Lifestyle

โลกหน้า"5เมกะเทรนด์"ใครไม่พร้อมจอด??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมคุณภาพชีวิต [email protected]

 


          ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในยุคดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนเราในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดำเนินธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เรียกว่า “เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น” ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพลิกโฉมระบบการดำเนินงานตลอดจนรูปแบบการให้บริการขององค์กรธุรกิจเพื่อให้เท่าทันการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วและรุนแรงนี้

 

 

          เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกช่วงเวลาชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตส่วนตัว หรือการทำงาน การติดต่อสื่อสาร ทุกอย่างล้วนพึ่งพาเทคโนโลยีทั้งสิ้น ซึ่งความเจริญที่เข้ามานั้น ล้วนก่อให้เกิดอาชีพมาแรง อย่าง วิศวกรหุ่นยนต์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น นักพัฒนาไมโครซิฟ นักชีวเคมี เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายอาชีพที่ต้องหมดบทบาทลงเพราะมีเจ้าหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ อย่างเอไอ เข้ามาแทนที่บทบาทของคนดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงต้องปรับตัว 

 

 

โลกหน้า"5เมกะเทรนด์"ใครไม่พร้อมจอด??

 


          ล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นประธานคณะทำงานผลึกกำลังเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศรวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เพื่อวางแผนการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตในอนาคต 5.0 ให้เสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้

 

          ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ในปัจุบันที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อองค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม จนมีคำพูดว่าในอนาคตจะเข้ามาทดแทนตำแหน่งของงานคนเรา เนื่องจากสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง สามารถวางแผนคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล ที่สำคัญยังตอบโต้การสนทนาได้อย่างดีเยี่ยม

 

 

โลกหน้า"5เมกะเทรนด์"ใครไม่พร้อมจอด??

 


      


 

          ทั้งยังมีความคิดสร้างสรรค์สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับข้อมูลใหม่ๆ ขณะเดียวกันยังช่วยให้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันจะพบว่าสถาบันทางการเงินต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีจัดการฐานข้อมูลให้การทำธุรกรรมสะดวกรวดเร็วและแม่นยำในเสี้ยววินาที โดยเฉพาะการพิจารณาสินเชื่อหากใครทำได้เร็วยิ่งได้เปรียบ ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีความตื่นตัวในการพัฒนาระบบตอบรับและรับจองให้รวดเร็วง่ายขึ้น
  

 

 

โลกหน้า"5เมกะเทรนด์"ใครไม่พร้อมจอด??

 

          ดังนั้นบัณฑิตยุคใหม่ต้องมีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้วิชาการและความเชี่ยวชาญการปฏิบัติ รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการมีบุคลากรอย่างเพียงพอในสายงานที่ประเทศชาติและทั่วโลกต้องการ ถือเป็นสร้างโอกาสการแข่งขันและการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติได้ในอนาคต


          จำเป็นต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ควบคู่ไปกับการเปิด/ปรับหลักสูตรใหม่ให้สอดรับสถานการณ์และความต้องการของตลาดแรงงาน อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (สหวิทยาการ) หลักสูตรวิศวกรรมระบบการผลิตขั้นสูง (นานาชาติ) หลักสูตรการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม หลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงานเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรระหว่างกัน 

 

 

โลกหน้า"5เมกะเทรนด์"ใครไม่พร้อมจอด??

 


          ทั้งนี้ครูในอนาคตจะเป็นอาชีพที่ถูกท้าทายมากที่สุด ครูยุคดิสรัปชั่น ควรต้องสอนเด็กให้ทำงานได้ ทำงานเป็น มีความเชี่ยวชาญจริง ไม่ใช่สอนเพื่อไปสอบ เพื่อได้ปริญญา เพราะใบปริญญากำลังจะหมดความนิยม ในยุคที่เอไอเข้ามามีบทบาทในชีวิต สิ่งที่มนุษย์มีทักษะเหนือกว่า คือ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ จึงควรสร้างเด็กให้คิดนอกกรอบและรู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะยุคดิสรัปชั่น ใบปริญญาจะมีความสำคัญเท่าเดิมอีกแล้ว   


          ศ.คาร์ ยัน ทัม คณบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) กล่าวว่าจากการคาดการณ์ พบว่า กว่า 85% ของงานที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030 ยังไม่สามารถระบุได้ว่า อาชีพ หรือตำแหน่งงานใหม่ๆ ใดบ้าง หากแต่ทักษะของงานใหม่ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติต่างๆ และมีความชำนาญในด้านดิจิทัล รวมทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง ตรงนี้ทำให้ค่าตอบแทนแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่งานอนาคต โดยเฉพาะอาชีพที่จะถูกทดแทนได้ง่ายสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร มุ่งคิดเชิงวิพากษ์ ความเอาใจใส่ดูแล และความคิดสร้างสรรค์ โดยต้องลงทุนกับครูผู้สอนเพื่ออัพเดตข้อมูลข่าวสารต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
  

 

 

โลกหน้า"5เมกะเทรนด์"ใครไม่พร้อมจอด??

 

          ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) กล่าวว่า ระบบ IOT (internet of things) หรือที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง ปี 2019-2021 สัญญาณคลื่นเครือข่ายไร้สาย 5G จะเข้ามาในระบบสามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงมากกว่าเดิม การศึกษาตอนนี้แทบไม่ตอบโจทย์แล้ว เพราะเวลาเรียนในหลักสูตรต้องเรียนมาก และเอาไปใช้งานได้ลำบาก มีหลักสูตรใหม่เข้ามาความรวดเร็วตรงนี้ มหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัว จัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์เทรนด์ต่างๆ ของเทคโนโลยี สอนให้เด็กสร้างปัญหาก่อนจากนั้นนำเครื่องมือไปแก้ปัญหาตรงนั้นให้ได้
     

          อย่างไรก็ตามความคิดสร้างสรรค์เอไอ ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์แบบที่คน และอาชีพที่มีการใช้ประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง เช่น นักออกแบบกลิ่นหอม นักออกแบบเสียง เอไอ ไม่สามารถออกแบบกลิ่นหอมได้ถูกใจคนจริงๆ รวมทั้งอาชีพที่ต้องใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ให้กำลังใจผู้ป่วย นักขายประกัน ขายของต้องเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า เพราะเอไอเน้นระบบ ใช้เหตุผลและความฉลาดทางสังคม หรือเสน่ห์ของคน หุ่นยนต์เอไอ จะไม่สามารถทำแทนได้

 

 

 

โลกหน้า"5เมกะเทรนด์"ใครไม่พร้อมจอด??


          5 เทรนด์สำคัญด้านการศึกษา
          (Key Trends in Education) ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานด้านการศึกษาสำคัญของโลก นักคิด นักการศึกษา และรายงานขององค์กรเพื่อพัฒนาการศึกษาชั้นนำ


          1.Coding as a literacy : ความเข้าใจเรื่องระบบและการเขียนโค้ด
          ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการบรรจุวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ Coding เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพราะารพัฒนาโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ มีความสำคัญต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจทั้งโลก จะเป็นทักษะสำหรับทุกคนที่ไม่อยู่แค่ในภาควิชาคอมพิวเตอร์


          2.Supporting students as creators : สนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นนักคิดสร้างสรรค์
          โลกยุคใหม่ผู้เรียนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ (passive) มาเป็นผู้สร้าง (active) ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่เปิดกว้างและให้โอกาสทุกคนสามารถแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และสร้างผลงานของตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ โดยปราศจากข้อจำกัด และการปิดกั้นทางความคิดจากกรอบการเรียนแบบเดิม


          3.Collaborative Learning : ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยการเรียนรู้ร่วมกัน
          โลกของความสำเร็จ การทำงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ในแต่ละส่วนงานคุณสมบัติสำคัญที่บริษัทแทบทุกแห่งได้กำหนดไว้ในทักษะสำคัญในการรับเข้าทำงาน คือ สามารถทำงานเป็นทีมและร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี


          4.Individualized Learning: เด็กแต่ละคนต้องการรูปแบบการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง
          นักการศึกษาสมัยใหม่ต่างให้ความเห็นว่าความแตกต่างของเด็กๆ ต้องการรูปแบบการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อพัฒนาจุดแข็งหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคน จะเน้นพัฒนาทักษะทางสังคม (Soft skill) หรือทักษะที่จะทำให้มนุษย์แตกต่างจากเครื่องจักร เช่น การใช้ภาษา การติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ความเป็นมิตร การมองโลกในแง่ดี บุคลิกและการแสดงออกทางสังคม ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะสำคัญที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ
 

          5.Family and Community Involvement: การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
          ครอบครัวและสภาพแวดล้อมรอบข้างล้วนมีผลกับการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยตรงการอบรมและให้การศึกษาไม่ได้เป็นภาระของโรงเรียนหรือครูอาจารย์แต่ทั้งครอบครัวและชุมชนรอบข้างของเด็กๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้รอบด้าน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ