Lifestyle

เตือนภัย"หน้าร้อน"ท้องเสีย-เสี่ยงอันตราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

          ช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี อาหารจะบูดเสียได้ง่าย มีโอกาสที่เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง หรือเกิดภัยต่อสุขภาพจากพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้นในยามที่อากาศร้อน ทั้งเสี่ยงอ้วน เบาหวาน ไฟไหม้ เด็กจมน้ำ ควรที่จะนำหลักสุขบัญญัติมาปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น 

 

 

          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–1 เมษายน 2562 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 27,977 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี รองลงมาอายุ 25-34 ปี และมากกว่า 65 ปี ส่วนโรคอุจจาระร่วงพบผู้ป่วย 266,242 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือมากกว่า 65 ปี รองลงมาอายุ 15-24 ปี และ 25-34 ปี ซึ่งทั้ง 2 โรคพบกระจายทั่วทุกภูมิภาค โดยส่วนใหญ่กระจายอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
  

          การดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยการรักษาอาการขาดน้ำและเกลือแร่ ด้วยการดื่มสารละลายเกลือแร่ โออาร์เอส และรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตามหากอาการไม่ดีขึ้นยังถ่ายบ่อย อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้ไปพบแพทย์ทันที


          “ประชาชนควรเลือกร้านที่แน่ใจว่าสะอาดหรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย เลือกรับประทานน้ำดื่ม หรือน้ำแข็งที่มีคุณภาพ ขอให้ยึดหลักสุก ร้อน สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว เช่น ข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง และขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว 


  
          ขณะที่ นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ช่วงอากาศร้อนพฤติกรรมเสี่ยงเกิดโรคและภัยต่อสุขภาพ คือ 1.เสี่ยงต่อภาวะอ้วนและโรคเบาหวาน ถ้ามีพฤติกรรมในการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมหวาน และผลไม้รสหวานจัดเป็นประจำ 2.เสี่ยงไฟไหม้ จากการเปิดพัดลมทิ้งไว้นานๆ ลืมปิดก่อนออกจากบ้าน อากาศที่แห้งและร้อนในช่วงนี้ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย 3.เสี่ยงเด็กจมน้ำจากการแอบไปเล่นน้ำตามลำพัง 4.เสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารปรุงไม่สุก อาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่สะอาด และ 5.เสี่ยงมีปัญหากระทบกระทั่งจากการใช้อารมณ์ เนื่องจากอากาศร้อนส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเครียด มีปัญหาส่วนตัวอยู่แล้ว อาจเพิ่มความเครียดให้สูงขึ้น ทำให้อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ใจร้อน และขาดสติ
  

          นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา สบส. กล่าวว่า ประชาชนควรนำหลักสุขบัญญัติมาปฏิบัติ ดังนี้ 1. ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน น้ำอัดลม อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว โดยดื่มหรือจิบเป็นระยะตลอดวัน ช่วยทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกายช่วงอากาศร้อน ลดเสี่ยงโรคฮีตสโตรก ทำให้ระบบเลือดไหลเวียนดี ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ 2.ระมัดระวังอุบัติภัยจากไฟไหม้ ด้วยการตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่ชำรุด โดยเฉพาะพัดลม
  3.ระมัดระวังเด็กจมน้ำ ดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดในช่วงปิดเทอม โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ให้เทน้ำในภาชนะที่มีน้ำขังออก กั้นบริเวณให้เด็กเล่นในที่ปลอดภัย ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ ส่วนบ้านที่มีเด็กอายุมากกว่า 5 ขวบ ให้เฝ้าระวังการชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพัง ฝึกให้เด็กหัดว่ายน้ำ ลอยตัว ย้ำเตือนเรื่องการพบเห็นคนตกน้ำห้ามลงไปช่วยเอง ให้ใช้การตะโกน โยน ยื่น
  

          4.เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงใหม่ๆ เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก และไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ และ 5.ฝึกฝนการใช้สติควบคุมอารมณ์ จะช่วยยับยั้งปัญหาการกระทบกระทั่งที่อาจลุกลามรุนแรงได้ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหาเวลาออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ช่วยให้มีความสุข แก่ช้าลงอีกด้วย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ