Lifestyle

ราษฎร์บำรุงธรรมลดเด็กหลุดนอกระบบ-ดูแลคุณภาพชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร   [email protected]

 


          “ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาส ยิ่งเด็กยากจนในโรงเรียนของครู เรียกได้ว่าโอกาสของพวกเขามีน้อยมาก เพราะต่อให้การศึกษาจะเป็นหนทางที่ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ แต่ระหว่างทางกว่าจะเรียนจบมหาวิทยาลัย มีงานทำ พวกเขากลับไม่มีแม้เงินสักบาท ต้องออกจากโรงเรียนสู่โลกการทำงานช่วยเหลือครอบครัว เลี้ยงดูปากท้อง” ศิวรัตน์ พายุหะ ผู้อำนวยการโรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จ.กาญจนบุรี สะท้อนถึงโอกาสของเด็กยากจนในโรงเรียน

 

 

          “โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จ.กาญจนบุรี” เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 265 คน และในกลุ่มดังกล่าวเป็นนักเรียนยากจน 117 คน มีครูผู้สอน 20 คน ซึ่งโรงเรียนพยายามพัฒนาและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนมาตลอด
ศิวรัตน์ พายุหะ ผู้อำนวยการโรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จ.กาญจนบุรี  กล่าวว่า โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนที่มีเด็กยากจนค่อนข้างมาก เนื่องด้วยพ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานเกษตรกร หรือรับจ้างทั่วไป ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ภาวะหน้าแล้ง ทำให้ปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ยากลำบาก ขณะเดียวกันเมื่อพ่อแม่ไปรับจ้างได้เงินเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น สภาพบ้านหลายครอบครัวไม่มีแม้แต่ที่นอน

 

 

ราษฎร์บำรุงธรรมลดเด็กหลุดนอกระบบ-ดูแลคุณภาพชีวิต

 

 


          ดังนั้นที่ผ่านมาโรงเรียนจึงไม่ได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาครู พัฒนาวิชาการ อันนำมาสู่การพัฒนาการศึกษา การเรียนการสอนที่มีคุณภาพแก่นักเรียนเท่านั้น ยังต้องหางบประมาณในการมาดูแลเด็กๆ ร่วมด้วย เพราะต้องยอมรับว่างบประมาณที่ได้จากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น ช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่เพียงพอ


          “ทางโรงเรียนได้สมัครเข้าร่วมขอรับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพราะต่อให้เป็นเงินจำนวนไม่มาก ช่วยเด็กยากจนพิเศษได้เพียง 15 คน ที่สภาพครอบครัวลำบากมากได้รับการอุดหนุนในปีนี้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กยากจนพิเศษมีคุณภาพชีวิต มีกำลังใจในการมาเรียนหนังสือ มีความกระตือรือร้นที่จะมาโรงเรียน เนื่องจากมีเงินจ่ายค่าอาหาร ซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนแล้วยังช่วยแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวเขาด้วย หลายคนนำเงินไปซื้อข้าวสารให้ครอบครัว” ศิวรัตน์ กล่าว

 

 

 

ราษฎร์บำรุงธรรมลดเด็กหลุดนอกระบบ-ดูแลคุณภาพชีวิต

 



          ศิวรัตน์ กล่าวอีกว่า เด็กยากจนและเด็กยากจนพิเศษหลายคนมีความรู้ความสามารถแต่พวกเขาขาดโอกาส เพราะในยุคนี้เงินเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ เมื่อเด็กอิ่มท้อง ครอบครัวมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เด็กก็พร้อมที่จะเรียนรู้ กองทุนกสศ.ได้ช่วยขยายโอกาสทางการศึกษา ต่อยอดให้เด็กกลุ่มนี้ไม่หลุดไปจากการศึกษา อยากให้กองทุนกสศ.เปิดโอกาสทางการศึกษาไปยังเด็กทุกกลุ่ม


          นอกจากเรื่องปากท้องของเด็กยากจนและเด็กยากจนพิเศษในโรงเรียนแล้ว โรงเรียนยังได้สมัครเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กสศ. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ได้เน้นให้ครูเรียนรู้ร่วมกันใช้ Lesson Study มีการจับคู่ครูเป็น Model Teacher และ Buddy Teacher และร่วมกันสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ Professional Learning Community (PLC) เปิดโอกาสให้ครูได้มองเห็นการสอนและการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

ราษฎร์บำรุงธรรมลดเด็กหลุดนอกระบบ-ดูแลคุณภาพชีวิต

 


          “โรงเรียนจะมีการจัดการเรียนการสอนโดยแบ่งกลุ่มนักเรียนแบบคละความสามารถ จะมีทั้งเด็กเก่ง ปานกลาง และอ่อน เพื่อให้เด็กได้รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเน้นให้เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง ครูทำหน้าที่ให้คำแนะนำ กระบวนการ ให้ความสำคัญกับความพยายามในการปรับปรุงพัฒนาตนเองของนักเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกรอบความคิดของเด็กหรือ Growth Mindset พร้อมทั้งมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทั้งความรู้ทางวิชาการ ทักษะศตวรรษที่ 21 และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน เพราะเด็กจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีองค์ความรู้ที่ดีด้วย” ศิวรัตน์ กล่าว


          ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนที่สุด 10% แรกของประเทศ มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน (เทียบกับรายได้) ในสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนในชั้นรายได้อื่น ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าเครื่องแบบ ค่าสมุด/หนังสือ/อุปกรณ์การเรียนอื่น และค่าเดินทางไปเรียน ซึ่งโดยเฉลี่ยครัวเรือนทั่วไปที่ส่งบุตรหลาน 1 คน เข้าเรียนยังโรงเรียนรัฐในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีค่าใช้จ่ายตกคนละ 5,000–12,000 บาทต่อคนต่อปี หากประเมินครัวเรือนที่มีฐานะยากจนที่สุดมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานคิดเป็นร้อยละ 23-52 ของรายได้ ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนในชั้นรายได้อื่นๆ สะท้อนให้เห็นภาระค่าใช้จ่ายที่ครัวเรือนยากจนต้องแบกรับจึงเป็นสาเหตุให้ทุกๆ ปี มีเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาในที่สุด 

 

 

ราษฎร์บำรุงธรรมลดเด็กหลุดนอกระบบ-ดูแลคุณภาพชีวิต

 


          ไกรยส ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กเยาวชนอายุ 3-18 ปีที่อยู่นอกระบบการศึกษาประมาณ 670,000 คน ดังนั้นการอุดหนุนทางการเงินแบบมีเงื่อนไขของกสศ. ซึ่งมี นพ.สุภกร บัวสาย เป็นผู้จัดการกองทุนนั้น มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียนกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันมิให้หลุดออกจากระบบการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะยาว


         โดยในปีการศึกษา 2561 ได้ช่วยให้โรงเรียนสังกัด สพฐ. ได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้น จากหลักเกณฑ์เดิมจำนวน 21,983 โรง คิดเป็น 74.37% และมีโรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีนักเรียนยากจนที่ได้รับจัดสรรช่วยเหลือเต็ม 100% จำนวน 388 โรงเรียน จากเดิมที่โรงเรียนเหล่านี้จะได้รับการจัดสรรจะได้เพียง 30-40% ของจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน และล่าสุดได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในสถานศึกษาสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาใน 10 จังหวัดนำร่อง เพื่อขยายโอกาสให้แก่เด็กยากจนมากที่สุด 

 

 

ราษฎร์บำรุงธรรมลดเด็กหลุดนอกระบบ-ดูแลคุณภาพชีวิต

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ