Lifestyle

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพิ่มอนาคตเด็กยากจน-เรียนดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมคุณภาพชีวิต


  

          เด็กเยาวชนยากจนที่สุดของประเทศมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเพียง 5% เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ครัวเรือน นักเรียนอายุ 15 ปีในชนบทมีความรู้ความสามารถล้าหลังกว่านักเรียนในเมืองใหญ่เกือบ 2 ปีการศึกษา

 

 

          โจทย์สำคัญของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คือทำอย่างไรที่จะเพิ่มคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งไปที่เด็กและเยาวชนจากครอบครัวรายได้ต่ำสุด 20% แรกของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมไทย ให้มีโอกาสศึกษาต่อเต็มศักยภาพ กสศ. จึงมีโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสนับสนุนให้เยาวชนชั้นม.3/ม.6/ปวช.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส แต่มีศักยภาพ ปีละประมาณ 2,500 คนในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

 

 

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพิ่มอนาคตเด็กยากจน-เรียนดี

 

 

          โดยในช่วงเดือนมีนาคมนี้ สถาบันการศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” กว่า 37 แห่ง จะเร่งลงพื้นที่เพื่อค้นหาเยาวชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ เพื่อให้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายประจำเดือนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัดโดยไม่มีข้อผูกมัดที่ผู้รับทุนจะต้องชดใช้ทุนในอนาคต หากเรียนจนจบการศึกษา

 


          ไม่ผูกมัดเรียนจบไม่ใช้ทุน
          สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มดำเนินการปีนี้เป็นครั้งแรก โดยสนับสนุนทุน 2 ระดับ คือ ทุน 5 ปี ปวช.ต่อเนื่องปวส. หรืออนุปริญญา สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นม.3 หรือเทียบเท่า และทุน 2 ปี ปวส. อนุปริญญา สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นม.6/ปวช.3 หรือเทียบเท่า ในสาขาเป้าหมายของประเทศ สาขาขาดแคลน สาขา STEM และเทคโนโลยี ดิจิทัล

 

 

 

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพิ่มอนาคตเด็กยากจน-เรียนดี

 



          ทุกสถาบันการศึกษาที่ร่วมโครงการจะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการโดยตรงทั้งในและต่างประเทศ

 

          สำหรับคุณสมบัติของผู้ได้รับทุนจะต้องเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาระดับชั้น ม.3/ม.6 หรือเทียบเท่า/ปวช.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
   

          โดยจะมีกระบวนการตรวจสอบความยากจนเพิ่มเติมและเป็นนักเรียนที่มีศักยภาพในการเรียนต่อ โดยพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยสะสม หรือมีความสามารถพิเศษ มีศักยภาพโดดเด่นด้านทักษะฝีมือ นวัตกรรม เป็นนักประดิษฐ์ และมีประสบการณ์ในกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวมที่พิสูจน์ได้ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายประจำเดือนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัด โดยไม่มีข้อผูกมัดที่ผู้รับทุนจะต้องชดใช้ทุนในอนาคตหากเรียนจนจบการศึกษา

 

 

 

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพิ่มอนาคตเด็กยากจน-เรียนดี

 


          “พงษ์พัฒน์ จันทร์เหลา”  หรือ พงษ์ อายุ 18 ปีนักเรียนโรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม หนึ่งในเยาวชนผู้ขาดโอกาส ทั้งพ่อและแม่ของพงษ์เจ็บป่วยเรื้อรังทั้งคู่ แต่ยังจำเป็นต้องออกรับจ้างก่อสร้างจากบ้านไปครั้งละ 4-5 เดือนเพื่อไปทำงาน ขณะที่พงษ์อาศัยอยู่กับพี่ชายที่ป่วยโรคปอดติดเชื้อขั้นรุนแรงตามลำพัง 
  

          เมื่อครั้งอยู่ชั้น ม.5 พงษ์เคยขาดเรียนไปกว่า 3 สัปดาห์ด้วยวิตกกังวลจนเกิดภาวะเครียดสะสมเคยคิดว่าจะไม่เรียนแล้ว ต้องลาออกไปทำงาน แต่กลัวผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อว่าอย่างน้อยจะเรียนให้จบม.6  กระทั่ง ครูอุทัย ลิมชลา ครูวิชาพลศึกษา โรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม มาเยี่ยมพงษ์ที่บ้าน ชักชวนและให้กำลังใจจนกลับมาเรียนหนังสือ เขาตอบแทนด้วยการช่วยงานของโรงเรียนทุกอย่างจนสุดความสามารถ


          ในปีนี้เมื่อพงษ์จบการศึกษาชั้นม.6 เพื่อนๆ ต่างสมัครเรียนต่อแต่เขาคิดว่าไม่ได้เรียนอีกแล้ว จนกระทั่งเมื่อครูแนะแนวเข้ามาให้คำแนะนำถึงโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ของกสศ. เขาจึงสมัครทุนนี้เพื่อศึกษาต่อด้านเทคโนโลยีการเกษตรและการแปรรูปที่วิทยาลัยชุมชนตราด     
   

          “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ไม่ใช่แค่อนาคตของผม แต่เป็นอนาคตของพ่อแม่ผมด้วย เพื่อผมจะได้ทำงานมีเงินดูแลท่าน ผมสมัครทุนนี้อยากเรียนด้านการเกษตรเพราะจะได้เอาความรู้ไปพัฒนาชุมชน บ้านเกิดผมมีการเกษตรมากมาย ก็อยากจะเอาความรู้ตรงนี้เข้าไปพัฒนา ถ้าไม่พอก็จะไปเรียนเสริมเพิ่มเติมอีกครับ ถ้าประสบความสำเร็จก็จะได้พัฒนาบ้านเกิด ผมรักที่นี่ ผมอยากอยู่ในชุมชนนี้ต่อไป” พงษ์ กล่าว 
   

 

 

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพิ่มอนาคตเด็กยากจน-เรียนดี

 

 

          สุนันทา สุขเกษม ครูแนะแนวโรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม เล่าว่า เขานึกลูกศิษย์ทันทีที่เห็นข้อมูลของ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” จากเฟซบุ๊กว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พงษ์ได้เรียนต่อ เพราะก่อนหน้านี้พงษ์มาปรึกษาว่าอยากเรียนต่อแต่ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากที่ไหน และเชื่อว่าเขาจะเรียนได้ดีมากเพราะเป็นคนที่มีความตั้งใจ
    

          กรรณิกา สุภาภา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตราด กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีคนขาดโอกาสทางการศึกษามาก ถ้าไม่มีทุนการศึกษาเด็กจะหลุดออกจากวงการศึกษาไป กรณีพงษ์พัฒน์ ถ้าไม่มีโอกาส เขาไม่มีเงิน ต้องออกจากโรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งในวันที่ 10 เมษายน คณะกรรมการพิจารณาทุนจะประชุมกันอีกครั้ง ซึ่งวิทยาลัยชุมชนตราดได้รับอนุมัติทุน 30 ทุนแต่มีนักศึกษาสมัครเพียง 10 คน ซึ่งทุกคนจะได้รับทุนคนละ 7,500 บาทเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ส่วนอีก 20 ทุนกองทุนกสศ.เห็นชอบร่วมกันว่าโอนให้วิทยาลัยชุมชนสตูล ซึ่งมีผู้สมัครขอทุน 48 คนแต่ได้รับอนุมัติ 30 ทุนเท่ากัน จะทำให้มีผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นหลังเรียนจบอนุปริญญาที่วิทยาลัยชุมชนสามารถเทียบโอนเรียนต่อไปที่ ม.บูรพา มทร.ตะวันออก หรือ มรภ.รำไพพรรณี เป็นต้น 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ