Lifestyle

อภ.ปลูกกัญชาถูกก.ม.ต้นแรกอาเซียน คนไทยแจ้งครอบครองวันแรก4ราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] -

 

           องค์การเภสัชกรรมปลูกกัญชาถูกกฎหมายต้นแรกของอาเซียน ในโรงเรือนระบบปิดรากลอย คาดกรกฎาคมได้สารสกัดกัญชาลอตแรก 2,500 ขวด ใช้นำร่องคนไข้ร่วมโครงการเตรียมพัฒนาสู้ต่างชาติให้ได้ใน 2-3 ปี การปลูกเป็นยาต้องได้ “มาตรฐานทางการแพทย์” เท่านั้น สารสำคัญแต่ละต้นต้องคงที่ ปลอดการปนเปื้อน เกษตรกรจะปลูกต้องทำให้ได้มาตรฐาน ไม่สามารถปลูกพื้นที่ทั่วไป เหตุกัญชาเป็นพืชพิเศษแต่ละต้นสารสำคัญไม่เท่ากัน ดูดโลหะหนักสูง ขณะที่คนไทยแจ้งครอบครองกัญชาไม่รับโทษวันแรก 4 ราย

 

 

          เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่โรงงานผลิตยารังสิต คลอง 10 จ.ปทุมธานี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ระยะที่ 1 ว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ได้อนุญาตให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ปลูกกัญชาทางการแพทย์ พร้อมทั้งได้ลงนามในหนังสืออนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ อภ.ได้ดำเนินการปลูกกัญชาสำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย

 

อภ.ปลูกกัญชาถูกก.ม.ต้นแรกอาเซียน คนไทยแจ้งครอบครองวันแรก4ราย

 


          ทั้งนี้ เป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้นแรกในอาเซียน ซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชาที่ใช้ปลูกครั้งนี้เป็นเมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสม ที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ปลูกในอาคาร (Indoor) ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ขององค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งจะทำให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชาที่มีคุณภาพสูง มีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญที่ใช้ในการออกฤทธิ์ คือทีเอชซี(THC) และซีบีดี(CBD) เป็นไปตามความต้องการใช้ของแพทย์ในแต่ละโรคที่จะทำการศึกษาวิจัย



          รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า การที่ อภ.ต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาทในการปลูกกัญชาพื้นที่ 100 ตารางเมตร คนอาจสงสัยว่าทำไมชาวบ้านอาจจะใช้แค่ต้นละ 5 บาท ขอเรียนว่าในการปลูกกัญชาเพื่อนำมาทำเป็นยานั้น จะปลูกตามพื้นที่ทั่วๆ ไปไม่ได้ จะต้องปลูกให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์(medical grade) ที่จะต้องมีสารสำคัญในการเป็นยาคงตัว ปลอดสิ่งปนเปื้อนทั้งยาฆ่าแมลง เชื้อรา และโลหะหนัก และต้องมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนของการผลิตตั้งแต่การปลูก เมื่อได้ดอกแห้งมาทำเป็นสารสกัด และทำเป็นผลิตภัณฑ์ และมีสารสำคัญที่จะเป็นยา

 

 

อภ.ปลูกกัญชาถูกก.ม.ต้นแรกอาเซียน คนไทยแจ้งครอบครองวันแรก4ราย

 


          “ไทยต้องเร่งที่จะทำให้กัญชาเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะหลายชาตินำไปแล้วหลายสิบปี เช่น แคนาดา อิสราเอล การที่ พ.ร.บ.ออกมาเพื่อกันต่างชาติ ให้คนไทยพัฒนาและใช้ประโยชน์ใน 5 ปี โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ก็เพื่อประโยชน์ของคนไทยไม่ได้เป็นการกันคนไทยส่งออกไป แต่เป็นการป้องกันต่างชาติแห่เข้ามา ซึ่งตั้งเป้าอยากให้ไทยพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อสู้กับต่างชาติให้ได้ภายใน 2-3 ปี เพราะหลังจาก 5 ปีแล้วต่างชาติจะเฮเข้ามา เราต้องเตรียมพร้อม” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว


          นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาต่างชาติใช้กัญชาทางการแพทย์มาก่อนเรา จึงต้องเร่งพัฒนาสารสกัดให้ได้คุณภาพระดับเมดิคัลเกรด เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง อภ.ได้รับกัญชาของกลางมาพัฒนาเป็นยา แต่พบว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลงเยอะมาก จึงต้องพัฒนาให้ได้คุณภาพที่สุดด้วยการทุ่มงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อปลูกกัญชาในรูปแบบระบบปิดในพื้นที่ 100 ตารางเมตร ซึ่งจะมุ่งเน้นให้เป็นพืชยามาตรฐานสากล 

 

 

 

อภ.ปลูกกัญชาถูกก.ม.ต้นแรกอาเซียน คนไทยแจ้งครอบครองวันแรก4ราย

 


          โดยต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1.ประสิทธิผล ใช้เป็นยาที่มีคุณภาพอย่างไร เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารสำคัญต่างกัน ใช้รักษาโรคต่างกัน จะปลูกพันธุ์ไหนรักษาโรคอะไร 2.เรื่องความปลอดภัย ไม่มียาฆ่าแมลง ปนเปื้อนโลหะหนัก และ 3.คุณภาพของแต่ละลอต สารสำคัญต้องคงที่ โดยเฉพาะสารทีเอชซีและซีบีดี ทั้งหมดจึงเรียกว่าเป็นเมดิคัลเกรดหรือเกรดใช้ทำยาได้ เพราะอยากให้คนไทยใช้ของมีคุณภาพและได้ผลจริง


          ด้าน ผศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช กล่าวว่า การปลูกกัญชาในโรงเรือนแบบปิดของ อภ. เป็นการปลูกระบบรากลอยกลางอากาศ พ่นอาหารและรากเข้าไปแล้วให้รากดูด กัญชาจะได้ออกซิเจนสูง ทำให้ได้สารสำคัญในกัญชาคือทีเอชซี และซีบีดี มีความสม่ำเสมอ โดยนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศ คือพันธุ์อินดิกา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการพัฒนาปรับปรุงแล้วว่าสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ โดยนำเข้าใน 3 รูปแบบ คือ


          แบบที่ 1 ให้สารซีบีดีสูงเหมาะจะพัฒนาในการรักษาโรคลมชัก แบบที่ 2 ให้สารทีเอชซีสูง เหมาะพัฒนาแก้อาการข้างเคียงจากการให้คีโมในผู้ป่วยมะเร็ง และแบบที่ 3 ให้สารทีเอชซีและซีบีดีในสัดส่วน 1 ต่อ 1 เหมาะในการพัฒนาสู่รักษาโรคปลอกประสาทอักเสบโดย 1 ปีสามารถปลูกได้ 4 รอบ ในระยะเวลา 4 เดือนจะได้ดอกกัญชาแห้ง นำมาทำเป็นสารสกัด ส่วนสายพันธุ์ไทยนั้นยังไม่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ทำให้สารสำคัญแต่ละต้นไม่เท่ากันจึงยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำเป็นยาได้ อีกทั้ง หากมีการปลูกในพื้นที่ทั่วไปแบบเปิดกว้างอาจจะมีสิ่งปนเปื้อนเจือปนได้ เพราะกัญชาจะมีคุณสมบัติในการดูดโลหะหนักสูง ไม่เหมาะที่จะนำกัญชาที่ปลูกทั่วๆ ไปมาใช้เป็นยา

 

 

 

อภ.ปลูกกัญชาถูกก.ม.ต้นแรกอาเซียน คนไทยแจ้งครอบครองวันแรก4ราย

 


          “ถามว่า อภ.ลงทุน 10 ล้านบาทแพงไปหรือไม่ ขอบอกว่า แค่เพียง 1 ปีก็คุ้มทุนแล้ว เพราะหากต้องนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ 100 กิโลกรัม เป็นเงิน 15 ล้านบาทแล้ว การลงทุนของ อภ. จึงมั่นใจว่าจะทำให้ได้ยาจากกัญชาที่มีคุณภาพยาดี สามารถใช้รักษาโรคได้ เพราะเป็นการปลูกที่เหมือนกับโคลนนิ่งแต่ละต้นออกมา แต่ละต้นจึงให้สารสำคัญที่จะทำยาใกล้เคียงกัน” ผศ.ดร.วิเชียร กล่าว


          นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า เหตุที่ต้องใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท เพราะเราเซตมาตรฐานไว้ การได้กัญชามาทำยา ต้องเป็นระดับความคงตัวสารตั้งต้น ดอกและสายพันธุ์ต้องคงตัว ทำให้เป็นต้นแบบ ลงทุนเรื่องโรงเรือน ระบบปลูกที่ใช้เทคโนโลยี อินดอร์ เร่งการผลิตได้คงตัว สม่ำเสมอ ระบบรักษาความปลอดภัย ให้เป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคต


          จากแผนกำหนดการผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ หลังจากปลูกในวันนี้ จะใช้เวลาในการปลูก 4 เดือน และคาดว่าจะสกัดสารออกมาเป็นน้ำมันชนิดหยดใต้ลิ้นได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ จำนวน 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี โดยจะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่ร่วมโครงการในกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้ว 4 โรค คือ ผลข้างเคียงจากการรับคีโมรักษามะเร็ง ลมชัก ปลอกประสาทอักเสบ และปวดเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โดยการใช้น้ำมันกัญชาจะเป็นโครงการความร่วมมือกับโครงการวิจัยต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

 

 

 

อภ.ปลูกกัญชาถูกก.ม.ต้นแรกอาเซียน คนไทยแจ้งครอบครองวันแรก4ราย

 


          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้ตั้งอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเตรียมสถานที่ เก็บรักษา ควบคุมการปลูก และข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานของเมดิคัลเกรด ซึ่งในส่วนของ อภ.ที่จะทำการปลูก ได้ผ่านมาตรฐานทั้งหมด เช่น มาตรฐานโรงเรือน มีความมิดชิด มาตรฐานที่ตั้ง เป็นเอกเทศ โครงสร้างแข็งแรง เรื่องข้อกำหนดระบบความปลอดภัย การติดกล้องวงจรปิดรอบทิศทาง การเคลื่อนย้ายต้นกัญชา แผนรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแล ผู้รับผิดชอบ ประตูเข้าออก ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสำรองข้อมูล และต้องพร้อมให้ตรวจกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดการลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งเราหวังให้เป็นต้นแบบมาตรฐาน 


          นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า สำหรับวันแรกของการเปิดให้คนใช้กัญชาแจ้งการครอบครองกัญชาได้โดยไม่ต้องรับโทษ พบว่ามีการแจ้ง 4 ราย โดยจะเปิดให้แจ้งจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ครบระยะเวลา 90 วันนับแต่ที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ