Lifestyle

ครูรุ่นใหม่คือครูที่พร้อมเปลี่ยนพร้อมเปิดใจผิดได้ แก้ไขเป็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ปาริชาติ บุญเอก [email protected] 


 


          ครูไม่ใช่ผู้วิเศษที่ไหน เป็นแค่คนคนหนึ่งที่ต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้และรู้จักแก้ไข


          ในความเป็นจริง ครูยังคงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ทำผิดได้ แต่ต้องรู้จักแก้ไข และเปิดใจเรียนรู้ สิ่งสำคัญที่สุด คือการรับรู้และยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง รู้จักเด็กๆ รู้จักระบบการศึกษา และทำหน้าที่เชื่อมโยงเด็กและนโยบาย ผ่านการสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ และสร้างพลังให้ตัวเองอยู่เสมอ

 

 

          เมื่อประสบการณ์การเป็นครูในระบบมากว่า 14 ปี ที่ต้องพบเจอกับการสอนในรูปแบบเดิมๆ ลัดดา เลิศศรี อาจารย์ประจำวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ วัย 42 ปี จึงตัดสินใจเดินหน้าปลุกไฟและหาความหมายให้ตัวเองอีกครั้ง ด้วยการเข้าอบรมในโครงการต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนครูที่เดินทางจากที่ต่างถิ่นรวมถึงเข้าร่วมโครงการ “ก่อการครู” ซึ่งจัดโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการจุดประกายไฟในตัวของเอง



          ลัดดา เล่าว่า หลังเรียนจบสายวิทย์-คณิต ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ก็ไปเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น และปริญญาโทสาขาเดียวกันและไปเป็นครูอาสาที่ร.ร.หมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี ทำให้ได้ซึมซับการเรียนการสอนกับเด็กๆ ที่นั่น จากนั้นไปเปิดร้านเครื่องปั้นดินเผา ที่ อ.ด่านเกวียน จ.นครราชสีมา ก่อนตัดสินใจมาทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติที่บ้านเกิดเมื่อปี 2547

 

          ปี 2561 เรียกว่าเป็นปีทองก็ว่าได้ เพราะได้ออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียนค่อนข้างมาก เชื่อว่าสิ่งสำคัญในชีวิตคือ การหาความหมายให้ตัวเอง การเข้าร่วมโครงการทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เรายังมีเพื่อนๆ ครูคนอื่นๆ อยู่ นี่คือสิ่งที่ตามหา พอได้เข้าอบรมเราได้ทั้งเพื่อนและเครือข่าย แต่สิ่งที่ได้มาและคุ้มค่าที่สุดคือ “พลัง” พลังที่เราต้องใช้ในการทำงานกับเด็กๆ เวลาเจอปัญหาทำให้เราใจเย็นและรู้ว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร
ทั้งนี้การอบรมแบ่งออกเป็น 3 โมดูล คือ 1.กิจกรรมที่ทำให้ครูได้กลับมาทบทวนตัวเอง รู้จักตัวเอง รู้จักเด็ก และรู้จักระบบของโรงเรียนตัวเองว่าเป็นอย่างไร และเราจะดำรงอยู่อย่างไรในฐานะที่เราเป็นตัวเชื่อมระหว่างนโยบายกับเด็ก 2.การเลือกเรียนรู้ 2 หลักสูตร โดยเราเลือกที่จะอบรมในด้านทักษะการพูดและการสร้างเกม ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กสนุก มีความรู้ และ 3.การกลับมาพบกันอีกครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรายิ่งเหนียวแน่นกับเพื่อนๆ เครือข่ายมากยิ่งขึ้น




          เพราะครูไม่ใช่ผู้วิเศษ
          ลัดดา กล่าวต่อไปว่า การเข้าร่วมโครงการ “ก่อการครู” สิ่งที่เรารู้คือครูไม่ใช่ผู้วิเศษที่ไหน เป็นแค่คนคนหนึ่งที่ต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้และรู้จักแก้ไข ดูแลตัวเอง ดูแลเด็กๆ ในห้องเรียนให้ดี กลับมาตระหนักรู้ว่าเราไม่ชอบอะไรก็อย่าทำอย่างนั้นกับเด็ก และพยายามทำการเรียนการสอนให้มีความหมาย ตัวครูเองก็รู้ความหมายในการถ่ายทอดความรู้ และตัวเด็กเองก็รู้ความหมายในการเรียน
จากแต่ก่อนที่เรายังมองไม่เห็นภาพตรงนี้ พาเด็กทำกิจกรรมต่างๆ เด็กก็ได้แค่กระบวนการ แต่พอเรานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสอนคณิตศาสตร์ ชวนเด็กตั้งคำถาม หรือสอนเรื่องความน่าจะเป็น โดยหยิบสิ่งใกล้ตัวเขา เช่น ตู้เสื้อผ้า ทำให้บางคนรู้ว่าตัวเองมีเสื้อผ้าเยอะมาก และสิ่งสำคัญคือ เราสามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น ในทุกครั้งที่สอนแล้วเด็กไม่ฟังหรือไม่เข้าใจ ทำให้เราเห็นตัวเองได้เร็วขึ้น และให้โอกาสเด็กได้มากขึ้น


          ครูคือคนที่พร้อมเปลี่ยน
          นิยามของครูรุ่นใหม่ไม่ได้หมายถึงครูเด็กๆ แต่เป็นครูที่สนใจอยากจะเปลี่ยนตัวเอง เราจะสังเกตว่าทุกการอบรมไม่ใช่ว่าได้แค่เทคนิค แต่เป็นการจุดประกายคุณค่าข้างในว่า การที่เขามาเป็นครู เขามาทำอาชีพนี้เพราะอะไร และที่เหลือจะชัดเจนเองในเรื่องของเครื่องมือ ว่าครูคนนั้นเขาจะตามหาเครื่องมืออะไรมาใช้ในการเรียนการสอนของเขา ครูทุกคนไม่เหมือนกัน ครูก็ไม่ต่างจากเด็ก เด็กมีความหลากหลาย ครูก็มีความหลากหลาย
 

          ดังนั้นครูที่เป็นครูรุ่นใหม่ที่ตามหาเรื่องเหล่านี้ก็คงจะตามหาเหล่านี้ได้ไม่ยาก ถ้าเขารู้สึกว่าอยากตามหาและอยากเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราเชื่อว่าถ้าเขาเปลี่ยน นักเรียนก็เปลี่ยน ถ้านักเรียนเปลี่ยน สังคมก็จะเปลี่ยน ต้องเริ่มต้นจากห้องเรียนเล็กๆ ของเรา


          “เวลาที่เราปลูกดอกไม้ ถ้าได้น้ำ ได้ดิน ได้แสงแดดเต็มที่ วันหนึ่งก็จะบาน การศึกษาก็เช่นกัน ถ้าเราดูแลเด็กอย่างสม่ำเสมอ อย่างเต็มที่ วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาของเขา เด็กก็จะเติบโต เหมือนดอกไม้ อยู่ที่ไหนก็บาน ไม่ว่าจะมีคนรับรู้หรือไม่ และเราต้องเชื่อในเรื่องนี้”


          “ครู” ทำให้รู้ความหมายชีวิต
          ลัดดา กล่าวถึงความรู้สึกในฐานะครูคนหนึ่งว่า “อาชีพนี้ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในแต่ละวัน เราไม่ได้เป็นผู้สร้างใคร แต่เราสร้างตัวเราเอง ถ้าเรามั่นคงพอ เราจะสามารถแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้แก่เด็กและคนอื่นได้ เราไม่ใช่ทั้งหมด แต่เราเป็นส่วนหนึ่ง อาจจะแค่คำพูดของเราบางคำ หรือกระบวนการของเราบางอย่าง ไปจุดประกายอะไรให้เด็ก เรื่องยิ่งใหญ่ที่เราต้องทำ คือทำเพื่อให้ตัวเองเติบโตบนวิถีของตัวเองและมองว่าเราใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีคุณค่าแค่ไหน”


          ส่งต่อพลังบวกสู่เพื่อนครู
          “ความจริงใน จ.ศรีสะเกษ มีครูหลายคนที่สนใจจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง และเข้าโครงการก่อการครูทั้งหมด 14 คน ซึ่งหลังจากเข้าโครงการกลับมาเรายังได้รวมกลุ่มกันก่อตั้ง “ก่อการครูอีสาน” จัดอบรมให้ครูใน จ.ศรีสะเกษ มาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และส่งต่อความรู้ต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้มา รวมถึงเชิญวิทยากรนอกเหนือจากระบบการศึกษา 


          เช่น นักเขียน มาอบรมในเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านให้เด็กๆ หรือรุ่นพี่ที่ทำงานในเรื่องเด็กพิเศษ มาให้ความรู้ในเรื่องศิลปะบำบัด รวมถึงครูที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยในเรื่องการประเมินต่างๆ ซึ่งมีครูที่สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน ทั้งนี้ในการเปิดอบรมครั้งต่อๆ ไป คาดว่าจะเปิดให้ครูที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงได้มีส่วนร่วมด้วย ครั้งนี้ถือเป็นจุดพีคของการเป็นครูเลยก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่ทำอาชีพนี้มานี่เป็นครั้งแรกที่เราได้แบ่งปัน” ลัดดา กล่าวทิ้งท้าย


          ศธ.จัดงานวันครูปี 62 
          สำหรับการจัดงานวันครูปี 2562 นี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับครูอย่างมาก โดยมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ ดังนี้ 
   

          กิจกรรมที่หนึ่ง พิธีคารวะครูอาวุโส โดยวันที่ 16 มกราคม มีพิธีคารวะครูอาวุโสของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีคารวะครูสมัยเรียนโรงเรียนนายร้อย จปร. ได้แก่ พล.อ.เกษม นภาสวัสดิ์ และมีพิธีคารวะครูอาวุโสของรมว.ศธ. โดยครูสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้แก่ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา 
  

          กิจกรรมที่ 2 การปาฐกถา และการเสวนาทางวิชาการ อาทิ ปาฐกถา หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครั้งที่ 2 เรื่อง “คุณธรรมนำครูไทย สร้างเด็กไทยหัวใจซื่อตรง” โดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
  

          และกิจกรรมที่ 3 การสรรหาผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2562 กิจกรรมที่ 4 การจัดทำอนุสรณ์งานวันครูไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง โดยทำมาตั้งแต่ต้น ก็คือการจัดพิมพ์หนังสือประวัติครูและการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกวันครู เพื่อพิมพ์เผยแพร่ในงานวันครู กิจกรรมที่ 6 พิธีมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 18 รางวัล จำนวน 1,349 คน
โดยปีนี้เป็นปีแรกที่จะมีการแถลงข่าวผลงานของกระทรวงศึกษาธิการในรอบ 4 ปี โดยผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการและจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการรอบ 4 ปี หัวข้อ “คุณธรรมนำครูไทย สานพลังเครือข่าย สร้างเด็กไทย ๔.๐” ซึ่งเป็นการรวมพลังจัดโดยองค์กรหลัก องค์กรในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรเครือข่าย เป็นนิทรรศการแบบมีชีวิต
   

          นำเสนอกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ธีม ประกอบด้วย ธีมที่ 1 คุณธรรมนำครูไทย ธีมที่ 2 สานพลังเครือข่าย และธีมที่ 3 สร้างเด็กไทย 4.0
  

          อย่างไรก็ตามการจัดงานวันครูอย่างยิ่งใหญ่ดังกล่าว คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานดังกล่าววันละไม่น้อยกว่า 13,000 คน รวม 3 วัน มีผู้ร่วมงานประมาณ 39,000 คน
    

          อนึ่ง ปัจจุบันมีครูที่เป็นหนี้โครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่ทางธนาคารออมสิน ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 425,751 คน เป็นเงิน 393,464.08 ล้านบาท จากเดิมมีครูเป็นหนี้ประมาณ 500,000 กว่าคน ส่วนเป็นหนี้ช.พ.ค.ธนาคารกรุงไทย จำนวน 11,093 คน เป็นเงิน 1,966.56 ล้านบาท และมีครูเป็นหนี้เสีย หรือเอ็มพีแอล มีหนี้ค้าง 3 งวด จำนวน 6,592 ราย เป็นเงิน 5,818.94 ล้านบาท

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ