Lifestyle

อยากให้ลูกโตมาเป็นคนแบบไหน พ่อแม่วางแผนได้ตั้งแต่0-8ขวบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] -

 

 

          พ่อแม่อยากให้ลูกเกิดมาแล้วโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหน เป็นคนดี ไม่เอาเปรียบคนอื่น ก็ต้องสอนตั้งแต่เด็กๆ ให้ลูกได้เรียนรู้ในสิ่งจะปลูกฝังให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ดังนั้นการศึกษาในวัยเด็กหรือที่เรียกว่า “ปฐมวัย” จึงมีความจำเป็นเพราะเป็นช่วงที่สมองกำลังมีการเจริญเติบโต 0-8 ขวบเป็นช่วงที่เหมาะสมที่ บ้านและโรงเรียนต้องร่วมมือกันสอนเด็กคนหนึ่งให้เป็นผู้ใหญ่อย่างที่บอกว่า “เป็นคนดี” เพราะหลังจากนั้น เขาจะเป็นตัวของตัวเองและมีพัฒนาการการเรียนรู้ชีวิตด้วยตัวของเขาเองแล้ว

 

 

          ดังนั้นการเลือกโรงเรียนอนุบาล จึงมีความสำคัญมากในการลงทุนของพ่อแม่ ซึ่งโรงเรียนอนุบาลในเมืองไทยก็มีหลากหลายแนวให้เลือกเช่นกันตามความต้องการของพ่อ แม่ และกำลังจ่าย ไม่ว่าจะเป็นแนวมอนเตสเซอรี่ ที่เน้นให้ความสำคัญกับผู้เรียนเด็กๆ ได้เรียนรู้การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นด้วยความสุข สมวัย

 

 

อยากให้ลูกโตมาเป็นคนแบบไหน พ่อแม่วางแผนได้ตั้งแต่0-8ขวบ


          แนววิถีพุทธ ที่ส่งเสริมพัฒนาการตามธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งและเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว หรือแนวบูรณาการ ทั้ง 4 ด้าน คือร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา ควบคู่กับสร้างความสมดุลกับเด็กๆ ไปพร้อมๆ กัน รวมทั้ง แนววิถีพุทธปัญญา บ่มเพาะชีวิตเด็กให้ เติบโตไปเป็นคนที่สามารถพึ่งตัวเองได้ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างประโยชน์สุขต่อส่วนรวม พร้อมจะอยู่ร่วมกับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลง หรือแนวการศึกษาแบบโครงการ ให้เด็กฝึกทักษะจากสื่อหลากหลาย และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามความพร้อมของเด็กแต่ละคน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคนในทุกด้าน


          “เด็กทุกคนมีพลังในการเรียนรู้สูง อยากรู้อยากเห็น ดังนั้น พ่อแม่ ครูต้องเคารพสิทธิของเขาให้เด็กได้เรียนรู้ เพราะทุกคนมีพลังตั้งแต่เกิดมา อย่าไปปิดกั้น คอยเป็นโค้ชดูแลพวกเขาให้เติบโตไปตามวัยอย่างสวยงามและเหมาะสม” ครูก้า กรองทอง บุญประคอง ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตตเมตต์ ที่เน้นสอนแบบบูรณาการ กล่าว




          เธออธิบายว่า โรงเรียนจิตตเมตต์มีเป้าหมายชัดเจนในการทำการศึกษาเพื่อให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตของเด็กๆ ทั้งชีวิต มิใช่เพียงเพื่อให้สอบเข้า ป.1 ที่ไหนได้ ช่วงอายุ 0–8 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด โตขึ้นเขาจะเป็นคนอย่างไร มีวิธีมองโลกอย่างไรก็วัยนี้ เป็นหน้าที่ของโรงเรียนและบ้านต้องมีส่วนร่วมกันในการปลูกฝังให้แก่เด็กวัยดังกล่าว เพราะโรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาได้ตามลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทางบ้าน ดังนั้นก่อนจะรับนักเรียน จึงต้องได้พบปะสัมภาษณ์พ่อแม่และร่วมกันทำโรงเรียนพ่อแม่ก่อน จากนั้นจะประกาศรับนักเรียน ซึ่งคนที่ไม่ได้เข้าเรียนจะมีหลักในการดูแลลูกปฐมวัยได้ในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะไปเรียนที่ไหนถ้าเขามีหลักในการเลี้ยงดูส่งเสริมเด็กก็จะได้รับการเคารพเช่นกัน


          โรงเรียนจิตตเมตต์ ได้รับแนวคิดและรูปแบบการศึกษาจากอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ที่ให้เคารพความเป็นเด็ก และเชื่อในศักยภาพของเด็ก และพัฒนาทักษะของเด็กให้ครบถ้วนทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา ทำให้เขาเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีคุณค่าต่อตนเอง ผู้อื่น ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ต้องมองทั้งธรรมชาติของวัยและธรรมชาติของเด็กแต่ละคนเป็นหลักด้วยแนวคิด และที่มาของหลักสูตรการเรียนแบบบูรณาการ


          อย่างไรก็ตาม โรงเรียนไม่สามารถพัฒนาเด็กได้ตามลำพัง ต้องทำงานร่วมกับพ่อแม่ ซึ่งมีคนสนใจส่งลูกมาเรียนค่อนข้างมาก แต่ไม่สามารถรับได้ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเขามีความตั้งใจและก้าวเข้ามาแล้ว จึงได้เชิญคุณครูอังคณา มาศรังสรรค์ มาเพื่อทำห้องเรียนพ่อแม่ ให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์ต่อความเป็นพ่อแม่ เป็นแนวทาง หรือสติเพื่อใช้ในการเลี้ยงลูก


          “เราขอให้ทุกคนผ่านกระบวนการห้องเรียนพ่อแม่ก่อน แล้วถึงจะประกาศผลการรับเด็กเข้าเรียน ส่วนเด็กที่จะเข้าเรียนที่นี่เราจะสัมภาษณ์พ่อแม่ถึงแนวคิดแนวปฏิบัติในการเลี้ยงดู สำหรับเด็กเราจะสำรวจพัฒนาการเพื่อดูต้นทุน ว่าเด็กอยู่ในกลุ่มที่เรียนด้วยกระบวนการที่เราจัดแบบปกติก็เพียงพอ หรือต้องจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่มีความเฉพาะเป็นรายบุคคล ที่เราต้องดูตรงนี้เพื่อต้องจัดสัดส่วนให้เหมาะกับศักยภาพของเราด้วย ที่จะทำให้เด็กทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด ในแต่ละปีเรารับนักเรียนใหม่ได้ประมาณปีละ 35 คนเท่านั้น”


          หลังจากเข้ามาเรียนแล้ว แต่ละห้องมีนักเรียนประมาณ 25 คน คุณครู 2-3 คน โดยนำเด็กเป็นที่ตั้ง ครูจะทำงานกันเป็นทีมทั้งฝ่ายปฎิบัติการ (ครูประจำชั้น) หรือคุณครูที่สอนวิชาพิเศษ ฝ่ายวิชาการที่ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน ต้องมาคุยกัน ทั้งเรื่องเป้าหมาย กิจกรรม หรือสถานการณ์ของแต่ละห้อง หรือปัญหาต่างๆ ที่บางครั้งอาจต้องมีการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ครูต้องทำหน้าที่เสมือนเป็นพ่อแม่ เป็นเพื่อนเล่น


          ครูก้า บอกว่า “เราเคารพในความเป็นเด็ก ที่เด็กจะเติบโตอย่างสมบูรณ์ในความเป็นตัวของตัวเอง และให้โอกาสแห่งการเติบโต ผ่านกิจกรรมที่เด็กชื่นชอบ เช่น การเล่น ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น เชื่อว่าเด็กมีศักยภาพเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้และพัฒนา เชื่อว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับความฝัน จินตนาการ เมื่อให้โอกาสซึ่งเป็นพลังแห่งการเรียนรู้ได้เรียนได้ทดลอง ได้ทำในสิ่งที่เขาสนใจใคร่รู้ จะให้เกิดการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด"


          ดังนั้นการเรียนในระดับปฐมวัย จึงเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยประถม หรือ ป.1 ซึ่งต้องจัดสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับปฐมวัยเพื่อเตรียมเด็กได้ก้าวขึ้นสู่บันไดทีละขั้นอย่างเหมาะสม ไม่ควรเน้นการสอบแข่งขัน แต่ให้เขาค่อยๆ เติบโตไปทั้งสมองและร่างกายจนกว่าจะถึง 8 ขวบ


          ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย อยู่ในขั้นการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการ รวมทั้งกำหนดให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็น 4 ช่วง ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงก่อนคลอด แรกเกิด ช่วงอายุ 3-6 ปี และช่วงอายุ 6-8 ปี หรือวัยรอยต่อกับประถมศึกษา พร้อมกำหนดหน้าที่ให้รัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีบริการและสวัสดิการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านสังคม อย่างมีคุณภาพ แก่เด็กปฐมวัย หญิงมีครรภ์ และบุคคลในครอบครัวของเด็กปฐมวัย อย่างทั่วถึงและเท่าเที่ยมกัน โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย

 

 

 

อยากให้ลูกโตมาเป็นคนแบบไหน พ่อแม่วางแผนได้ตั้งแต่0-8ขวบ


          โดยกำหนดให้การรับเด็กปฐมวัยเพื่อเข้ารับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยวิธีการสอบคัดเลือกจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

 


          ปฐมวัยต้องไม่เน้นสอบแข่งขัน
          ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต และมีมติให้เสนอความเห็นต่อ สนช. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา

 

 

 

อยากให้ลูกโตมาเป็นคนแบบไหน พ่อแม่วางแผนได้ตั้งแต่0-8ขวบ


          โดย กสม.เห็นว่าโดยทั่วไปร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับรองสิทธิในการอยู่รอดและการได้รับการพัฒนาไว้หลายประการ รวมทั้งแนวคิดว่าด้วยการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้านการศึกษา (ยูเอ็น เอสดีจี4) โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กวัยนี้แบบองค์รวม ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

 

 

 

อยากให้ลูกโตมาเป็นคนแบบไหน พ่อแม่วางแผนได้ตั้งแต่0-8ขวบ


          การดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยของยูเนสโก เด็กปฐมวัย (Early childhood) หมายถึง เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปี หรือนับแต่วัยทารก วัยเรียนระดับอนุบาล จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 2


          นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยตามลำดับนั้น กสม.มีความเห็นว่า มาตรฐาน แนวปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ควรคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กและการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมในด้านต่างๆ ของเด็ก การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย ร่าง พ.ร.บ.นี้ควรมีมาตรการหรือแนวปฏิบัติอื่นที่เป็นหลักประกันว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนระดับประถมศึกษาจะไม่ใช้การสอบแข่งขันในระหว่างที่เด็กอยู่ในสถานพัฒนาดังกล่าวหรือในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา

 


          โรงเรียนอนุบาลทางเลือก
          *แนวแนวการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม(holistic education) เน้นให้เด็กๆ กิน-อยู่-ดู-ฟัง ให้เป็น ด้วยการเรียนรู้ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือ อย่างเป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย


          * แนวมอนเตสเซอรี่ เน้นให้ความสำคัญกับผู้เรียน เด็กๆ ได้เรียนรู้การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นด้วยความสุข สมวัย มีความยืดหยุ่น สงบ ฝึกแก้ปัญหาความขัดแย้ง และให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนรอบข้าง

 

 

อยากให้ลูกโตมาเป็นคนแบบไหน พ่อแม่วางแผนได้ตั้งแต่0-8ขวบ


          * แนววิถีพุทธ ผสมผสานนวัตกรรมการสอนต่างๆ ส่งเสริมพัฒนาการตามธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพสูงสุดเป็นรายบุคคล การเรียนรู้อาศัยการบ่มเพาะและซึมซับผ่านกิจวัตรประจำวัน ที่สร้างให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาความรู้ความสามารถจากการปฏิบัติจริงจนชำนาญ สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งและเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว


          ** แนวบูรณาการ ให้ความสำคัญว่าเด็กต้องมีพัฒนาการครบทั้ง 4 ด้าน คือร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา ควบคู่กับสร้างความสมดุลกับเด็กๆ ไปพร้อมๆ กัน จึงบูรณาการการสอนไปตามธรรมชาติ ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีความสุข เห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น เห็นคุณค่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผสมผสานนวัตกรรมการเรียนรู้ ด้วยความเข้าใจธรรมชาติของเด็กเป็นหลัก

 

 

อยากให้ลูกโตมาเป็นคนแบบไหน พ่อแม่วางแผนได้ตั้งแต่0-8ขวบ


          ** แนววิถีพุทธปัญญา ต้นแบบในการบ่มเพาะชีวิตเด็ก ครู และผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นคนที่สามารถพึ่งตัวเองได้และมีเพื่อนที่ดี เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างประโยชน์สุขต่อส่วนรวม พร้อมจะอยู่ร่วมกับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลง


          * แนวการศึกษาแบบโครงการ เน้นกิจกรรมในห้องเรียนมีการเรียนรู้หลากหลายอย่างเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน เด็กสามารถเลือกตามความสนใจเป็นส่วนใหญ่ แต่ครูจะชักชวนให้เด็กฝึกทักษะจากสื่อหลากหลาย และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามความพร้อมของเด็กแต่ละคน ทั้งเป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก และรายบุคคลสลับกันไป โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคนในทุกด้าน เน้นให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข กล้าพูดกล้าแสดงออก รักการเรียนรู้ ริเริ่มสร้างสรรค์ และมีคุณธรรมประจำใจ


          ** แนวการศึกษาแบบนีโอฮิวแมนิสต์ใช้หลักมนุษยนิยมในการสอน ซึ่งยกย่องให้มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ช่วยพัฒนาศักยภาพแฝงเร้น ที่มีอยู่ในตัวคนเราให้แสดงออกมาได้อย่างสูงสุด โดยเฉพาะทำให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เน้นการพัฒนา 4 ด้าน คือร่างกาย จิตใจ ความรักความมีน้ำใจ และวิชาการ อย่างสมดุล จะช่วยขัดเกลาให้เด็กเติบโตอย่างมีความมั่นใจ ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ และก้าวสู่ความสำเร็จ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ