Lifestyle

ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5ลดได้ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ที่ต้นตอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  หทัยรัตน์  ดีประเสริฐ [email protected] 


 


          ต้องลุ้นกันว่าผลการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.)ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จะกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา พีเอ็ม 2.5 ระยะเร่งด่วน หรือไม่อย่างไร หนึ่งในนั้นก็คือมาตรการให้หน่วยงานภาครัฐ พิจารณาการทำงานที่บ้านและขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้านเช่นเดียวกัน เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์นั่นเอง เพราะหากทำได้ก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยปริมาณรถยนต์ในท้องถนนลดลงนั่นเอง

 

 

ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5ลดได้ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ที่ต้นตอ

 

 

          ว่ากันว่าการประชุมวันนี้ยังจะมีการพิจารณามาตรการห้ามรถยนต์ที่มีมลพิษสูงวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลางและชั้นนอก มาตรการเร่งรัดให้นำน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำกว่า 10 พีพีเอ็ม (เทียบเท่า ยูโร 5) มาจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาการทำงานที่บ้านและขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้านเช่นเดียวกัน เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์และการบังคับใช้คำสั่งห้ามใช้


          รวมทั้งส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาว ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันไม่เกิน 10 พีพีเอ็ม (เทียบเท่ามาตรฐาน ยูโร 5) 2.ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ยูโร 6

 

 

 

ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5ลดได้ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ที่ต้นตอ

 


          3.ปรับปรุงค่ามาตรฐานพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ WHO Interim target-3 4.เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก. ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ 5.ปรับปรุงวิธีการและระยะเวลาการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี 6.ควบคุมการนำเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนแทนเครื่องยนต์เก่าในรถยนต์ และ 7.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้ง Diesel Particulate Filter (DPF) ในรถยนต์ใช้งานอีกด้วย 


          ทั้งหมดที่ดำเนินการก็เพราะต้องการลดพีเอ็ม 2.5 (Particulate Matters) มาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากวิกฤติฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงปลายปี 2561 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2562 ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ค่าพีเอ็ม 2.5 เป็นสีส้มหรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและสีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันย้อนหลังไป 8 ปีปริมาณฝุ่นจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และอยู่ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานเช่นกัน

 

 

ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5ลดได้ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ที่ต้นตอ

 



          จากรายงานโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2561 ระบุว่า การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2561 เกินเกณฑ์มาตรฐาน ในช่วงปลายปีเดือนธันวาคม และต้นปีเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ซึ่งจากการตรวจวัดพีเอ็ม 2.5.ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) 40-50 วันต่อปี


          ประลอง ดำรงค์ไทย  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า แหล่งเกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จากรถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ 60% ซึ่ง กทม.มีรถยนต์ดีเซลจำนวน 2.5 ล้านคัน และรถยนต์ทั่วไป 9.8 ล้านคัน การเผาในภาคเกษตร 35% และจากภาคอุตสาหกรรม 5% อีกทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเกือบทั่วพื้นที่ มีตึกสูงใหญ่สภาพอากาศไม่ปลอดโปร่ง ส่งผลให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน


          ทั้งนี้ข้อมูลกรมขนส่งทางบก จำนวนรถจดทะเบียนในกรุงเทพฯ ปี 2560 มีประมาณ 5.5 ล้านคัน (เฉพาะรถยนต์นั่งและรถบรรทุกส่วนบุคคล) แบ่งเป็น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน 4,242,556 คัน ใช้เบนซิน 2,655,581 คัน ดีเซล 921,886 คัน อื่นๆ 665,089 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคล 1,322,841 คัน ใช้เบนซิน 36,786 คัน ดีเซล 1,181,886 คัน อื่นๆ 104,169 คัน คิดเป็นสัดส่วนทั้งหมด รถเบนซิน 48% รถดีเซล 38% และรถอื่นๆ 14% ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยมี 1.4 แสนโรง เป็นโรงงานจำนวนพวกที่ 2 และ 3 ตาม พ.ร.บ.โรงงาน ส่วนจำนวนนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมมี 87 แห่ง

 

 

ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5ลดได้ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ที่ต้นตอ

 


          ซึ่งฝุ่นจิ๋วพวกนี้มีผลต่ออายุขัยของมนุษย์ด้วย ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า พีเอ็ม 2.5 จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นของค่าเฉลี่ยรายปีของพีเอ็ม 2.5 ทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้ที่เกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น อายุขัยสั้นลง 0.98 ปี พื้นที่มีค่า 60 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป สั้นลงราว 5 ปี ค่า 50 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป สั้นลงราว 4 ปี ค่า 40 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป สั้นลง ราว 3 ปี


          ทั้งนี้หากสามารถลดค่าลงมาได้ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำที่ค่าเฉลี่ยรายปี 10 มคก./ลบ.ม. จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.53 ปี แต่หากลดลงมาเหลือ 15 มคก./ลบ.ม. อายุยาวขึ้น 4.37 ปี และลดเหลือ 25 มคก./ลบ.ม. อายุขัยเพิ่มขึ้น 2.41 ปี โดยประเทศไทยสถิติโรคที่ตายสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ มะเร็ง หลอดเลือดสมอง ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด และอุบัติเหตุ ซึ่ง 4 ใน 5 โรคเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ยกเว้นอุบัติเหตุ


          ผศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจากพีเอ็ม 2.5 แบ่งเป็นกระทบเฉียบพลัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น แน่นหน้าอก โอกาสหัวใจขาดเลือดมากขึ้น และกระทบระยะยาวต่อประชากรทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น เช่น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง สมองเสื่อม พัฒนาการเด็กช้า เป็นต้น

 

ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5ลดได้ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ที่ต้นตอ

 


          ทั้งนี้ ฮูกำหนดค่าพีเอ็ม 2.5 ที่ปลอดภัย ค่าเฉลี่ยรายวัน 25 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยรายปี 10 มคก./ลบ.ม. สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือปรับค่าเกณฑ์มาตรฐานพีเอ็ม 2.5 ลงตามที่ฮูกำหนด จะต้องเริ่มเตือนมีผลกระทบต่อสุขภาพ ระดับสีส้ม ตั้งแต่ค่าเฉลี่ยรายวัน 35.5 มคก./ลบ.ม. และสีแดงระดับอันตรายตั้งแต่ค่า 55.5 มคก./ลบ.ม. และฮูเคยแนะนำไทยให้ปรับค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. หากสามารถลดลงเหลือ 15 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มการอยู่รอดขึ้น 3% และลดเหลือ 10 มคก./ลบ.ม. เพิ่มการอยู่รอดขึ้น 4% หากควบคุมค่าพีเอ็ม 2.5 ไม่ให้เกินฮูกำหนด คนไทย 80% อายุขัยจะยืนยาวขึ้นราว 1-6 ปี ซึ่งประเทศไทยมีการกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีที่ 25 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายวันที่ 50 มคก./ลบ.ม. สูงกว่าค่าฮู 2 เท่ามาตั้งแต่ปี 2553


          จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรณีกรีนพีซ ประเทศไทย ได้เสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐานพีเอ็ม 2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยในปี 2562 จาก 50 มค.ก/ลบ.ม ลงมาที่ 35 มค.ก/ลบ.ม (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) และ 12 มค.ก/ลบ.ม (ค่าเฉลี่ย 1 ปี) และปี 2573 ลงมาที่ 25 มค.ก/ลบ.ม (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) และ 10 มค.ก/ลบ.ม (ค่าเฉลี่ย 1 ปี) แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเผชิญกับฝุ่นละอองเข้าสู่ปีที่ 9 ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย มีการตื่นตัวและมีเป้าหมายปรับลดค่าเฉลี่ยลงให้ใกล้เคียงกับฮู

 

 

ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5ลดได้ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ที่ต้นตอ

 


          “กรีนพีซพยายามผลักดันให้ปรับลดค่าเฉลี่ยมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ควรจะเป็นวาระแห่งชาติตั้งนานแล้ว และควรจะชาตินี้ด้วย การให้ข้อมูลแก่ประชาชนควรจะให้ครอบคลุมทั้งตัวเลขและความจริง ซึ่งตอนนี้ก็มีเครือข่ายหลายหน่วยงานที่ร่วมผลักดันในเรื่องนี้”


          สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงมากในเวลาอันใกล้นี้ที่รัฐบาลจะพิจารณาปรับค่ารายปีอยู่ที่ 15 มคก./ลบ.ม. ที่เป็นค่าเป้าหมายระยะที่ 3 ของฮู ใช้เป็นเป้าหมายในระยะ 5-6 ปีข้างหน้า จะส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย จากนั้นเมื่อสำเร็จตามเป้าระยะนี้แล้ว จึงค่อยขยับสู่เป้าระยะ 4 ของฮู ซึ่งเป็นค่าแนะนำที่ปลอดภัยที่สุด คือ 10 มคก./ลบ.ม. เนื่องจากในการตั้งเป้าแต่ละครั้งจะต้องเป็นการตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้
    

          ส่วนค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง ค่าที่ฮูแนะนำคือ 25 มคก./ลบ.ม.และค่าเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษคือ 50 มคก./ลบ.ม.นั้น ในช่วงเวลาปลายปีจนถึงต้นปีส่วนของพื้นที่กทม.ยังทำไม่ได้ บางวันยังมีค่าสูงถึง 100 มคก./ลบ.ม. จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการระยะเร่งด่วนเข้าไป เพื่อให้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ในระดับตามเกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษให้ได้


          ก่อนหน้านี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เคยร่างกฎหมายฉบับประชาชนชื่อ “กฎหมายว่าด้วยการรายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” เสนอให้รัฐบาลพิจารณา เพราะเป็นกฎหมายที่กว่า 50 ประเทศทั่วโลกใช้ และเห็นผลจริง แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นรัฐบาลใช้กฎหมายควบคุมมลพิษอย่างจริงจังกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการนำกฏหมายมาใช้ ในระยะแรกภาคเอกชนอาจจะต้องลงทุนเพิ่มในช่วง 2-3 ปีแรก แต่ระยะยาวจะคุ้มทุน ภาพลักษณ์โรงงานจะดีขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น


          การลดค่าพีเอ็ม 2.5 ตามที่ฮูแนะนำทำได้จริง ภาครัฐจะต้องเอาจริงกับมาตรการที่จะออกมา เข้มงวดกับการใช้รถที่ก่อมลพิษอย่างเด็ดขาด จะทำให้รถบนท้องถนนหายไปจำนวนมาก แต่ภาคเอกชนต้องลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย ประชาชนจะควักกระเป๋าจ่ายเงินเปลี่ยนรถใหม่ให้เครื่องยนต์สะอาดขึ้น รวมทั้งที่อยู่อาศัย คอนโดต้องมีที่กรองอากาศ การสร้างตึก อาคารต้องมีช่องว่างให้มีลมพัดผ่าน ประชาชนต้องร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับฝุ่น เหล่านี้จะทำให้ค่าพีเอ็ม 2.5 ลดลง แต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ