Lifestyle

กอปศ.แจงใช้"ครูใหญ่"ก.ม.ไม่บังคับเจตนาทำให้ครู-ผู้บริหารดีขึ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร  [email protected] 

 

 

          กอปศ.แจงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...กรณีใช้ “ครูใหญ่” แทน “ผู้บริหารสถานศึกษา” ย้ำเจตนารมณ์ทางกฎหมาย ไม่ได้บังคับเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เป็นการตั้งใจทำให้ครูดีขึ้น เน้นความเป็นครู เพิ่มอำนาจผู้บริหารสถานศึกษา ดูรายละเอียดวิชาการ ไม่ใช่ทำหน้าที่บริหารอย่างเดียว ส่วนจะใช้ครูใหญ่ ผู้บริหารสถานศึกษาแล้วแต่กฎหมายรอง ขณะที่ การใช้ “ใบรับรองความเป็นครู” แทน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ให้ความสำคัญกับครูมากเป็นพิเศษ แต่จะเรียกแบบไหนขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา

 

 

          เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... โดยได้กำหนดนิยามคำว่า “ครูใหญ่” แทนคำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ว่าที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการกำหนดนิยามดังกล่าวนั้น เป็นความตั้งใจทำให้ครูดีขึ้น โดยเน้นเรื่องความเป็นครู และให้ผู้บริหารสถานศึกษามีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ดูแลในเรื่องวิชาการและเรื่องอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะขณะนี้ผู้บริหารสถานศึกษาเหมือนกับผู้บริหารอื่นๆ ที่เป็นแบบธุรกิจ และไม่ได้ดูรายละเอียดในเรื่องเนื้อหาวิชาการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษาต้องดูแลในเรื่องนี้ เพื่อให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น เป็นการขยายอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษา 

 

กอปศ.แจงใช้"ครูใหญ่"ก.ม.ไม่บังคับเจตนาทำให้ครู-ผู้บริหารดีขึ

 


          ดังนั้น การกำหนดนิยามดังกล่าวไม่ได้ทำให้ครู ผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารสถานศึกษามีฐานะลดลง แต่จะทำให้ครู และผู้บริหารดีขึ้น รายละเอียดต่างๆ จะมีการกำหนดในกฎหมายลำดับรองต่อไป ส่วนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... จะประกาศใช้ในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาล

 


          “ครูใหญ่”ก.ม.ไม่ได้บังคับ
          รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า ร่าง พ.รบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา การใช้คำว่าครูใหญ่ เมื่อวิเคราะห์เจตนารมณ์ เชื่อว่าการใช้คำดังกล่าว เป็นคำศัพท์ทั่วไป และตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... มาตรา 39 วรรคสาม ได้ระบุไว้ว่า คำว่าครูใหญ่ หรือผู้ช่วยครูใหญ่ ถ้าจะใช้คำอื่นสามารถกระทำได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริหารสถานศึกษาจะกำหนด กฎหมายไม่ได้บังคับว่าผู้บริหารสถานศึกษา ต้องใช้ชื่อว่า ครูใหญ่ คือไม่ใช่ชื่อตำแหน่ง กฎหมายเป็นเพียงให้แนวทางว่า ผู้ที่เป็นผู้นำ หรือเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ควรที่จะต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการกระทำเรื่องอะไรบ้าง การใช้คำศัพท์ว่าครูใหญ่ อยากให้สบายใจ 

 

 

กอปศ.แจงใช้"ครูใหญ่"ก.ม.ไม่บังคับเจตนาทำให้ครู-ผู้บริหารดีขึ

 


          อีกทั้ง ในบทเฉพาะกาลของกฎหมาย ได้มีการกำหนดความคุ้มครองสิทธิของบุคลากรที่เป็นผู้บริหารของสถานศึกษาที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ อยู่แล้ว รวมทั้งไม่ได้มีการบังคับว่าต้องเปลี่ยนชื่อจากผู้บริหารสถานศึกษามาเป็นครูใหญ่ จึงไม่ได้แปลว่าเมื่อร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... นี้ผ่านแล้ว คนที่ใช้ป้ายชื่อผู้บริหารสถานศึกษาต้องมาเปลี่ยนเป็นครูใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เพราะชื่อตำแหน่งดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกาลนั้นเฉพาะ ไม่ใช่ตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...


          รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น มีทั้งหมด 3 ขั้นตอน หรือ 3 วาระ คือ วาระที่ 1 คณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องนำร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วนำมาพิจารณาก่อนปรับเปลี่ยนเข้าสู่วาระที่ 2 ซึ่งในวาระที่ 2 นี้ จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กอปศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มารับฟังและให้ความคิดเห็น ก่อนจะเข้าสู่วาระที่ 3 พิจารณาและเปิดรับฟังความคิดเห็น หากมีความเห็นต่าง ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะรวบรวมและนำเสนอ ครม. เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป 

 

 

กอปศ.แจงใช้"ครูใหญ่"ก.ม.ไม่บังคับเจตนาทำให้ครู-ผู้บริหารดีขึ

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์

 

 

          อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ถือเป็นรัฐธรรมนูญทางการศึกษา เป็นหลักการและแนวทางในการจัดการศึกษา ไม่ได้เป็นเรื่องชื่อตำแหน่ง ส่วนชื่อเรียกหรือกลไกจริงๆ ที่จะเกิดขึ้น ถ้าในเรื่องที่กฎหมายระบุไว้ว่าเป็นไปตามกฎหมายลำดับรอง ก็ต้องไปปรับปรุงสาระต่อไป หรือต้องดำรงไว้ชื่อแบบเดิมก็สามารถไปหารือกันในขณะนั้นได้ โดยหลังจากนี้คงต้องเป็นไปตามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะพิจารณาเช่นใด ดังนั้น อยากให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าใจเรื่องนี้ เจตนารมณ์ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการพัฒนาครู


          ให้ความสำคัญใบรับรองความเป็นครู
          รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกประเด็นที่มีข้อวิตกกังวล คือ เรื่องใบรับรองความเป็นครู โดยบางท่านอาจมีความเข้าใจกับคำพูดที่นำไปใช้ในวิธีการทำงานว่าการให้ใบรับรองความเป็นครู คือ เป็นใครก็ได้ที่ถูกเชิญมาเป็นผู้สอนแล้วจะได้ใบรับรองความเป็นครู ทั้งที่ใบรับรองความเป็นครูดังกล่าวตามข้อบัญญัติที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับเปลี่ยนคำพูดนั้น ไม่ได้หมายถึงในรูปแบบดังกล่าว แต่ใบรับรองความเป็นครู จะเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นครูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ไว้ และให้ความสำคัญกับครูมากเป็นพิเศษ เป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ตามที่กฎหมายกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เป็นการยกระดับเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นครูมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพทั่วไป

 


          ก.ม.ลำดับรองกำหนดรายละเอียด
          “ในทางปฏิบัติ ถ้าจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูโดยเฉพาะ หรือกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของครุสภา การจะนำใบรับรองความเป็นครู ตามเจตนารมณ์ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ไปปรับใช้ หรือจะใช้ชื่อเรียกอย่างไร สุดท้ายจะอยู่ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ใบรับรองความเป็นครูในกฎหมายเฉพาะนี้ ไม่ได้ทำให้ความเป็นครูด้อยลงไป ส่วนความแตกต่างระหว่างการใช้คำว่าครูใหญ่ แทนผู้บริหารสถานศึกษา และการใช้ใบรับรองความเป็นครู แทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะแตกต่างกันอย่างไรนั้น ต้องไปดูในรายละเอียดของกฎหมายลำดับรอง ซึ่งใน 2 ประเด็นดังกล่าว ต้องมีกฎหมาย 2 ฉบับที่ต้องดำเนินการในรายละเอียด คือ กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ คือ สภาครู หรือครุสภา กับกฎหมายระเบียบข้าราชครู และบุคลากรทางการศึกษา ว่าจะกำหนดรายละเอียดเช่นใด” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

 

          รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น การใช้ใบรับรองความเป็นครู แทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น โดยหลักแล้วเรื่องที่มีเกี่ยวข้องกับบุคลากรมากๆ จะทำให้เกิดความกังวล ซึ่งอยากให้เข้าใจธรรมชาติของกฎหมาย รวมถึงสิ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้บรรจุไว้เป็นสาระ มีบทบัญญัติในการคุ้มครองสิทธิของบุคลากรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้สถานะด้อยลง เช่นเดียวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งเรื่องของเงินเดือน เงินวิทยฐานะต่างๆ ทางกฎหมายได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไว้อยู่แล้ว อยากให้ครูสบายใจ ไม่ต้องกังวล


          สมาพันธ์ครูจังหวัดชัยภูมิค้าน3ประเด็น
          เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา นายณรงค์ฤทธิ์ ดอนศรี ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วย นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ และตัวแทนเครือข่ายครู จ.ชัยภูมิ ร่วมกันอ่านคำแถลงการณ์ สมาพันธ์สมาคมครูชัยภูมิ ฉบับที่ 1/2562 เรื่องไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ว่าสมาพันธ์สมาคมครูชัยภูมิ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิ์ และส่งเสริมขวัญกำลังใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดจังหวัดชัยภูมิ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... เกี่ยวกับการที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดยได้กำหนดนิยามคำว่า “ครูใหญ่” แทนคำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” และกำหนดให้มี “ใบรับรองความเป็นครู” แทนคำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ซึ่งมีมติในคราวประชุมสมาคม ครั้งที่ 1/2562 (28 ก.พ.2562) มีความเห็นร่วมกันดังนี้


          1.การเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็น ครูใหญ่ เป็นคำที่ไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพวิชาการ บริหารกิจการของสถานศึกษา ประสานงานและระดมทรัพยากรต่างๆ จึงไม่มีความจำเป็นและไม่เห็นประโยชน์ที่จะเปลี่ยนไปใช้คำว่า “ครูใหญ่” ซึ่งตัดทอนขวัญและกำลังใจในการทำงาน เกิดความไม่ภาคภูมิใจในวิชาชีพ


          2.การเปลี่ยนจากการใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไปเป็น ใบรับรองความเป็นครู เป็นการบั่นทอนความรู้สึกภาคภูมิใจในวิชาชีพ เนื่องจากคำว่า วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพชั้นสูง มีมาตรฐานวิชาชีพไม่ต่างจากการประกอบวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ ซึ่งสมาพันธ์สมาคมครูชัยภูมิเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าเชื่อถืออยู่แล้ว 


          และ 3.ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีหลายมาตราที่ขาดความชัดเจนคลุมเครือ ส่อว่าจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติหากเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ครูไม่มีส่วนร่วมในการจัดทำร่าง ไม่ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ให้ทุกภาคส่วนได้ยอมรับ ขอได้โปรดให้ยุติการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์สมาคมครูชัยภูมิ พร้อมกับเครือข่ายทุกจังหวัดทั่วทั้งประเทศ จะร่วมกันเรียกร้องคัดค้านให้ถึงที่สุดต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ