Lifestyle

แพทย์แนะ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... -ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -




          องค์การอนามัยโลก (ฮู) คาดการณ์ว่าภาระโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกในปี 2562–2573 ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 5-10% ต่อปี และเด็กป่วยถึง 20-30% ต่อปี ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคน เป็นไข้หวัดชนิดรุนแรง 3-5 ล้านคน เสียชีวิต 2.9–6.5 แสนคนต่อปี และคาดอาจมีผู้เสียชีวิตทะลุ 1 ล้านคนต่อปี โดยในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลกว่า 2.26 แสนคน และเสียชีวิต 36,000 คนต่อปี
    

 

 

          สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยปี 2560-2562 มีการระบาดของโรคหลักๆ ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ก่อนเข้าหน้าฝน จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ปีที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยปีละ 1-2 แสนราย โดยในปีนี้มีแนวโน้มมากกว่าปีก่อนๆ จากรายงานวันที่ 1 มกราคม-7 มีนาคม มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศแล้วกว่า 70,640 ราย เสียชีวิต 4 ราย 

 

 

 

แพทย์แนะ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 


          รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี  โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนา “Flu Voice: มหันตภัยไข้หวัดใหญ่ คร่าชีวิตได้ หากไม่ป้องกัน” จัดโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงจำนวนผู้ป่วยในภาพรวมพบว่าสูงกว่า 5 ปีย้อนหลัง และสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 2 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ถือเป็นมาตรการสำคัญที่สุดในการควบคุมโรค โดยวัคซีนประกอบด้วยสายพันธุ์ H1N1, H3N2 และ B แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเล็กน้อยทุกปี วัคซีนชนิดเดิมอาจไม่ครอบคลุมเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดทุกปี เพราะไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่าย รักษาได้เพราะมียาต้านไวรัส ป้องกันได้ แต่ก็เป็นโรคที่ทำให้ตายได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน”
      

          สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนเมื่อปี 2551 แต่ก็ยังไม่เพียงพอและประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ในปี 2561 ภาครัฐสนับสนุนวัคซีน 3.5 ล้านโดส และเพิ่มเป็น 4 ล้านโดสในปีนี้ ในจำนวนนี้ให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ 4 แสนโดส เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย และจะเพิ่มปริมาณเป็น 7 ล้านโดสในปีงบประมาณ 2563 คิดเป็นอัตราการฉีดวัคซีนทั่วประเทศราว 10% ของจำนวนประชากร (70 ล้านคน) 


   

 

 

แพทย์แนะ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

 

          ในขณะเดียวกันประเทศสหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนได้กว่า 60% ของจำนวนประชากร โดยสามารถเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตฉีดวัคซีนได้ เบิกประกันสังคมได้ และไม่ต้องมีคำสั่งแพทย์ ประเทศญี่ปุ่นฉีดได้กว่า 80-90% โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีน 100% ในขณะไทยแพทย์ยังกังวลในด้านความปลอดภัยอยู่
  

          ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา ปี 2562 มีรายงานว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันการป่วยที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์ได้ 38% โดยสายพันธุ์ H3N2 ป้องกันได้ 22% สายพันธุ์ H1N1 ป้องกันได้ 62% และสายพันธุ์ B ป้องกันได้ 50% นอกจากนี้จากการคำนวณทางระบาดวิทยาพบว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในชาวอเมริกันสามารถป้องกันผู้ป่วยได้กว่า 7.1 ล้านคน ป้องกันผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์ 3.7 ล้านคน ป้องกันผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล 1.09 แสนคน และป้องกันการเสียชีวิตได้กว่า 5,000 คน
    

 

 

แพทย์แนะ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

 

          ทั้งนี้ในผู้ป่วยโรคปอด หัวใจ เบาหวาน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้คนกลุ่มดังกล่าวมาฉีดวัคซีนมากขึ้นเนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหนักได้ง่ายหากเกิดติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ส่งผลให้อาการกำเริบถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้บุคคลใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการนำเชื้อมาแพร่อีกด้วย


          ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ ศิลาจำรูญ ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยที่ป่วยหนักๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้ฉีดวัคซีน ในปัจจุบัน คนไข้กลุ่มโรคปอดเรื้อรังเริ่มกลัวการกำเริบของโรคและยอมรับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ประเด็นสำคัญหนึ่งคือผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดไม่ว่าจะอายุมาก อายุน้อย มีโอกาสติดเชื้อจากคนในครอบครัว ที่ผ่านมาพบว่าเด็กนักเรียนในวัยประถมเป็นกลุ่มที่เอาเชื้อไข้หวัดมาสู่คนไข้ที่มีโรคประจำตัวในครอบครัวมากที่สุด ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มักติดมาจากลูกหลานค่อนข้างเยอะ ดังนั้นนอกจากกลุ่มเสี่ยงจะต้องฉีดวัคซีนสม่ำเสมอ คนใกล้ชิดต้องมีความสมัครใจในการฉีดวัคซีนด้วย
   

 

 

แพทย์แนะ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

 

          ผศ.นพ.สุรพันธ์ สิทธิสุข ผู้แทนสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วิธีการป้องกันคือ แนะนำให้คนไข้ฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดการตระหนักว่าวัคซีนช่วยลดอัตราการตาย อัตราการเข้าโรงพยาบาล อัตราการทุพพลภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็อาจจะมีประโยชน์เช่นกัน
 

          รวมถึงให้ความรู้ด้วยว่าการฉีดวัคซีนเมื่อฉีดไปแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นหวัด เพราะไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ หากไม่อธิบายเขาฉีดไปแล้วครั้งหนึ่งคิดว่าไม่เห็นป้องกันปีต่อไปเขาก็ไม่ฉีด ดังนั้นจึงต้องอุดจุดบอดต่างๆ ที่เกิดขึ้น การส่งสัญญาณไปให้ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
   

          นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ภาครัฐมองกลุ่มเสี่ยงที่เป็นแล้วถึงตายเป็นหลัก ดังนั้นเป้าต่อไปที่พยายามผลักดัน คือไทยกำลังเดินหน้าสู่การผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้เอง คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 4 ล้านโดสในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และ 8 ล้านโดสในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถ้าฉีดในเด็กโตสามารถป้องกันคนในบ้านได้ถึง 60% เพราะไม่พาเชื้อเข้าบ้าน อีกกลุ่มคือวัยแรงงาน ถึงจะไม่ป่วยถึงตายแต่ส่งผลเสียต่อการทำงาน ดังนั้นสองกลุ่มนี้คือแรงผลักดัน ต่อจากกลุ่ม 7 กลุ่มเสี่ยงในอนาคต
 

 

 

แพทย์แนะ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

 

          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า ข้อสังเกตการระบาดของไข้หวัดใหญ่แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ระบาดประจำปี ตามฤดูกาล และ ระบาดใหญ่ ซึ่งจะระบาดประมาณ 10-40 ปีต่อครั้ง แพร่กระจายไปทุกอายุ ทุกเพศ และแม้กระทั่งสัตว์ก็ติดเชื้อได้ การระบาดครั้งใหญ่ในไทยล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2551 ดังนั้นปัจจุบันผ่านมา 10 ปี มีโอกาสที่เชื้อไข้หวัดใหญ่จะกลายพันธุ์เกิดการระบาดครั้งใหญ่ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าได้
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ