Lifestyle

"กัญชา"...ใครเกี่ยวปลูก-ผลิต-ครอบครอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ  [email protected]


 

          หลังพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเป็นการคลายล็อกให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่จะต้องควบคุม กำกับการอนุญาต ได้เร่งดำเนินการออกอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกรองรับรวม 8 ฉบับ

 

 

          3 ฉบับแรกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่จะต้องเร่งดำเนินการในส่วนของการให้ผู้ที่ครอบครองกัญชาแจ้งการครอบครองได้ภายใน 90 วันนับแต่พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้โดยไม่ต้องรับโทษ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้วิจัยและผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ กลุ่มผู้ป่วยจะต้องมีหนังสือรับรองแพทย์ว่าป่วยเป็นโรคใดๆ จริง จะเป็นจากแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้ และกลุ่มบุคคลอื่นที่ไม่จัดอยู่ใน 2 กลุ่มแรก ทั้งนี้ภาคกลางสามารถแจ้งครอบครองได้ที่อย. และส่วนต่างจังหวัดแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
  

 

 

"กัญชา"...ใครเกี่ยวปลูก-ผลิต-ครอบครอง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

 

          อีก 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 จัดประชาพิจารณ์ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ที่จะสามารถปรุงและสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ และ 3.ร่างประกาศสธ. เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ ส่วนอีก 2 ฉบับจะดำเนินการต่อไป
  

          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจาก อย. รับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว จะนำความคิดเห็นมารวบรวมและปรับปรุงแก้ไขบางส่วนและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษราวต้นเดือนมีนาคม 2562 ในส่วนของร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง หากเห็นชอบจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในรัฐบาลชุดนี้ จากนั้นส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งตามขั้นตอนในการออกกฎกระทรวงจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน สำหรับร่างประกาศ 2 ฉบับ หากคณะกรรมการยาเสพติดเห็นชอบแล้วสามารถส่งเรื่องให้ รมว.สาธารณสุข พิจารณาลงนามได้เลยมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา


         

 

 

"กัญชา"...ใครเกี่ยวปลูก-ผลิต-ครอบครอง

 

 

          “การรับฟังความคิดเห็นได้รับความคิดเห็นที่ดีหลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะมีความเป็นห่วงในเรื่องการวิจัยที่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คนไข้เข้าถึงยากัญชาอย่างเหมาะสม ในแง่ของการวิจัยใช้กัญชาทางการแพทย์ของสัตวแพทย์จะมีแนวทางอย่างไร เป็นต้น ทั้งหมดจะนำมาประมวลเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกต้องขอย้ำว่ากฎหมายใหญ่คลายล็อกเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และวิจัยเท่านั้น ก่อนการปลูกต้องได้รับอนุญาต และการปลูกต้องยึดโยงวิจัยกับหน่วยงานรัฐว่าจะผลิตยาอะไรและปลูกแล้วส่งให้ใครผลิต เพราะฉะนั้น เกษตรกรต้องเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้ก่อนที่จะลงมือปลูก” นพ.ธเรศกล่าว


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง มีสาระสำคัญ อาทิ การขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกภายใต้วัตถุประสงค์ 7 ประเภท ได้แก่ 1.เพื่อใช้ทางการแพทย์ในประเทศ 2.เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทางด้านการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์หรือเภสัชกรรม 3.เพื่อประโยชน์ทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและความร่วมมือระหว่างประเทศ


          4.เพื่อการผลิตเพื่อส่งออก 5.เพื่อการผลิตสำหรับคนไข้เฉพาะรายของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน 6.เพื่อการผลิตที่ไม่ได้ผ่านการรับรองตำรับเพื่อรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และ 7.กรณีผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศนำติดตัวเข้ามาในหรือออกนอกประเทศสำหรับใช้รักษาเฉพาะตัวภายใน 90 วัน

 

 

"กัญชา"...ใครเกี่ยวปลูก-ผลิต-ครอบครอง

 

 


          วัตถุประสงค์การขออนุญาตจำหน่ายมี 4 ประเภท ได้แก่ 1.เพื่อการรักษาผู้ป่วย 2.เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทางด้านการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์หรือเภสัชกรรม 3.เพื่อประโยชน์ทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและความร่วมมือระหว่างประเทศ และ 4.เพื่อการเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนวัตถุประสงค์การขออนุญาตมีไว้ครอบครองมี 4 ประเภท คือ 1.เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทางด้านการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์หรือเภสัชกรรม 2.เพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษา 3.เพื่อประโยชน์ทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและความร่วมมือระหว่างประเทศ และ 4.เพื่อใช้ประจำในการปฐมพยาบาลหรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือหรือเครื่องบิน


          สำหรับผู้มีสิทธิ์ในการยื่นขออนุญาตเกี่ยวกับกัญชาจะต้องพิจารณาตามวัตถุประสงค์แต่โดยหลักจะประกอบด้วย 1.หน่วยงานของรัฐ 2.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์ หรือเภสัชกรรม 3.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ 4.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน สัตวแพทย์ 5.ผู้ขออนุญาตอื่น เช่น ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำหรือสั่งเข้ามาซึ่งยาแผนปัจจุบัน ซึ่งยาแผนโบราณ ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรม 6.เป็นคู่สัญญากับอย. เพื่อการจ้างผลิตหรือการจัดซื้อกัญชา 7.หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย และ 8.ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทางการแพทย์
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ