Lifestyle

"พวกเรารักได้ และมีหัวใจ"เสียง...ที่ไม่เคยถูกได้ยิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 

 

          4 ภาคีเครือข่ายกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (TRIP) สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยและวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าพิทักษ์สิทธิสุขภาวะทางเพศสะท้อนเสียงจากเยาวชนที่มีความพิการในการเข้าถึงความรู้เรื่องเพศและอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

 

 

          จากรายงานสถานการณ์คนพิการประเทศไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (31 ตุลาคม 2561) พบว่าประเทศไทยมีประชากรที่มีความพิการราวๆ 2 ล้านคน และกว่า 50% เป็นผู้หญิง ทั้งนี้กว่า 70% มีความพิการทางกาย การมองเห็น การได้ยิน และที่เหลืออีก 30% คือ พิการทางจิตสังคม สติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก นอกจากนี้ผู้พิการมีโอกาสทางการศึกษาในระดับประถมศึกษา 55% และลดลงในช่วงมัธยมศึกษาเหลือเพียง 7% ระดับอาชีวศึกษา 1.42% และระดับอุดมศึกษา 1.5%

 

 

"พวกเรารักได้ และมีหัวใจ"เสียง...ที่ไม่เคยถูกได้ยิน

 


          ปัจจุบันมีโรงเรียนการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิการ 46 โรงเรียน และศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด 77 แห่ง แม้กฎหมายการศึกษาไทยจะเปิดโอกาสให้เด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กในโรงเรียนปกติ และมีกฎหมายคนพิการ 2560 ที่สอดรับกับปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิคนพิการ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีข้อมูลรายงานการตั้งครรภ์ในเด็กและเยาวชนคนพิการเลย
   

          มณเฑียร บุญตัน ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประเทศไทย กล่าวในฐานะประธานงานการประชุมเยาวชนพิการ แต่เพศไม่พิการ : เสียงที่ไม่เคยถูกได้ยิน ว่า “จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกปี 2554 พบว่ามีคนพิการ 15% ของประชากรไทย แต่จดทะเบียนไม่ถึง 3% ด้านสปป.ลาว มีคนพิการราวๆ 2% และเวียดนามราว 7% ขณะที่นิวซีแลนด์ประมาณการว่ามีคนพิการกว่า 25% เป็นข้อสันนิษฐานว่า ประเทศที่มีคนพิการมากเพราะเขายอมรับคนพิการว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีการไม่ยอมรับคนพิการสูง พ่อแม่ที่มีลูกพิการไม่ยอมรับว่าลูกพิการถึงแม้จะทำให้สูญเสียสิทธิต่างๆ ก็ยอม ตัวเลขจึงต่ำกว่าปกติ

 

 

"พวกเรารักได้ และมีหัวใจ"เสียง...ที่ไม่เคยถูกได้ยิน

 

 


  
          “นอกจากไม่ยอมรับว่ามีคนพิการอยู่จริง ยังไม่ยอมรับว่าคนพิการมีความรู้สึก มีความชอบ ไม่ชอบ แสดงออกทางเพศสภาพได้ หลายคนโดนตัดโอกาสที่จะเป็นแม่โดยการทำหมัน แต่ก็ใช่ว่าจะหลุดพ้นจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งหมดเกิดจากความไม่รู้ ความอคติ และการบริการที่ไม่เป็นธรรม ส่วนเรื่องคนพิการกับความหลากหลายทางเพศยิ่งแล้วใหญ่ ดังนั้นประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับอนามัยเจริญพันธุ์และเพศสภาพ เพื่อให้คนที่อยู่ชายขอบได้เข้าถึงบริการและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เพราะทุกอย่างคือสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน” มณเฑียร กล่าว


          ไม่เห็นปัญหาใช่ว่าไม่มี
          พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนภาคีเครือข่ายกล่าวว่า แม้ในประเทศไทยจะไม่มีข้อมูลรายงานการตั้งครรภ์ในเด็กและเยาวชนคนพิการ แต่ก็ใช่ว่าไม่มีปัญหา เยาวชนพิการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงความรู้ในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ แม้จะมีพ.ร.บ.การป้องกันและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 แต่กฎหมาย นโยบาย แผน ยุทธศาสตร์ และเครื่องมือหรือมาตรการต่างๆ ได้ถูกออกแบบไว้อย่างครอบคลุมปัญหาของเยาวชนที่มีความพิการในลักษณะต่างๆ หรือไม่ และอยู่ในรูปแบบที่เยาวชนจะเข้าถึงและใช้

 

 

"พวกเรารักได้ และมีหัวใจ"เสียง...ที่ไม่เคยถูกได้ยิน

 

          ประโยชน์ได้จริงแค่ไหน
          ปัญหาสำคัญในตอนนี้คือการปฏิเสธว่าคนพิการก็มีเพศ ละเลย คิดแทน ตัดสินใจแทน ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น หากลองสังเกตจะเห็นว่าเยาวชนพิการที่เรียนชั้นมัธยมมีจำนวนน้อยลงมาก ทำให้ส่วนใหญ่ได้รับความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ไม่ดีเท่าที่ควร เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยวและแตกแยกจากสังคม อาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ 
  

          ทั้งนี้กลไกที่สำคัญคือ เราไม่มีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ไม่เห็นถึงปัญหา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และควรมีการสื่อสารสังคมที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงศักยภาพของคนที่มาทำงานตรงนี้ ต้องเข้าใจและควรมีการแนะนำสำหรับครอบครัว ผู้ปกครอง เพื่อให้นโยบายทั้งหลายมีรูปธรรมที่ปฏิบัติได้จริง

 

 

 

"พวกเรารักได้ และมีหัวใจ"เสียง...ที่ไม่เคยถูกได้ยิน

กมลชนก บุญเกตุวัฒนากุล

 

          เสียงสะท้อนจากเยาวชน
          กมลชนก บุญเกตุวัฒนากุล ประธานชมรมเยาวชนตาบอดไทย กล่าวในช่วงเสวนาเยาวชนพิการ แต่เพศไม่พิการ : เสียงที่ไม่เคยถูกได้ยินว่า แม้จะมีข้อมูลต่างทางด้านเพศสำหรับคนตาบอด แต่ไม่เต็ม 100% คนพิการส่วนใหญ่มีโอกาสได้เรียนแค่ชั้นประถมซึ่งสอนเรื่องเพศไม่ครอบคลุม คนที่ไม่ได้เรียนต่อก็ต้องไปเสาะหาข้อมูลกันเอง เกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพราะขาดองค์ความรู้ ส่วนคนที่รู้แล้วไปซื้อยาคุม ก็โดนมองจากสังคมว่าตาบอดซื้อยาคุมไปทำอะไร ดังนั้นควรสอนสุขศึกษาให้เด็กชัดเจน คนตาบอดเรารับรู้ทุกอย่างขาดแค่การมองเห็น ในหลักสูตรการสอนคนพิการอยากให้ทำโมเดลในการอธิบาย สามารถจับและสัมผัสได้ เพื่อให้เรียนรู้ได้มากขึ้น รวมถึงในชั้นประถมควรสอนเรื่องการใช้ยาคุม ถุงยาง และสอนการใช้ผ้าอนามัย ไม่ควรสอนแค่การดูแลตัวเอง การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะมันเป็นแค่เปลือก
  

          ในส่วนของ อธิษฐาน สืบกระพันธ์ เยาวชนพิการทางการเคลื่อนไหว กล่าวว่า บางครอบครัวปิดกั้นไม่ยอมรับว่าลูกผิดปกติ ไม่ยอมรับว่าลูกต้องมีอารมณ์ความรู้สึก เขาต้องเข้าใจก่อนว่าในเมื่อท้องได้แสดงว่ามีเพศสัมพันธ์ได้ เด็กบางคนอยากมีลูก แต่แม่บางคนมองว่าการอุ้มท้องมันลำบาก อยากให้มีการอบรมครอบครัวและคุณครูในเรื่องการสอนคนพิการ ทั้งตาบอด หูหนวก มากขึ้น เพื่อให้เขาออกมาใช้ชีวิตภายนอกแบบไม่ต้องเขินอาย รวมถึงเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับแพทย์ควรระบุความน่าเชื่อถือชัดเจน จะได้ทราบว่าเว็บนี้ปลอดภัยถ้าเราทำตาม ต้องซัพพอร์ตเขา อย่าลืมว่าคนที่มาทำร้ายเราคือคนปกติ

 

"พวกเรารักได้ และมีหัวใจ"เสียง...ที่ไม่เคยถูกได้ยิน

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย


  

          เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการวินิจฉัยทางเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการทำงานด้านการคุ้มครองสตรีพิการมา 20 ปี พบว่าสังคมมักจะเน้นเรื่องการป้องกัน เช่น การทำหมัน แต่ไม่มีใครพูดในเรื่องการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ คนมักหาวิธีที่ง่ายในการแก้ปัญหาจนกลายเป็นแนวคิดที่ผู้ปกครองเลือก สิ่งที่ต้องมานั่งคุยกันคือ ระบบการคุ้มครองมากพอหรือไม่ การคุ้มครอง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะนำไปสู่สิทธิ เราป้องกันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคุ้มครอง และเยียวยาด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ