Lifestyle

คนไทยติดเค็ม22.05ล้านตายปีละ2หมื่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] -


 


          โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินเค็มที่เกินไปนำไปสู่ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคอื่นๆตามมา

 

 

          การสำรวจพบว่า คนไทยมีการบริโภคโซเดียมเกินค่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม(มก.) หรือ 1 ช้อนชาถึง 2 เท่า ปัจจุบันจึงมีคนไทยป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมติดเค็มถึง 22.05 ล้านคน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็ม 98,976 ล้านบาท จากโรคหัวใจและหลอดเลือดและไตวายระยะสุดท้าย

 

 

คนไทยติดเค็ม22.05ล้านตายปีละ2หมื่น

 


          เมื่อวันที่ 29 มกราคม ในการประชุมความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมาตรการลดโซเดียมในประเทศไทย ภายในการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดโดยองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมติดเค็ม 22.05 ล้านคน แยกเป็น โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน คิดเป็น 23.5 % โรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน หรือ 1.1% โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคนหรือ 1.4% และโรคไต 7.6 ล้านคน หรือ 17.5% โดยแต่ละปีคนไทยล้างไตเพิ่มขึ้นถึง 2 หมื่นคน หรือเพิ่ม 15% ต่อปี นอกจากนี้ การบริโภคโซเดียมที่เกินความต้องการทำให้คนไทยเสียชีวิตถึงปีละกว่า 2 หมื่นคน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มถึง 98,976 ล้านบาทต่อปี

 

 

 

 

คนไทยติดเค็ม22.05ล้านตายปีละ2หมื่น

 


          “คนไทย 1 ใน 3 รับประทานอาหารปรุงในบ้าน อีก 1 ใน 3 กินอาหารสตรีทฟู้ด ร้านอาหาร และ 1 ใน 3 กินอาหารสำเร็จรูปที่มีขายในร้านสะดวกซื้อ และมากกว่า 90% ของครัวเรือนบริโภคบะหมี่สำเร็จรูป โดยมีการบริโภคถึงวันละ 8 ล้านซอง ซึ่งมาตรการลดบริโภคเค็มนอกจากการให้ความรู้เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนแล้ว การกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมลงก็จำเป็น หนึ่งในมาตรการที่จะใช้กระตุ้นที่สำคัญคือ การใช้มาตรการทางภาษีและราคา ซึ่งจุดประสงค์ไม่ได้หวังรายได้เข้ารัฐ แต่ต้องการให้คนไทยกินเค็มน้อยลงและราคาถูก โดยอาหารที่มีความเค็มน้อยก็ไม่ต้องเสียภาษี เมื่อปรับสูตรแล้วต้นทุนก็จะลด ราคาขายก็จะลดลงด้วย


          ส่วนอาหารที่มีความเค็มสูงก็เก็บภาษีมาก เป็นการปกป้องประชาชนให้ลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง จะช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ต้องจ่ายไปในการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องกำหนดปริมาณโซเดียมในอาหารที่นำเข้าด้วย เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าอาหารนำเข้าบางชนิดมีปริมาณโซเดียมสูง อย่างเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ของไทยมีโซเดียมเฉลี่ยราว 1,500-2,000 มิลลิกรัม(มก.)ต่อซอง ซึ่งนับว่าสูงแล้ว แต่ของเกาหลีมีถึง 7,000 มก.ต่อซอง เป็นต้น” นพ.สุรศักดิ์กล่าว

 

 

คนไทยติดเค็ม22.05ล้านตายปีละ2หมื่น

 

 


          ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ฮูแนะนำปริมาณโซเดียที่ร่างกายควรได้รับต้องไม่เกิน 2,000 มก.หรือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน เนื่องจากการบริโภคโซเดียมที่มากเกินไปนำไปสู่ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และยังทำให้เกิดโรคไต กระดูกเปราะ และมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งการลดบริโภคเกลือหรือโซเดียมไม่เพียงแต่เป็นกลยุทธ์ที่ดีในการพัฒนาสุขภาพประชาชน แต่ยังให้ผลตอบแทนในการลงทุนถึง 12 เท่า เพราะทุก 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนในการลดโซเดียมจะได้ผลตอบแทนคืนกลับคิดเป็น 12 ดอลลาร์


          ด้าน น.ส.พเยาว์ ผ่อนสุข นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย โดยใช้กรอบมาตรการ SHAKE ที่มีการใช้เป็นมาตรการลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย ประกอบด้วย 5 มาตรการ คือ 1.การเฝ้าระวัง 2.สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 3.การติดฉลากแสดงปริมาณโซเดียม 4.การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ และ 5.การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

 

 

คนไทยติดเค็ม22.05ล้านตายปีละ2หมื่น

 

 


          ผลการศึกษา พบว่า มาตรการที่คุ้มทุนที่สุดคือ มาตรการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร โดยใช้งบประมาณ 5.3 ล้านบาท ผลต่อสุขภาพช่วยชีวิตคนถึง 32,670 คน และมีจำนวนปีสุขภาพดีถึง 1.45 แสนปี รองลงมาคือ มาตรการติดฉลากแสดงปริมาณโซเดียมใช้งบประมาณลงทุน 34.5 ล้านบาท ผลต่อสุขภาพช่วยชีวิตคน 31,190 คน จำนวนปีสุขภาพดี 1.3 แสนปี ตามด้วยมาตรการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารที่ต่อสุขภาพ ใช้งบ 10.5 ล้านบาท ผลต่อสุขภาพช่วยชีวิตคน 26,399 คน จำนวนปีสุขภาพดี 8.4 หมื่นปี และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการเฝ้าระวัง ตามลำดับ


          นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการทางกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้มีการดำเนินการในเรื่องลดบริโภคโซเดียม อาทิ ในปี 2561 มีการออกประกาศ อย.เรื่องการกำหนดประเภทอาหารที่จะต้องแสดงฉลาก GDA ที่ต้องมีค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ให้ประชาชนสามารถมองเห็นปริมาณได้ชัดเจนจาก 5 กลุ่มอาหาร เป็น 13 กลุ่มอาหาร 


          ได้แก่ อาหารขบเคี้ยว ช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์ขนมอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียวและต้องแช่แข็ง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ชาปรุงสำเร็จ กาแฟปรุงสำเร็จ นมปรุงแต่ง นมเปรี้ยว ผลิตภัณฑ์ของนม น้ำนมถั่วเหลือง และไอศกรีมพร้อมบริโภค

 

 

คนไทยติดเค็ม22.05ล้านตายปีละ2หมื่น

 


          นอกจากนี้ มีการแก้ไขประกาศในเรื่องค่าสูงสุดของปริมาณโซเดียมที่ต้องแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารต้องไม่เกิน 2,000 มก. ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 2,400 มก.


          “ในเรื่องการกำหนดค่าสูงสุดของปริมาณโซเดียมในอาหารนำเข้านั้น อย.ก็กำลังพิจารณาเรื่องนี้ แต่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยมีการหารือกับทุกภาคส่วน เพราะจะต้องดูว่าหากใช้มาตรการนี้แล้ว จะเป็นการกีดกันทางการค้าหรือไม่ด้วย ส่วนมาตรการทางภาษีนั้น หากจำเป็นต้องดำเนินการ อย.ก็พร้อมจะผลักดัน แต่มองว่าหากสามารถทำให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยการลดการกินเค็มลง ก็จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารปรับสูตรลดโซเดียมลงโดยอาจไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษี” นพ.พูลลาภกล่าว

 

 

คนไทยติดเค็ม22.05ล้านตายปีละ2หมื่น

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ