Lifestyle

ก่อนจะถึงมือ"พาณิชย์"คุมค่ารักษารพ.เอกชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  0 พวงชมพู ประเสริฐ 0 [email protected] 




          หากไม่กำหนดการไม่เปลี่ยนแปลงวันที่ 22 มกราคมนี้ กระทรวงพาณิชย์จะนำมติของคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) ที่ให้เพิ่มบัญชีรายการสินค้าและบริการควบคุม อีก 1 รายการ คือ เวชภัณฑ์ จากเดิมที่มีเพียงยารักษาโรค เป็นสินค้าควบคุม ส่วนบริการควบคุมเพิ่มอีก 1 รายการ ได้แก่ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล เข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุม เสนอคณะรัฐมนตรี

 

 

          ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณากำหนดมาตรการในการดูแล มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงพาณิชย์(พณ.) สมาคมประกันภัย มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ได้ข้อมูลจากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสีย นำมากำหนดเป็นมาตรการให้ครอบคลุมและเป็นธรรมทั้งผู้รับบริการและโรงพยาบาลเอกชน


          เรื่องการควบคุมราคายารวมถึงการควบคุมค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชน อาจนับได้ว่าเป็นหนึ่งในเรื่องยาวนานของวงการสาธารณสุข เพราะก่อนหน้าที่จะถึงมือ พณ. จนมีการขยับดังกล่าว ก็ผ่านกลไกของ สธ. มานานหลายปี จนไม่มีช่องกฎหมายใดที่จะดำเนินการ ทำให้ต้องเข้าไปสู่ช่องของกรมการค้าภายใน แต่ก็นานเช่นกัน เพราะมิอาจปฏิเสธว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน กระทั่งขยับเข้าใกล้ “วันเลือกตั้ง” จึงมีท่าทีออกมาเด่นชัดขึ้น

 

 

 

ก่อนจะถึงมือ"พาณิชย์"คุมค่ารักษารพ.เอกชน

 


          เมื่อราวปี 2558 เคยมีการขยับเรื่องนี้มาแล้วเช่นกัน โดยเกิดขึ้นจากข้อมูลของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาล คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำรวจค่าใช้จ่าย 5 กลุ่มโรคในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐรวม 9 แห่ง พบว่า ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่ารัฐหลายเท่า โดยเฉพาะโรคไส้ติ่งอักเสบ, โรคหวัด, การผ่าต้อกระจก

 



          จนมีการตั้ง “คณะอำนวยการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาแพง” มติตอนนั้นให้ดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ราคายาให้จำหน่ายได้ไม่เกินราคาที่ติดมาจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายราคาเดียวกันทั่วประเทศเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ของ พณ. ซึ่ง สธ.จะส่งเรื่องการกำหนดราคายา ให้คณะกรรมการว่าด้วยสินค้าและบริการของ พณ. เพื่อออกประกาศใช้โดยเร็ว

 

          2.หากเห็นว่ายาในโรงพยาบาลมีราคาสูง สามารถนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยาได้ 3.ระบบการตรวจสอบอัตราค่ารักษาพยาบาลให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จัดทำเว็บไซต์รวบรวมอัตราค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบราคา ทราบข้อมูลล่วงหน้าก่อนไปรับบริการ และได้เปิดสายด่วนรับแจ้งปัญหาการรักษาพยาบาลทางโทรศัพท์ 0-2193-7999 และสายด่วน 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง และสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค 1166 ในเวลาราชการ


          ในช่วงเดียวกันมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 โดยต้องกำหนดให้การขึ้นทะเบียนยาต้องมีการรายงานโครงสร้างราคายาและข้อมูลสถานะสิทธิบัตร ซึ่งจะทำให้สามารถพิจารณาเรื่องการจัดทำราคายาที่เหมาะสม

 

 

 

ก่อนจะถึงมือ"พาณิชย์"คุมค่ารักษารพ.เอกชน

 


          แต่ก็ถูกหยุดไว้เพียงเท่านั้น เมื่อมีการตีกลับจากครม. เพราะยังมีปัญหาในเรื่องการกำหนดราคากลาง และการประกาศโครงสร้างราคายาระหว่างการขึ้นทะเบียนยา ซึ่งอาจไม่เป็นตามหลักสากล เพราะการขึ้นทะเบียนยาจะพิจารณาใน 2 เรื่อง คือ 1. ประสิทธิภาพของยาว่ามีผลในการรักษาโรคจริงหรือไม่ และ 2.เรื่องความปลอดภัย ซึ่งไม่มีการกำหนดให้ต้องเปิดเผยโครงสร้างราคายา


          กระทั่งปี 2559 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 (แก้ไขฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้จึงมีการกำหนดไว้ในมาตรา 32 พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ต้องมีการแสดงรายละเอียด ณ สถานพยาบาล เกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่น และมาตรา 33 ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขตามมาในเรื่องกำหนดชนิดหรือประเภทค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่จะต้องแสดง และจะเรียกเก็บหรือยินยอมให้มีการเรียกเก็ยค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ หรือค่าบริการอื่นเกินอัตราที่ได้แสดงไว้มิได้ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

 

ก่อนจะถึงมือ"พาณิชย์"คุมค่ารักษารพ.เอกชน

 


          ก่อนที่ในต้นปี 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกมากระทุ้งเรื่องนี้อีกครั้ง โดยได้เข้ายื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายใน ให้เสนอ กกร.พิจารณามาตรการกำกับดูแลการกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลเป็นธุรกิจบริการในบัญชีควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง สร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน หลังจากที่เคยยื่นมาแล้วหนึ่งครั้งเมื่อปี 2558


          โดยให้ข้อมูลว่าราคาค่ารักษาโรงพยาบาลรัฐและเอกชนต่างกัน 10 เท่า และยกตัวอย่างมูลนิธิได้รับร้องเรียนจากคนไข้รายหนึ่งที่ไปผ่าตัดเส้นประสาทคอ ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ได้แจ้งอัตราค่ารักษาพยาบาล 5 แสนบาท ขณะที่โรงพยาบาลอีกแห่งรักษาโดยแพทย์คนเดียวกันแจ้งราคาเพียง 4.3 แสนบาท ทั้งที่ยังไม่ได้ต่อรองราคาเลย สะท้อนว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีการแข่งขันด้านราคา ผู้ป่วยตัดสินใจไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 แต่แพ้ยา ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 4.3 เป็น 7 แสน

 

 

 


          และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 พณ.ออกมาระบุว่าเตรียมขึ้นบัญชียาและเวชภัณฑ์และค่าบริการโรงพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุมพร้อมเสนอตั้งคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลระยะยาว และเสนอกกร.จนมีมติและเตรียมเสนอครม.


          การพิจารณาดำเนินการในเรื่องใด ต้องมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง และไม่เกิดกระแสย้อนกลับทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลมากขึ้นกว่าเดิม 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ