Lifestyle

"เครือข่ายพาร์กินสัน"สังเกต รู้ไว รักษาทัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 

          ปัจจุบัน “โรคพาร์กินสัน” (Parkinson’s Disease) ถือเป็นโรคทางระบบประสาทและสมอง ที่พบมากในผู้สูงอายุทั่วโลก อันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ มักเกิดขึ้นราว 1% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย เนื่องจากเพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าผู้หญิงถึง 1.5 เท่า

 

 

          สาเหตุของโรคพาร์กินสัน เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในระบบประสาทส่วนกลางซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างสารสื่อประสาท ที่เรียกว่า “โดปามีน” (dopamine) มีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อปริมาณของสารโดปามีนลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการจะทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นปกติ เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้าลง นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นๆ เช่น ท้องผูก วิตกกังวล ซึมเศร้า ภาวะวิกลจริตและอาการประสาทหลอน นอนไม่หลับ อ่อนเพลียง่าย ฯลฯ

 

 

 "เครือข่ายพาร์กินสัน"สังเกต รู้ไว รักษาทัน

 

 

          “หมอ”ที่เป็นมากกว่าหมอ
          นพ.สิทธิพันธ์ จันทร์พงษ์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลศรีสะเกษ วัย 35 ปี ถือเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองและระบบประสาทคนเดียวใน จ.ศรีสะเกษ หลังจากศึกษาต่อเฉพาะทางด้านโรคสมองและระบบประสาท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลับมาทำงานต่อยังโรงพยาบาลศรีสะเกษ ในปี 2559 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดิมจากที่เคยทำงานใช้ทุน ปัญหาที่ นพ.สิทธิพันธ์ พบคือ ประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคสมองและระบบประสาท ทำให้การรักษา ให้ความรู้ และคัดกรองโรคนั้นไม่ทั่วถึง

 

 

 

 

 "เครือข่ายพาร์กินสัน"สังเกต รู้ไว รักษาทัน

 


          ดังนั้น จึงเกิดโครงการ “เครือข่ายคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน” ที่ถูกออกแบบโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ คิดวิธีการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค เผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคลากรทางแพทย์ในชุมชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทั้งตัวผู้ป่วย ญาติ และบุคคลทั่วไป ให้สังเกตอาการคนใกล้ชิด รวมถึงเผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคลากรทางแพทย์ในชุมชน ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ตั้งแต่ต้นนำ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมประจำตำบล ทั้ง 300 แห่ง มาสู่โรงพยาบาลชุมชนทั้ง 21 แห่ง เพื่อส่งต่อมายังโรงพยาบาลศรีสะเกษที่มีแพทย์เฉพาะทางได้อย่างทันท่วงที ผ่านกิจกรรมต่างๆ

 

 

 

 "เครือข่ายพาร์กินสัน"สังเกต รู้ไว รักษาทัน

 


          อาทิ Pre-Hospital Awareness Program กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น บอร์ดความรู้ แผ่นพับ พร้อมคำขวัญที่ นพ.สิทธิพันธ์ เป็นผู้แต่งเองให้ง่ายต่อการจดจำ ได้แก่ “แข็งเกร็งแขนขา เคลื่อนไหวช้าๆ มือขาสั่นๆ ซอยเท้าสั้นๆ เดินหลังค่อมๆ ไม่รู้เหม็นหอม พร้อม...หน้าเฉยๆ” รวมถึงติดป้ายคำขวัญไว้หลังรถสามล้อกว่า 20 คันหน้าโรงพยาบาล คันละ 100 บาทต่อเดือน ด้วยงบของคุณหมอเอง


          PD Disease Awareness Day กิจกรรมเชิงบรรยายและสันทนาการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ให้แก่ บุคคลทั่วไป ได้เข้าใจโรคพาร์กินสันมากยิ่งขึ้น โดยคุณหมอเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมด้วยตัวเอง ด้วยธีมชุดที่หลากหลาย PD Caravan (คาราวาน...สั่นสู้) กิจกรรมเดินสายไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่ออบรมให้ความรู้เรื่องโรคพาร์กินสัน และแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยสู่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ทั้งนี้ คุณหมอยังได้ติดสติกเกอร์คาราวานไว้ที่รถตู้ของตนเองอีกด้วย

 

 

 "เครือข่ายพาร์กินสัน"สังเกต รู้ไว รักษาทัน

 

 

 

          และสุดท้าย PD Clinic Setting จัดระบบการตรวจใหม่ แยกตรวจโรคเกี่ยวกับสมองยอดนิยมโรคละวัน เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามอาการ ทำแบบประเมิน รวมถึงการทำงานของบุคลากร เช่น ห้องจ่ายยาที่ไม่ต้องจัดยาหลายโรคต่อวัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่เป็นโรคเดียวกัน พร้อมจัดทำสมุดประจำตัวผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และแจกถุงผ้าใส่ยาให้ผู้ป่วย พร้อมกำชับให้นำถุงผ้าและยาเก่ากลับมาด้วยทุกครั้ง เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

 


          ไตรมาสแรกปี62พบผู้ป่วย40คน
          หลังจากการดำเนินงาน “เครือข่ายคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน” พบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นและส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนมายังโรงพยาบาลศรีสะเกษ เพิ่มขึ้นจากเดิมปี 2558 จำนวน 70 คน ถัดมา ปี 2559 จำนวน 82 คน ปี 2560 จำนวน 95 คน ปี 2561 จำนวน 128 คน และ ปี 2562 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 40 คน ภายในไตรมาสแรก

 

 

 

 "เครือข่ายพาร์กินสัน"สังเกต รู้ไว รักษาทัน

 


          นพ.สิทธิพันธ์ กล่าวว่า อย่างน้อยตัวเลขนี้แสดงว่าการส่งต่อดีกว่าแต่ก่อน คุณภาพชีวิตคนไข้ก็น่าจะดีขึ้น ก่อนหน้านี้แย่มาก เพราะบางทีก็ไม่เจอหมอเฉพาะทาง แค่มารับยา หรือไม่ก็ต้องส่งข้ามเขตไปที่อุบลราชธานี ตั้งแต่ทำโครงการ ช่วงหลังเราจะพบคนไข้ที่มีอาการในระยะแรกและระยะกลางมากขึ้น ปัจจุบัน ในผู้ป่วยขั้นแอดวานซ์ ที่นอนติดเตียง เราจะเน้นในเรื่องของการป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ข้อติด ที่จะเกิดขึ้นมากกว่าการรักษาให้ดีขึ้น เพราะให้ยามากแค่ไหนก็ไม่ดีขึ้นแล้ว ดังนั้น ก็ย้อนกลับมาที่จุดเดิมคือ ต้องสร้างความตระหนัก รับรู้ เพื่อจะได้วินิจฉัยให้เร็ว


          “หลายคนถามว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ส่วนตัวมองว่าเราไม่ใช่คนแรกที่ไปสร้างความเข้าใจ หรือกระตุ้นการรับรู้ แต่ความผิดพลาดในอดีตคือ การบรรยายไม่ชวนฟัง คนไข้ฟังแล้วก็เอาอะไรกลับไปไม่ได้ การฟังเนื้อหาเชิงวิชาการไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราสะกดเขาอยู่ นี่จึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการนำเสนองาน เขาก็จะอยู่กับเราตลอด 1 ชั่วโมง เกิดความสนุก และได้อะไรกลับไป สิ่งสำคัญคือ ต้องสั้น กระชับ เข้าใจง่าย นำกลับไปใช้ได้จริง ด้วยความที่เรายังเด็ก อายุยังน้อย แรงเราก็ยังมีอยู่ เราก็ทำทุกอย่างไปก่อน ถึงเวลาที่แก่ทำไม่ไหวค่อยพักก็ได้” นพ.สิทธิพันธ์ กล่าว

 

 

 "เครือข่ายพาร์กินสัน"สังเกต รู้ไว รักษาทัน

 

 

 


          ตื่นรู้-ดูแล-ช่วยเหลือ
          นพ.สิทธิพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมถึง ความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสัน คือ 1.เรื่องอายุ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนต้องแก่ 2.พันธุกรรม มีส่วนซึ่งก็แก้ไม่ได้อีก ดังนั้น เราต้องมาดูที่ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ได้เหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไป คือ เหล้า บุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย และกินอาหารไม่มีประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เจาะจงว่าทำแล้วจะเป็นพาร์กินสันเหมือนกับโรคอื่น ดังนั้น ถ้าอายุมากขึ้นหรือมีคนในครอบครัวเป็น เราต้องตื่นตัว สังเกตอาการ ต้องวินิจฉัยให้ไว เพื่อไปรักษา มันเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ต้องรักษาให้ไว ถูกวิธี และมีมาตรฐาน


          ส่วนผู้ป่วยพาร์กินสัน สิ่งสำคัญคือ วินัยเรื่องยา เราจึงแจกถุงผ้ากับโรคนี้ โรคจะดีขึ้นสอดคล้องกับวินัยในการกินยาตรงทุกมื้อ ทุกวัน ต่อเนื่อง ร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อช่วยในเรื่องข้อต่อ และ ห้ามล้ม ล้มแล้วโรคทรุดและโอกาสจะกลับมาดีเหมือนเดิมยากมาก เพราะคนไข้จะกลัวการเคลื่อนไหว สุดท้ายคือ ห้ามท้องผูก เพราะจะมีผลต่อการดูดซึมยา เคล็ดลับสั้นๆ คือ ให้กินยาร่วมกับน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว จะช่วยเรื่องการดูดซึมยาได้ดี

 

 

 

 "เครือข่ายพาร์กินสัน"สังเกต รู้ไว รักษาทัน

 


          สำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ต้องพาผู้ป่วยออกกำลังกาย เพราะคนแก่ที่เป็นโรคนี้ เขาต้องได้เจอแดด รู้วันเวลา ไม่ใช่อยู่แต่ในห้อง ปัญหาหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้คือ การนอน หลายคนมาจบที่ยานอนหลับ ซึ่งควรเลือกเป็นอย่างสุดท้าย ดังนั้น ผู้ดูแลต้องสร้างกิจกรรมตอนกลางวันให้เขาตื่นตัว และตอนกลางคืนเขาจะหลับได้เอง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ