Lifestyle

นโยบายการศึกษาเหล้าเก่าในขวดใหม่แนะถอดรหัสงบประมาณ-ทำได้จริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -



 

 

          “การศึกษา” ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคน ซึ่งทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเก่าใหม่ต่างนำเสนอนโยบายต่อยอดนโยบายการศึกษาจากที่พรรคเคยนำเสนอ หรือเคยเป็นรัฐบาลมาก่อน  แต่ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา-ระบบการสอบซึ่งเป็น “หัวใจหลัก” เกี่ยวกับการศึกษาในอนาคตกลับไม่มีการนำเสนอ รวมทั้งบางเรื่องอาจจะเกินจริง และทำได้ยาก

 

 

          กระจายเงินอุดหนุนรายหัวใหม่
          รศ.ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า พรรคการเมืองมีนโยบายการศึกษาใกล้เคียงกันตั้งแต่การให้เงินแม่ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์และเกิดมาก็ได้รับเงินสนับสนุน ซึ่ง 5 พรรคใหญ่นั้นปชป.เป็นพรรคแรกที่มีการเสนอนโยบายการศึกษา และชูประเด็นเกิดปั๊บรับแสน หลังจากนั้นพรรคอื่นๆ ก็ได้ออกนโยบายการศึกษาใกล้เคียงกัน นั่นคือทุกพรรคมีนโยบายเรียนฟรีให้แต่ละกลุ่ม เช่น พรรคปชป.ให้เรียนฟรี 15 ปีและเรียนฟรีเด็กปวส. ขณะที่พท.ให้เรียนฟรี 15 ปีแก่เด็กออกกลางคันที่ยากจน และเรียนฟรีต้องฟรีจริงซึ่งต้องไปถอดรหัสให้ได้ว่าฟรีจริงฟรีอย่างไร และชพท.เรียนฟรีสำหรับลูกเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนั้นทุกพรรคนำเสนอการปรับหลักสูตรทันสมัย ตอบโจทย์อนาคต เหมาะสมแต่ละช่วงชั้น ผู้เรียนทุกด้าน


          รศ.ดร.เมธินี กล่าวต่อว่า ทรัพยากรการศึกษามีเรื่องบุคลากร งบประมาณ สื่อการเรียนการสอน การบริหารจัดการ แหล่งเรียนรู้อื่นๆ แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายส่งเสริมทุกเรื่องคล้ายกันไปหมด และทุกพรรคต่างใช้งบในการบริหารจัดการ ซึ่งการจะทำให้งบการศึกษาเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลต้องกระจายเงินอุดหนุนรายหัวใหม่ไม่ใช่ให้ทุกคนเท่ากันหมด เพราะเงินอุดหนุนรายหัวส่งผลต่อจำนวนนักเรียนในห้องเรียน ทั้งที่ทั่วโลกพบว่า ห้องเรียนที่เหมาะสมต้องมีนักเรียน 25 คนต่อห้อง แต่ไทยเมื่อการจัดห้องเรียนเป็นไปตามการอุดหนุนรายหัวทำให้ห้องเรียนไทยมีนักเรียนจำนวนมาก เพราะต้องนำงบรายหัวมาใช้ในการบริหารโรงเรียนรวมถึงต้องพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพจัดการเรียนการสอนแตกต่างกัน

 

 



          "ไม่ว่าพรรคไหนเข้ามาเป็นพรรคการเมืองหากมีงบในการบริหารงานตามนโยบายที่วางไว้ก็สามารถทำได้จริง ดังนั้น ประชาชนจะเลือกพรรคไหนควรศึกษาวิธีการบริหารจัดการเงินของแต่ละพรรคการเมืองที่จะนำมาใช้ เพราะนโยบายใครๆ ก็พูดได้ และต้องดูข้อมูลข้อเท็จจริงจากหลายๆ ที่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าเงินและนโยบายมีความเป็นไปได้ จุดแข็งจุดอ่อนของการศึกษาเป็นเช่นใด อาทิ พรรคปชป. เน้นผู้เรียน พท.เน้นบริหารจัดการทรัพยากร เทคโนโลยี พปชร.เน้นความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน อนค.เน้นความทันสมัย มองเด็กเยาวชน และชพท.เน้นลูกหลานการเกษตร เป็นต้น” รศ.ดร.เมธินี กล่าว

 


          ไม่มีพรรคไหนเสนอ“ปฏิรูปการศึกษา”
          ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาพรวมนโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำเสนออยู่ในขณะนี้ พบว่าแต่ละพรรคการเมืองจะนำเสนอเรื่องการศึกษาแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นแล้วแต่ว่าพรรคการเมืองไหนสนใจเรื่องใด และส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดนโยบายการศึกษาจากที่พรรคเคยนำเสนอ หรือเคยเป็นรัฐบาลมาก่อน เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา การศึกษาเด็กเล็ก เป็นต้น


          แต่ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่พรรคการเมืองต้องนำเสนอในเรื่องนี้ว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการ ผลักดัน หรือเป็นนโยบายที่มาจากการวิจัย การศึกษาอย่างละเอียด กลับไม่เห็นพรรคการเมืองใดนำเสนอในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเข้าใจได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องยากและเห็นผลงานช้า จึงทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดระบุว่าจะปฏิรูปการศึกษาของประเทศไปในทิศทางใด หรือนำเสนอนโยบายด้านนี้


          ขณะเดียวกันหลายพรรคการเมืองมุ่งหาเสียงจากคนรุ่นใหม่ พยายามนำเสนอนโยบายเพื่อคนรุ่นใหม่ ทั้งด้านเทคโนโลยี จบแล้วมีงานทำ มีเงินอุดหนุน แต่กลับ ไม่มีพรรคการเมืองใดชูเรื่องการปฏิรูปการอุดมศึกษา อาชีวศึกษา เรื่องระบบการสอบ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่และระบบการศึกษาในอนาคตจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้นยังมีพรรคการเมืองอีกกลุ่มที่นำเสนอนโยบายการศึกษาที่เกินจริงและทำได้ยาก ซึ่งจะยิ่งทำให้การศึกษาของชาติไม่ตรงกับข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น


          ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่าจนถึงตอนนี้โดยส่วนตัวยัง อยากเห็นนโยบายการศึกษาที่เป็นรูปธรรม ทำได้จริง และนำเสนออย่างจริงใจ ทั้งเรื่องระบบการสอบ การวัดและประเมิน รวมถึงนโยบายที่จะชี้ชัดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไทยในอนาคตมีการศึกษาที่ดี เรียนอย่างมีความสุข มีงานทำ โดยนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นความหวังที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถจับต้องได้


          รวมทั้งอยากให้ทุกพรรคชูตัวบุคคลที่วางตัวไว้ว่าจะให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเข้ามาปฏิรูปการศึกษา รวมไปถึงทีมงานด้านการศึกษาด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่มีนโยบายการศึกษาใดชัดเจน และเมื่อไม่ชัดเจน ทำจริงได้ก็เป็นไปได้ยาก


          “นโยบายด้านการศึกษาของแต่ละพรรคไม่โดดเด่นและชัดเจนเท่ากับนโยบายด้านอื่นๆ โดยทุกพรรคเน้นเรื่องสวัสดิการ ประชานิยม ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลไหนเป็นพรรคการเมืองก็มองว่าการศึกษาคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้นประชาชนควรพิจารณานโยบายด้านต่างๆ ให้ละเอียด และต้องดูว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ ก่อนจะเลือกลงคะแนน” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

 


          ส่องนโยบายการศึกษา 5 พรรคใหญ่
          1.พรรคประชาธิปัตย์

          -เกิดปั๊บรับเงินแสน
          -กระจายอำนาจให้โรงเรียน
          -เด็กทุกคนพูดอังกฤษได้
          -ปรับหลักสูตรเพื่อโลกอนาคต
          -เรียนฟรีถึงปวส.
          -จบแล้วมีงานทำ
          -กองทุน Smart Education

 

          2.พรรคเพื่อไทย
          -เพิ่มงบศึกษาปฐมวัย (เงินเด็กเล็กยากจน>1,000 บ.)
          -อัพศูนย์เด็กเล็กอัจฉริยะ 20,000 แห่ง
          -เด็กสื่อสารได้ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน
          -One-Laptop-per Child
          -เรียนฟรี 15 ปีเด็กออกกลางคันยากจน
          -กองทุนกู้ยืม “เรียนก่อนผ่อนทีหลัง”


          3.พรรคพลังประชารัฐ
          -หลักประกันการศึกษาทั่วหน้า “บวร”
          -ชุมชนดูแลระบบการศึกษา
          -สร้างความร่วมมือรัฐประชาชน
          -ดึงมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง
          -ให้ความรู้เด็กผญ.ตั้งครรภ์ก่อนแต่ง
          -เน้นแก้ปัญหานักศึกษาค้างชำระหนี้ กยศ.


          4.พรรคอนาคตใหม่
          -เงินอุดหนุนเยาวชนอายุ 18-22 ปี 2,000 บาทต่อเดือน
          -อัพคุณภาพห้องเรียน 17,000 แห่งทั่วประเทศ
          -ไวไฟฟรี
          -สวัสดิการอาหารกลางวันฟรีอนุบาล-ม.ปลาย
          -คืนครูให้นักเรียน
          -ปรับหลักสูตรประถม สร้างทักษะชีวิต
          -ปรับหลักสูตรมัธยม ทักษะอาชีพ
          -ผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ร่วมออกแบบหลักสูตร
          -หนุนเด็กฝึกงานตั้งแต่ม.ต้น


          5.พรรคชาติไทยพัฒนา
          -ลูกหลานเกษตรกรเรียนฟรีถึงป.ตรี
          -จัดการเรียนฟรีระดับศึกษาขั้นพื้นฐาน
          -กระจายงบอำนาจสู่ชุมชน บริหารจัดการหลักสูตร งบการศึกษา
          -นำเทคโนโลยีใช้จัดการเรียนการสอน
          -หารัฐมนตรีคนกลาง
          -กระทรวงศึกษาธิการแยกออกจากการเมือง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ