Lifestyle

สมศ.เบรกอาชีวะเปิดสอนป.ตรีชี้ยังไม่พร้อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมศ.เผยผลประเมินสมศ.วิทยาลัยอาชีวะด้านสารพัดช่าง ชี้ 84 % ผ่านการรับรอง ขณะที่ อีก4 แห่งไม่ผ่าน เร่งให้ปรับปรุงแล้วเสร็จภายใน 6-12 เดือน เบรกเปิดการเรียนการสอนป.ตรี ชี้จำนวน -คุณภาพอาจารย์ยังไม่พร้อม ฝากเร่งพัฒนาบุคลากร

 เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2552  ที่อาคารพญาไท  พลาซ่า  ศ.ดร.สมหวัง   พิธิยานุวัฒน์  รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) เปิดเผยผลประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองด้านการอาชีวศึกษา ประเภทสารพัดช่าง ว่า จากการประเมินวิทยาลัยสารพัดช่าง จำนวน 50 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาของสมศ. 42 แห่ง คิดเป็น 84% ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 4 แห่ง คิดเป็น 8% ได้แก่ วิทยาลัยสารพัดช่างสุโขทัย วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ วิทยาลัยสารพัดช่างปราจีนบุรี และวิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี และรอพินิจ 4 แห่ง คิดเป็น 8% ได้แก่ วิทยาลัยสารพัดช่างพัทลุง วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร วิทยาลัยสารพัดช่างตราด และวิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี โดยในส่วนที่รอพินิจ จะต้องดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 6-12 เดือน

 ทั้งนี้   เมื่อจำแนกเป็นรายมาตรฐาน ปรากฏว่ามาตรฐานด้านประกันคุณภาพภายใน มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 9 แห่ง คิดเป็น 18% ดี 32 แห่ง คิดเป็น 64% พอใช้ 5 แห่ง คิดเป็น 10% และควรปรับปรุง 1 แห่ง คิดเป็น 2% ต้องปรับปรุง 3 แห่ง คิดเป็น 6% ด้านการฝึกอบรม มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 16 แห่ง คิดเป็น 32% ดี 32 แห่ง คิดเป็น 64% พอใช้ 2 แห่ง คิดเป็น 4% ด้านจัดการศึกษา มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 5 แห่ง คิดเป็น 10% ดี 36 แห่ง คิดเป็น 72% พอใช้ 9 แห่ง คิดเป็น 18% ด้านการเทียบโอนผลการเรียนรู้ มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 8 แห่ง คิดเป็น 29.63% ดี 16 แห่ง คิดเป็น 59.26% พอใช้ 3 แห่ง คิดเป็น 11.11% ด้านการให้บริการวิชาการและวิชาชีพต่อชุมชนและสังคม มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 26 แห่ง คิดเป็น 52% ดี 23 แห่ง คิดเป็น 46% พอใช้ 1 แห่ง คิดเป็น 2% และด้านการบริหารและการจัดการ มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 16 แห่ง คิดเป็น 32% ดี 31 แห่ง คิดเป็น 62% พอใช้ 1 แห่ง คิดเป็น 2 %

 ศ.ดร.สมหวัง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)รวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 19 แห่งนั้น จากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองด้านการอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน พบว่า สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินภายนอกแล้ว 549 แห่ง ส่วนใหญ่ 424 แห่ง มีผลการประเมินอยู่ในระดับดี และมีเพียง 101 แห่ง ที่มีผลการประเมินในระดับดีมาก มีสถานศึกษารอพินิจ 25 แห่ง จำแนกเป็นของรัฐ 14 แห่ง เอกชน 21 แห่ง และสถานศึกษาที่สมศ.ไม่รับรองมาตรฐาน 59 แห่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นของรัฐ 27 แห่ง และเอกชน 32 แห่ง

 รักษาการผอ.สมศ.กล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาถึงจำนวนอาจารย์ผู้สอนพบว่าในปัจจุบันวิทยาลัยในสังกัดสอศ. มีสัดส่วนอาจารย์ที่เป็นลูกจ้างกว่า 50% และเป็นอาจารย์ที่มีวุฒิในระดับปริญญาตรีถึง 73% หรือ 2 ใน 3 ของอาจารย์ทั้งหมด ดังนั้น ในการเปิดสอนระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือปฏิบัติการของอาชีวศึกษา คงจะต้องรีบดำเนินการพัฒนาบุคลากร ซึ่งอย่างน้อยผู้ที่จะสอนในระดับปริญญาตรีได้ จะต้องจบปริญญาโทขึ้นไป และควรที่จะมีประสบการณ์ในสถานประกอบการมากพอ ดังนั้นถึงแม้จะมีกฎกระทรวงแล้ว แต่การที่จะอนุมัติให้กลุ่มสถาบันเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี ควรพิจารณาความพร้อมของอาจารย์และประเภทสาขาวิชา โดยยึดผลการประเมินของสมศ. ไม่ใช่เฮโลเปิดสอนในระดับปริญญาตรี โดยถือเป็นการขยายโอกาสให้เด็กได้เรียนในระดับปริญญาตรีสายช่าง เพราะจะกลายเป็นปัญหาใหม่ในวงการอาชีวศึกษา

 “การกำหนดให้กลุ่มสถาบันใดเปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาไหน ควรดูผลการประเมินของสมศ.ก่อนซึ่งผมคิดว่าทั้ง 19 กลุ่มสถาบันการอาชีวศึกษา หากกลุ่มใดมีสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินในระดับดีมาก ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมมาก แต่หากกลุ่มใดไม่ได้รับการรับรองมาก ต้นสังกัดต้องเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ในขณะเดียวกันทั้ง 101 แห่ง ที่ได้รับการประเมินในระดับดีมาก ศธ.น่าจะนำร่องอย่างจริงจัง โดยให้สถานศึกษาที่อยู่ในกลุ่มนี้ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภูมิภาคละ 1-2 แห่ง สามารถบริหารจัดการและรับงบประมาณโดยตรงจากสำนักงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องอาจารย์ลูกจ้าง โดยสามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้เอง จากนั้นค่อยขยายผลให้ทั้งหมดที่ได้รับการประเมินในระดับดีเป็นนิติบุคคลซึ่งสมศ.พูดถึงนิติบุคคลมานานแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่วิทยาลัยใดเป็นนิติบุคคลเลย” ศ.ดร.สมหวัง กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ