Lifestyle

ปันน้ำใจ"รุ่งเรืองอุปถัมภ์"ลดเหลื่อมล้ำคนจนเมืองใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] -


 

          นักเรียนที่เข้าโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานคนที่มาขายแรงงานในเมืองหลวง บางคนไม่มีพ่อแม่  ปู่ย่าตายายและคนที่รับเลี้ยงเป็นคนพามาเข้าโรงเรียน บางคนครูที่รับนักเรียนต้องรับเข้าเรียนทั้งๆ ที่ไม่มีผู้ปกครองด้วยซ้ำ แถบไม่น่าเชื่อว่าโรงเรียนในเมืองใหญ่กลับมีสภาพของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เห็น

 

 

          ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นของโรงเรียนโรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์ไม่ได้มาจากความขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน  ตำราเรียน อาหารกลางวัน  เพราะสิ่งเหล่านี้ได้รับการดูแลจากต้นสังกัดอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดสรรงบประมาณตามรายหัวให้นักเรียนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดแคลนคือหนังสืออ่านเบ็ดเตล็ด หนังสือส่งเสริมการอ่าน หนังสืออ่านประกอบเพิ่มเติมจากตำราเรียน โดยเฉพาะหนังสือเข้าห้องสมุด เพื่อส่งเสริมการอ่าน 

 

 

 

ปันน้ำใจ"รุ่งเรืองอุปถัมภ์"ลดเหลื่อมล้ำคนจนเมืองใหญ่

 


          เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จึงได้ร่วมกับศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จัดโครงการแบ่งปันหนังสือเพื่อน้องให้แก่โรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์  โดยมีนางวนิดา ทองดี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์ ที่พานักเรียน 3 คนที่กำลังเรียนชั้นป.5 ด.ญ.ณัฐนันท์ แซ่ตั๊น ด.ญ.สุนิสา เพ็ชรุจิ และด.ช.เจษฎา คงปรีชา มารับมอบ พวกเขาทั้ง 3 คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดีใจมากที่ได้หนังสือมากมายไปเข้าห้องสมุด 
   

          สำหรับโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 103/1 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 สังกัดกรุงเทพมหานคร มีนักเรียน 739  กว่าคนในจำนวนนี้มีนักเรียนห้องเรียนพิเศษ 3 ห้อง รวมทั้งหมด 28  คน มีครูรวมผู้บริหาร พี่เลี้ยงและพนักงานสถานที่รวม 35 คน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องการอุปกรณ์การเรียนการสอน กีฬา และของเล่นส่งเสริมพัฒนาการอีกมากเพราะโรงเรียนเปิดสอนระดับอนุบาล
   

 

 

ปันน้ำใจ"รุ่งเรืองอุปถัมภ์"ลดเหลื่อมล้ำคนจนเมืองใหญ่

 

 

          รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์ เล่าว่านักเรียนที่มาเรียนโรงเรียนแห่งนี้ส่วนใหญ่ฐานะยากจน พ่อแม่ทำงานรับจ้างก่อสร้างตามไซต์งานต่างๆ บางทีก็ย้ายไปตามโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้เด็กนักเรียนบางคนต้องย้ายตาม หรือบางคนก็อาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย และมาเข้าเรียนสังกัด กทม.เนื่องจากมีสวัสดิการเรียนฟรี ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม 


   
          หลังเรียนจบม.3 นักเรียนเกินครึ่งจะเรียนต่อสายอาชีพที่อยู่ในละแวกเดียวกัน หรือบางคนออกไปทำงาน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงต้องเน้นให้นักเรียนมีทักษะด้านวิชาการควบคู่อาชีพ สื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ อย่างคอมพิวเตอร์ จึงมีความจำเป็นเพื่อใช้ในการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้อาชีพใหม่ในโลกอนาคต รวมทั้งการเรียนการสอนภาษาอังกฤษซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง 

 

 

 

ปันน้ำใจ"รุ่งเรืองอุปถัมภ์"ลดเหลื่อมล้ำคนจนเมืองใหญ่

 


          "ปัจจุบันโรงเรียนมีความร่วมมือกับมศว ทำโปรแกรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองมาให้นักเรียน ป.4-6 เรียนภาษาอังกฤษ จากนั้นจะประเมินการเรียนรู้ว่าได้ผลหรือไม่อย่างไร โดยเวลาที่เข้าเรียนจะมีครูสอนภาษาอังกฤษช่วยดูแล แต่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับนักเรียนที่ต้องการเข้าไปใช้ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากนัก ถ้ามีอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้นก็น่าจะมาสามารถช่วยให้นักเรียนได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น" รองวนิดา กล่าว 


          หลังจากได้รับบริจาคหนังสือเข้าห้องสมุดไปแล้ว “ครูละอองดาว หาชื่น” ครูการศึกษาพิเศษ ที่ดูแลห้องสมุดและนักเรียนได้พากันจัดหนังสือเข้าตระกร้าหนังสือในโครงการส่งเสริมการอ่านกับพิซซ่า  ให้นักเรียนอ่านหนังสือแล้วสะสมสติกเกอร์แล้วนำไปแลกพิซซ่าเดือนละ 1 ครั้ง เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการอ่าน ช่วยให้นักเรียนอยากเข้าห้องสมุดและอยากอ่านหนังสือ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างดี

 

 

 

ปันน้ำใจ"รุ่งเรืองอุปถัมภ์"ลดเหลื่อมล้ำคนจนเมืองใหญ่

 


          ครูละอองดาว บอกว่าหนังสือที่ได้รับแบ่งปันมาจากโครงการแบ่งปันหนังสือเพื่อน้องเป็นหนังสือที่ดีมาก นอกจากนี้ยังมี  ตุ๊กตา ของเล่นที่จะนำไปให้นักเรียนระดับอนุบาลได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย 


          ทว่าสื่อการเรียนการสอนสมัยนี้มีมากมายหนังสืออย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ “วิสิทธิ์ ใจเถิง” ผอ.ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า การบริจาคหนังสืออย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ถ้าเป็นไปได้อยากจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ภาคเอกชน  รวมทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ บริจาคอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เพราะทุกวันนี้สื่อการเรียนการสอนทุกอย่างมีในโลกออนไลน์ นักเรียนสามารถค้นคว้าได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งจัดติวทางวิชาการให้โรงเรียนที่ขาดแคลนในต่างจังหวัดเพื่อเป็นการเชื่อมโยงชนบทกับในเมืองให้เข้าด้วยกัน 
   

 

 

ปันน้ำใจ"รุ่งเรืองอุปถัมภ์"ลดเหลื่อมล้ำคนจนเมืองใหญ่

 

 

          "ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญการจัดการศึกษาและแบ่งปันองค์ความรู้เหล่านี้ให้แก่น้องๆ ที่อยู่ในชนบทให้มากขึ้น โรงเรียนดังๆ ภาคเอกชนที่มีกำลังจ่ายควรจะมาร่วมมือกันเพื่อแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน เช่นโรงเรียนดังในเมืองหลวงไปจัดติววิชาการให้น้องๆ ที่ จ.นราธิวาส อย่างนี้เป็นต้น เป็นการเชื่อมโยงกันให้คนในเมืองมองเห็นต่างจัังหวัด เป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสอนเรื่องการแบ่งปันการให้ไปในตัวด้วยเป็นการช่วยให้การศึกษาเข้าถึงคนได้ทุกระดับชนชั้น" ผอ.ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าว
 

          ขณะที่ “อนุสรณ์ ฉิมบ้านไร่” ผอ.อาวุโสฝ่ายยุทธศาสตร์ดิจิทัล บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์เป็นโรงเรียนขนาดเล็กๆ อยู่ใกล้วิทยาลัยพณิชยการบางนา ที่เขาสำเร็จการศึกษา จึงได้เลือกโรงเรียนแห่งนี้เข้าร่วมโครงการ เพราะมีความเหมาะสม ซึ่งเป็นนโยบายบริษัท เนชั่นฯ จะดำเนินการโครงการเพื่อแบ่งปันน้ำใจให้โรงเรียนที่ขาดแคลนอย่างต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี

 

 

 

ปันน้ำใจ"รุ่งเรืองอุปถัมภ์"ลดเหลื่อมล้ำคนจนเมืองใหญ่

 


          “วิมลพรรณ คำประชา” รองกรรมการผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีพันธมิตรที่ร่วมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงเรียนบดินทรเดชา ( สิงห์ สิงหเสนี ) ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ และสำนักพิมพ์ พ.ศ.พัฒนา เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไทยรู้จักแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรู้จักแสดงน้ำใจแก่เพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ตลอดจนเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนให้ได้รับหนังสือดีมีคุณค่า
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ