Lifestyle

"หมอพื้นบ้าน"ใช้กัญชานอก16ตำรับต้องพิสูจน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -พวงชมพู ประเสริฐ [email protected]

 

 


          จากการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) บุกเข้าจับกุมกัญชาภายในมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งมีนายเดชา ศิริภัทร เป็นประธาน กระทั่งมีการออกมาหาทางออก โดยการแนะนำให้ “เดชา” ยื่นขอรับรองเป็นหมอพื้นบ้านเพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันกัญชาให้คนไข้ต่อไปได้

 

 

          กรณีของนายเดชา ดูเหมือนเส้นทางจะไม่ติดขัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สุพรรณบุรี ให้การรับรองเป็น “หมอพื้นบ้าน” เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ 8 ข้อ ได้แก่ 1.มีผู้มารับบริการสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี 2.สืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษหรือองค์ความรู้จากท้องถิ่น 3.มีความสามารถในการบำบัดรักษาโรค 4.ไม่หวงวิชา 5.มีการถ่ายทอดความรู้ 6.ไม่เรียกร้องค่ารักษามากเกินควร 7.เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากคนในขุมชน และ 8.มีคุณธรรม มีเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูลชุมชน


          เมื่อผ่านด่านหมอพื้นบ้านเส้นทางของนายเดชา ก็จะมีอีก 11 องค์กรพร้อมอุ้มช่วยในการเดินเข้าสู่โครงการวิจัยเพื่อให้สามารถผลิตและแจกน้ำมันกัญชาให้คนไข้ที่เดิมมีอยู่ราว 5,000 คนต่อไปได้ เพียงแต่จะเป็นการทำแบบมีระบบและอยู่ในกรอบของกฎหมาย โดย “น้ำมันกัญชา” ของนายเดชา จะถูกจัดเป็นยาจากกัญชาที่ยังไม่มีการรับรองว่าได้ผล จึงต้องมีการวิจัยก่อน เพื่อให้ทราบผลของการรักษาที่เป็นวิทยาศาสตร์และมีหลักฐานชัดเจน

 

 

"หมอพื้นบ้าน"ใช้กัญชานอก16ตำรับต้องพิสูจน์

 

 


          สำหรับหมอพื้นบ้านคนอื่นๆ หากจะใช้ตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมนั้น ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ การแพทย์แผนไทย ที่จะสามารถปรุง หรือสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ พ.ศ.2562 ระบุว่า

 



          1.ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย 2.ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่จากกระทรวงสาธารณสุข หรือหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขหรือสภาวิชาชีพ การแพทย์แผนไทย ให้การรับรอง และในการปรุง หรือสั่งจ่ายต้องดำเนินการภายใต้สถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
    

          3.หมอพื้นบ้านที่จะสามารถปรุงหรือสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่จากกระทรวงสาธารณสุข หรือหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขหรือสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้การรับรอง


          4.แนวทางการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน มีดังนี้ วัตถุดิบกัญชาต้องอยู่ในรูปแบบที่ไม่สามารถแยกเป็นช่อดอก ใบ เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ โดยอาจใช้เครื่องยาผสมกัญชากลางที่ต้องนำมาผสมกับตัวยาอื่นในตำรับในการปรุงยาให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะราย
ทั้งนี้เครื่องยาผสมกัญชากลาง หมายถึงเครื่องยาที่ได้จากการนำกัญชามาผสมกับตัวยาอื่นอีก 1-2 ชนิด เช่น พริกไทย ซึ่งเป็นตัวยาที่ใช้มากในตำรับยาเข้ากัญชาเพื่อป้องกันนำไปเสพ เพื่อนันทนาการ และกรณีหมอพื้นบ้านต้องมีการระบุองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก


          และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ.2562 ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพทย์แผนไทย ระบุว่าต้องเป็นตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ในตำราการแพทย์แผนไทย โดยคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและสภาการแพทย์แผนไทย ซึ่งปัจจุบันมี 16 ตำรับ และตำรับยาที่หมอพื้นบ้านปรุงขึ้นจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทย

 

 

 

"หมอพื้นบ้าน"ใช้กัญชานอก16ตำรับต้องพิสูจน์

 


          นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายว่า เนื่องจากปัจจุบันกัญชายังจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามกฎหมายหมอพื้นบ้านที่จะใช้ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมในการรักษาคนไข้จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะต้องเป็นหมอพื้นบ้านที่ผ่านการรับรองจากกรม โดยต่างจังหวัดสามารถยื่นรับการพิจารณาได้ที่ สสจ.ในพื้นที่ จากนั้นจะต้องผ่านการเข้ารับอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งจะอบรมรุ่นแรกให้แก่วิทยากรครู ก ที่เป็นเภสัชกร แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านตัวแทนจากเขตสุขภาพ 13 แห่ง และจากเขตสุขภาพที่มีศูนย์ฝึกอบรมด้านการแพทย์แผนไทยรวม 150 คน ในวันที่ 29-30 เมษษยน 2562 เพื่อให้เป็นวิทยากรในการอบรมต่อในแต่ละพื้นที่

 

          และหากอย.อนุญาตให้เป็นหมอพื้นบ้านที่สามารถสั่งจ่ายยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมแล้ว จะสามารถสั่งจ่ายยาแผนไทยได้ใน 16 ตำรับที่กฎหมายอนุญาต เนื่องจากทั้ง 16 ตำรับถือเป็นตำรับยาแผนไทยที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นภูมิปัญญาของชาติและแพทย์แผนไทยให้การยอมรับว่ามีการใช้อยู่ทั่วไป อย่างไรก็ตาม กฎหมายเปิดช่องในกรณีที่จะสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาแต่ไม่ใช่ 16 ตำรับ จะต้องนำเสนอตำรับให้คณะกรรมการที่กรมการแพทย์แผนไทยตั้งขึ้นพิจารณาให้อนุญาตใช้เป็นรายตำรับ

 

          “ในการพิจารณาให้ใช้ตำรับยานอกเหนือจาก 16 ตำรับ หมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทยจะต้องนำเสนอตำรับให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน ซึ่งจะดูว่าตำรับนั้นมีความปลอดภัยกับคนไข้หรือไม่ ตำรับยามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร หลักเกณฑ์ของตำรับยานั้นเข้ากับหลักของการแพทย์แผนไทยอย่างไร หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าตำรับยานั้นใช้ได้ก็จะอนุญาตให้หมอพื้นบ้านใช้ต่อไป กรณีที่ต้องการให้ตำรับยาเป็นประโยชน์หรือสมบัติสาธารณะก็สามารถเข้าสู่กระบวนการวิจัยเพื่อให้มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์สนับสนุนต่อไปได้ ทั้งหมดเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นคนไข้” นพ.ปราโมทย์ กล่าว


          นพ.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับตำรับยาแพทย์แผนไทยที่จะมีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์สังเคราะห์ได้ 96 ตัว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม ก มี 16 ตัว ที่เป็นสูตรดั้งเดิม วิธีการปรุงชัดเจน ประสิทธิผลชัดเจน ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษากลุ่มอาการ ปวด นอนไม่หลับ แก้ชัก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีการออกเป็นประกาศ สธ.อนุญาตแล้ว 2.กลุ่ม ข สูตรดั้งเดิม แต่วิธีการปรุงยายังไม่ชัด ต้องศึกษาเพิ่มเติม 3.กลุ่ม ค ต้องศึกษาวิจัย และ 4.กลุ่ม ง กลุ่มที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายอื่นๆ เช่น ไซเตส เพราะมีการห้ามใช้สมุนไพรบางตัว ซึ่งกลุ่ม 2-4 จะมีการพิจารณาต่อไป แต่หากแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้านมีการใช้ตำรับใดนอกจาก 16 ตำรับก็สามารถยื่นขอพิจารณารับอนุญาตเป็นรายตำรับได้ 

 

 

 

"หมอพื้นบ้าน"ใช้กัญชานอก16ตำรับต้องพิสูจน์

 

          มั่นใจ“เดชา”เป็น “หมอพื้นบ้าน”     

          นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า มั่นใจว่าผ่านเกณฑ์ 8 ข้อในการเป็นหมอพื้นบ้าน เพราะแม้จะเพิ่งมาทำน้ำมันกัญชาเมื่อราว 6 ปี แต่ก่อนหน้านี้มีการแจกจ่ายสมุนไพรรางจืดในการล้างพิษให้เกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลงมานานกว่า 20 ปี สำหรับกัญชาเป็นการทำส่วนตัวไม่เกี่ยวกับมูลนิธิเพราะห่วงว่าจะเป็นมะเร็งเหมือนแม่ ก่อนที่จะให้คนอื่นใช้ประโยชน์ด้วยจึงให้พระแจก และเพิ่งมาเปิดเผยช่วงนี้เนื่องจากเข้าใจว่าอยู่ในช่วงนิรโทษ 90 วันแล้วจะไม่เป็นอะไร แต่จากการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้รับคำแนะนำว่าหากจะต้องการให้คนไข้ได้ยาต่อเนื่องจะต้องเข้าระบบ
   

          โดยขั้นแรกจะต้องเป็นหมอพื้นบ้านก่อน จากนั้นการจะแจกได้อย่างถูกกฎหมายต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐในการทำวิจัย โดยให้คนไข้เป็นผู้เขาร่วมวิจัย เนื่องจากน้ำมันกัญชาที่ใช้ยังไม่ได้รับการรับรองและพิสูจน์ว่าเป็นยาที่ใช้ได้ผลจริง จึงต้องเข้าโครงการวิจัย ซึ่งในวันที่ 18 เมษายนนี้ จะหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในการวิจัยแบบปฏิบัติการตรง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคนไข้


          “ก่อนหน้านี้เราทำผิดกฎมาย แต่เราเชื่อว่ากฎหมายเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ประชาชนเข้าใจและคนส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์ จึงจะสามารถช่วยกันผลักดันให้กฎหมายเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขให้กฎหมายปรับเป็นประโยชน์กับคนทั่วไปมากที่สุด ไม่ใช่เป็นอุปสรรคแต่ควรจะต้องส่งเสริม ซึ่งส่วนตัวจากที่การแจกน้ำมันกัญชาผู้ป่วยราว 5,000 คน ผลอย่างไม่เป็นทางการจากที่สังเกตเห็น คือไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้เพราะเป็นการใช้ในปริมาณต่ำเพียง 3% โดยโรคที่เห็นผลคือ ตา ไมเกรน และพาร์กินสัน” นายเดชา กล่าว


          นายเดชา กล่าวอีกว่า ตอนนี้จะต้องยุติกระบวนการทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนในกรอบกฎหมายและขั้นตอนของการวิจัยจึงจะกลับมาแจกน้ำมันกัญชาให้คนไข้อีกครั้งได้ ส่วนจะเมื่อไหร่อยู่ที่ขั้นตอนของการวิจัย โดยคาดว่าจะประสานขอกัญชาของกลางจากป.ป.ส.มาใช้เป็นวัตถุดิบ เมื่อผลิตเสร็จก็จะต้องส่งตรวจหาการปนเปื้อนของสารอื่นเพื่อความปลอดภัยของคนไข้มากขึ้นตามกรอบการวิจัยด้วย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ