอบการ โดยรับอย่างน้อยสถานประกอบการละ 1 รุ่น รุ่นละ 2 ปี และมีการประเมินผลร่วมกันทุกปี ทั้งนี้เมื่อจบโครงการ สถานประกอบการมีสิทธิพิจารณายื่นข้อเสนอให้นิสิตเข้าทำงานต่อในสถานประกอบการเดิมได้และนิสิตสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าทำงานต่อหรือทำงานที่อื่น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการระยะแรก (เริ่มโครงการเดือนสิงหาคม 2562) 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน), บริษัท อาหารเสริม จำกัด ในเครือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท สิทธินันท์ จำกัด, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท โรงงานกระดาษเทนมา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แฟคเกอร์ จำกัด โดยมีนิสิต Sci-Fi จำนวน 12 คน ทั้งนี้ทางโครงการจะเปิดรับบริษัทที่สนใจร่วมโครงการรุ่นที่ 2 ในเดือนสิงหาคมนี้ 


          สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการ ดร.ณรงค์ ศิริเลิสวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทางโครงการได้คัดเลือกผู้ประกอบการพร้อมวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้น เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกรายบริษัท รวมถึงประเมินผลโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการรูปแบบดังกล่าวจะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยมากกว่าการนำเพียงโจทย์วิจัยจากสถานประกอบการมาทำวิจัยในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และยังสามารถเปลี่ยนความคิดของผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จาก “เรียนจบตรีแต่ไม่รู้จะทำอะไร” มาเป็น “เรียนต่อโทและทำงานในอุตสาหกรรม” ได้อีกด้วย

 

 

โครงการไซไฟฝึกงานระยะยาวดันแรงงานระดับกลางป้อนอุตสาหกรรม

 

 


          ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงศ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า จากการศึกษาดีมานด์และอุตสาหกรรมในอนาคต เราพบว่ามีหลายอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มพัฒนาได้ อาทิ ด้านการแพทย์ (Medical), เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology), อาหารฟังก์ชัน (Functional Foods), โลจิสติกส์ และ AI นอกจากนี้ยังพบว่ามีกำลังคนด้านทักษะใหม่เกิดขึ้น แต่กระบวนการสร้างคนเหล่านี้ให้มีคุณภาพ และออกมาให้ทันความต้องการยังไม่มี ตลาดต้องการคนที่มีทักษะใหม่ๆ กว่า 1 แสนคน ถามว่าจะเดินหน้าต่อกันอย่างไร ถือเป็นความท้าทาย ดังนั้นการร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนในระดับกลางอันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรม


          บัณฑิตยุคใหม่ต้องรู้หลายศาสตร์
          ดร.ชินนทัต สินประเสริฐโชค ผู้ช่วยผู้จัดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท อาหารเสริม จำกัด ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการ กล่าวว่า โดยปกติงานของบริษัทค่อนข้างมีความจำเพาะ บัณฑิตที่จบวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์โดยทั่วไปมาทำงานจะมีปัญหาคือเขาไม่สามารถทำตามลักษณะงานได้ครบตามที่เราต้องการ ทางบริษัทมีงานวิจัยที่ต้องนำมาทำในส่วนของเชิงพาณิชย์ แต่เด็กส่วนใหญ่ที่รับมาสายวิทยาศาสตร์จะได้แค่งานวิจัย ส่วนเรื่องการขาย การตลาด เป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับเด็กใหม่ ทั้งนี้ บุคลากรที่ทางบริษัทกำลังต้องการ คือสายวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงต้องมีความรู้ทางด้านการวางแผนการตลาด กลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการ ตอนนี้ทักษะเพียงด้านเดียวไม่เพียงพอต้องมีการเรียนรู้หลายศาสตร์ไปพร้อมกัน ซึ่งระยะเวลาในการบ่มเพาะบุคลากรให้เก่งต้องใช้เวลา 1-2 ปี กว่าเขาจะสามารถเห็นภาพตลาดเชิงพาณิชย์ได้

 

 

โครงการไซไฟฝึกงานระยะยาวดันแรงงานระดับกลางป้อนอุตสาหกรรม

 


          “เมื่อมีโครงการ Sci-Fi ซึ่งมีอาจารย์คอยให้คำปรึกษา รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย คาดว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพเด็กให้ทำงานได้อย่างครบวงจรและตอบโจทย์บริษัทได้ โดยตั้งเป้ารับปีละ 2 คน เริ่มฝึกงานในช่วงสิงหาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ ในเครือไทยเบฟ เข้าร่วมโครงการอีกเร็วๆ นี้” ดร.ชินนทัต กล่าว
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ