Lifestyle

"มหิดล" สร้างเงินออมจาก"ขยะ"เปลี่ยนของเหลือทิ้งให้เป็นมูลค่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]


 

          นับเป็น 9 ปีแห่งความสำเร็จ สำหรับ โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล “Recycle Bank” มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้นโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University) จากการเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม สู่การสร้างจิตสำนึกในการแยกขยะ สร้างเงินออมจากของเหลือทิ้ง พร้อมขยายโมเดลความสำเร็จสู่โรงเรียนในชุมชนใกล้เคียง

 

 

          รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเยี่ยมชม “มหาวิทยาลัยมหิดล ตอกย้ำความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University)” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ว่า ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2552 ด้วยความร่วมมือระหว่างกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม และกองเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานอธิการบดี มหาวิยาลัยมหิดล พัฒนา “โปรแกรมธนาคารขยะรีไซเคิล” เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบธนาคารรีไซเคิลภายในมหาวิทยาลัย โดยตัวโปรแกรมสามารถทำธุรกรรมได้คล้ายระบบธนาคารทั่วไป เช่น การสมัครสมาชิก การรับฝาก การถอนเงิน และสามารถรายงานสรุปการทำธุรกรรมของทุกขั้นตอนได้ ทำให้จัดเก็บข้อมูลได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และแม่นยำ


           “ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้นักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงประชาชนรอบๆ มหาวิทยาลัยสามารถเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำขยะมาขายให้แก่โครงการทุกวันพฤหัสบดี โดยให้ราคารับซื้อมากกว่าร้านอื่นภายนอกมหาวิทยาลัยถึง 10% โดยราคาจะปรับทุกๆ 3 เดือน พร้อมสามารถเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำขยะมาขายให้แก่โครงการ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยทางธนาคารจะออกสมุดฝากขยะรีไซเคิล และจำนวนเงินฝากในวันนั้น ผู้ที่นำมาฝากสามารถถอนทันทีหรือจะฝากไว้เป็นเงินออมก็ได้ สมาชิกผู้ถือบัญชีที่มี Email Account ของมหาวิทยาลัยสามารถเข้าตรวจสอบบัญชีของตนเองได้ผ่านระบบของมหาวิยาลัย ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนา “โปรแกรมธนาคารขยะรีไซเคิล” สู่ระบบออนไลน์และแอพพลิเคชั่นอย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น”




          9 ปี กับขยะ 1.9 ล้านกิโลกรัม
          รศ.ดร.กิติกร กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณขยะรีไซเคิลที่สมาชิกนำมาฝากที่ธนาคารขยะ (ตัวเลขล่าสุดในเดือน ก.ย. 2561) กว่า 1,959,291.98 กิโลกรัม คิดเป็นยอดเงินรับฝากขยะรีไซเคิลจากสมาชิกเป็นจำนวนสูงถึง 10,382,550.43 บาท ยอดจำหน่าย 12,054,384.04 บาท และยอดรายรับ (กำไร) 1,671,533.66 บาท โดยประเภทขยะที่นิยมนำมาขายมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กระดาษขาวดำ A4 ยอดรวมกว่า 523,233.82 กิโลกรัม ถัดมา คือ กระดาษสมุดหนังสือ กระดาษรวม กระดาษเล่ม 391,582.65 กิโลกรัม และ กระดาษกล่องสีน้ำตาล 331,412.70 กิโลกรัม ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกว่า 1,000 คน และมีขาจรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่รับเงินสด 3,000–4,000 คน ซึ่งเราจะเปิดบัญชีต่างหากไว้สำหรับลูกค้าขาจร โดยสมาชิกที่มียอดฝากสูงที่สุดหลักแสนบาท คือ หน่วยงานศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก


          นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังถือเป็นการลดภาระปริมาณขยะแก่ชุมชนและสังคม เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวินัยในการแยกและทิ้งขยะให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย สร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและบุคลากรในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ลดภาระการจัดการขยะมูลฝอยและปัญหามลพิษ พร้อมพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรายได้จะนำเข้ากองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ในการดูแลสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในมหาวิทยาลัยต่อไป


          ขยายโมเดลสู่โรงเรียนชุมชน
          รศ.ดร.กิติกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดล ยังขยายความสำเร็จไปสู่ 8 โรงเรียนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะในระดับชาติ ทั้งนี้ หากชุมชนหรือโรงเรียนใดต้องการ “โปรแกรมธนาคารขยะรีไซเคิล” สามารถติดต่อมาที่มหาวิทยาลัยได้ จากการที่เราได้ลงพื้นที่โรงเรียน เด็กเขาจะเอาสมุดบัญชีมาโชว์กันว่าใครเก็บเงินได้มากกว่า เขาสนุกสนาน เพราะจิตสำนึกการแยกขยะต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ และสองคือ ทำให้เขารู้จักการออม ถ้าโมเดลนี้ขยายไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศจะเป็นเรื่องที่ดี


          “นี่คือ การใช้หลัก Circular Economy ถ้าเราแยกที่ต้นทางดี การจัดการขยะในขั้นต่อไปก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราแยกที่ต้นทางไม่ดี ประสิทธิภาพในการจัดการขั้นต่อไปก็จะน้อยลง ดังนั้น ที่นี่จึงต้องมีถังขยะอันตรายแยกแบตเตอรี่ สเปรย์ ต่างหาก รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในงานวิจัย ได้ถูกเก็บและตรวจสอบโดยศูนย์ความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย เพื่อให้แน่ใจว่าสารเคมีที่ถูกใช้แล้วจะไปที่บริษัทฝังกลบที่ได้มาตรฐาน ถ้าไม่ได้มาตรฐานเราไม่ยอม”


          นอกจากโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ซึ่งถือเป็น มหิดลโมเดล ภายใต้ความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ที่ขยายความสำเร็จสู่ชุมชนโดยรอบแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีโครงการที่โดดเด่นอื่นๆ อาทิ โครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก เน้นการใช้ถุงพลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปิดตัวมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี โดยทางมหิดลได้ขอความร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ 12 ร้านภายในมหาวิทยาลัย วิทยาเขตศาลายา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้า โดยให้ผู้ซื้อนำถุงผ้ามาเอง หรือเลือกบริจาคค่าถุงพลาสติกในราคา 2 บาท ส่งผลให้ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 90% หรือลดการใช้ถุงพลาสติกได้เกือบ 2 ล้านใบต่อปี ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำโมเดลนี้ไปใช้


          “รวมไปถึง โครงการปุ๋ยหมักชีวภาพ โดยการนำเศษใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า มาทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการดูแลรักษาภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัย และจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป ทำรายได้เข้ากองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยปีละกว่า 2 แสนบาท และ โครงการบำบัดน้ำเสีย โดยการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2557–ปัจจุบัน พบว่าสามารถนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมารีไซเคิลลดการใช้น้ำประปาได้ถึง 1,000 ลบ.ม.ต่อวัน ประหยัดค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยได้กว่า 27,000 บาทต่อวัน ซึ่งต่อไปในอนาคตเราจะเดินหน้าสู่โครงการที่เน้นในเรื่องสุขภาพ ลดการบริโภคน้ำตาล และลดเค็ม ภายในมหาวิทยาลัยต่อไป” รศ.ดร.กิติกร กล่าวทิ้งท้าย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ