Lifestyle

ตลาดแรงงานไทยยุคดิสรัปชั่น"ปรับตัว-พัฒนา"รับอุตสาหกรรมใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -



          เมื่อพูดถึงยุคดิสรัปชัน หลายคนเริ่มหวาดกลัวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้วยเกรงว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่คน หรือมีการลดอัตราการจ้างงานลง กลายเป็นสิ่งท้าทายของกลุ่มแรงงานในการเพิ่มทักษะใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมกำลังค้นหาแรงงานเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่ดีกว่าเดิม

 

 

          วานนี้ (20 ก.พ.) มร.ไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวในงานแถลงข่าว มุมมองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานประเทศไทยและต่างประเทศ ว่าจากสถานการณ์ตลาดแรงงานทั่วโลกที่อยู่ในช่วงชะลอตัวจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา แม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ก็ยังอยู่ในช่วงเลือกตั้งทำให้หลายฝ่ายยังมีความกังวล

 

 

ตลาดแรงงานไทยยุคดิสรัปชั่น"ปรับตัว-พัฒนา"รับอุตสาหกรรมใหม่

มร.ไซมอน แมททิวส์

 


          “ปัจจุบันสถานการณ์แรงงานในไทยขาดคนที่มีทักษะในการทำงานที่ดี การลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor Development (EEC) อย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และการกำหนดนโยบายการปฏิรูประดับประเทศโดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่เป็นการพัฒนาและต่อยอดกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีศักยภาพ แรงงานจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อตอบโจทย์นโยบายดังกล่าว”


          “หากถามว่าแรงงานไทยจะไปสู้ต่างชาติได้อย่างไร สิ่งที่ต้องพัฒนานอกจากทักษะเฉพาะต่างๆ แล้ว ไทยต้องพัฒนาทักษะเรื่องภาษาด้วย เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์ ฝีมือแรงงานเราสู้เขาได้ แต่เสียเปรียบด้านภาษาเท่านั้น” มร.ไซมอน กล่าว

 

 

 

ตลาดแรงงานไทยยุคดิสรัปชั่น"ปรับตัว-พัฒนา"รับอุตสาหกรรมใหม่

 


          จากผลสำรวจกลุ่มลูกค้าของแมนพาวเวอร์ 1,753 บริษัท พบว่าอัตราความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมีสัดส่วนความต้องการจัดเป็น 10 อันดับ ดังนี้ 1.งานขายและการตลาด 22.65% 2.งานบัญชีและการเงิน 12.16% 3.งานวิศวกร และการผลิต 8.62% 4.งานไอที 8.11% 5.งานธุรการ 7.15% 6.งานบริการลูกค้า 6.39% 7.งานระยะสั้นต่างๆ 6.28%8. งานระดับผู้บริหาร 5.63% 9.งานทรัพยากรบุคคล 5.02% 10.งานโลจิสติกส์ 3.04%




          น.ส.สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า สำหรับปีนี้สายงานวิศวกรถือเป็นปีทองในทุกสาย แต่ที่น่าสนใจและเป็นม้ามืด คือวิศกรฝ่ายวิจัยและพัฒนา รวมถึงสายการผลิต ถึงแม้เราจะบอกว่าดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น แต่อย่างไรก็ตามพื้นฐานธุรกิจของไทยยังเป็นแบบดั้งเดิมอยู่ ดังนั้นพนักงานฝ่ายผลิตยังสำคัญ ในขณะที่ช่างบำรุงรักษาเป็นอาชีพที่เกิดใหม่มาแรง เพราะด้วยเครื่องจักรต่างๆ ที่เข้ามา ทำให้ตลาดต้องการแรงงานในส่วนนี้ รวมถึงด้านไอที งานเกี่ยวกับ Systems, Applications, and Products (SAP) / Enterprise Resource Planning (ERP) ในการจัดการระบบ และ Security System การดูแลข้อมูลในยุคเทคโนโลยีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน นอกจากนี้งานด้านโลจิสติกส์เองยังมีอัตราเติบโตสูงตามอีคอมเมิร์ชที่เกิดขึ้น

 

 

ตลาดแรงงานไทยยุคดิสรัปชั่น"ปรับตัว-พัฒนา"รับอุตสาหกรรมใหม่

สุธิดา กาญจนกันติกุล

 


          สำหรับในปี 2561 ประเทศไทยมีวัยแรงงาน (อายุ 15–60 ปี) ทั้งหมด 38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพราว 20 ล้านคน คนต่างด้าว 3 ล้านคน (ทำงานถูกกฎหมาย 2 ล้านคน และไม่ถูกกฎหมาย 1 ล้านคน) และคนว่างงานจำนวน 4 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของวัยทำงานทั้งประเทศ จะเห็นว่ายังมีสัดส่วนน้อยกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอัตราคนว่างงานกว่า 10% นอกจากนี้ถึงแม้ภาพรวมของสถานการณ์ตลาดแรงงานจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ในปี 2562 ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานลดลง 0.04% หรือราว 11,000 คนเมื่อเทียบกับปี 2561


          ทั้งนี้การสำรวจจากผู้สมัครงาน 120,837 คน พบว่า 10 สายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ได้แก่ 1.งานขายและการตลาด 22.57% 2.งานวิศวกร 13.42% 3.งานธุรการ 11.48% 4.งานทรัพยากรบุคคล 8.66% 5.งานบัญชีและการเงิน 8.57% 6.งานบริการลูกค้า 8.26% 7.งานโลจิสติกส์ 6.42% 8.งานไอที 4.73% 9.งานระดับผู้บริหาร 4.18% และ 10.งานด้านการผลิต 4.14%

 

 

ตลาดแรงงานไทยยุคดิสรัปชั่น"ปรับตัว-พัฒนา"รับอุตสาหกรรมใหม่

 


          สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 8 อันดับ คือ 1.ธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ ค้าปลีกค้าส่ง บริการเฉพาะกิจ และที่ปรึกษาด้านต่างๆ 2.ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 3.ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 4.เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร อาหาร เครื่องดื่ม การเกษตร 5.สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ส่วนตัว เวชภัณฑ์ ของใช้ในครัวเรือน สำนักงาน แฟชั่น 6.ธุรกิจการเงิน ธนาคาร ประกันภัยและประกันชีวิต เงินทุนและหลักทรัพย์ 7.อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง และ 8.ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานและสาธารณูปโภค


          นอกจากนี้หากแบ่งระดับแรงงานตามความต้องการของตลาด จะพบว่าแรงงานทั้งในระดับผู้บริหารระดับสูง ระดับพนักงานหรือผู้บริหารระดับกลาง และระดับปฏิบัติการ จะเป็นที่ต้องการของ “ภาคอุตสาหกรรม” และ “การบริการ” มากที่สุด

 

 

ตลาดแรงงานไทยยุคดิสรัปชั่น"ปรับตัว-พัฒนา"รับอุตสาหกรรมใหม่

 

 


          น.ส.สุธิดา กล่าวเพิ่มเติม ถึงทิศทางตลาดแรงงานในปี 2562 ว่า ด้านตลาดแรงงาน จะเห็นว่าธุรกิจต่างๆ เปิดโอกาสในการทำงานกว้างขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงสามารถขึ้นเป็นผู้บริหารได้ การจ้างงานคนพิการรวมถึงผู้เกษียณอายุที่ผันตัวเองมาเป็นที่ปรึกษา และเด็กจบใหม่ หลายองค์กรรับคนเข้าทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่กำหนดไว้ ดังนั้นเด็กจบใหม่หากไม่เลือกงานจะมีงานทำแน่นอน ด้านแรงงาน มีพ.ร.บ.อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 19 สาขาวิชาชีพ อาทิ กลุ่มช่างเครื่องกล ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงความนิยม Gig Economy หรือธุรกิจขนาดเล็ก เกิดการพัฒนาทักษะด้านฝีมือแรงงาน รวมถึงด้านภาษา และดิจิทัล


          ด้านภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ไม่ว่าการส่งออก การเกษตร การบริการอยู่ในเกณฑ์ดี มีการเน้นในอุตสาหกรรม S-Curve และตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ ด้านภาคการศึกษา มีการปรับหลักสูตร และพัฒนาอาชีวศึกษาเข้ามาเติมในด้านแรงงาน รวมถึงการลงทุนของภาครัฐทั้ง Mega Project, Mega Trend, EEC และ Election

 

          “ยุคดิสรัปชั่น ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างที่หลายคนกลัว ทุกสิ่งทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป เพียงแค่ว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดสิ่งที่ดี เพราะงานที่หายไปน้อยกว่าตำแหน่งใหม่ที่เข้ามาทดแทน แม้แต่งานหนังสือที่คนมองว่ากำลังจะหายไป แต่ทุกวันนี้หลายคนก็ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษอยู่” น.ส.สุธิดา กล่าวทิ้งท้าย

 

          8 ธุรกิจที่ต้องการแรงงานสูง
          1. ธุรกิจการบริการ
          2. ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม
          3. ธุรกิจด้านเทคโนโลยี
          4. เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
          5 . สินค้าอุปโภคบริโภค
          6. ธุรกิจการเงิน
          7. อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
          8. ทรัพยากรธรรมชาติ


          ภาพรวมตลาดแรงงานไทย ปี 2561
          วัยแรงงานอายุ 15-60 ปี จำนวน 38 ล้านคน
           - ในจำนวนนี้มีแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน
          - แรงงานต่างด่าว 3 ล้านคน แบ่งเป็น ถูกกฎหมาย 2 ล้านคน และไม่ถูกกฎหมาย 1 ล้านคน
          - ผู้ว่างงาน 4 แสนคน หรือไม่ถึง 1% ของวัยแรงงาน
          ที่มา : แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ