Lifestyle

บทพิสูจน์..."ทายาทเด็กหลอดแก้ว"คลอดจากเทคโนโลยีปลอดภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทพิสูจน์..."ทายาทเด็กหลอดแก้ว"คลอดจากเทคโนโลยีปลอดภัย : รายงาน

 

 

          การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ บางประเทศมีคนที่เกิดจากวิธีการนี้ถึง 6% ถือเป็นอัตราที่มาก ปัจจุบันทั่วโลกคาดว่ามีคนมี่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยราว 7 ล้านคน ในประเทศไทยมีกว่า 20,000 คน

 

          ในปี 2530 “เด็กหลอดแก้ว” คนแรกของประเทศถือกำเนิดขึ้นที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอด 31 ปี เขาใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายใจ สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯและปริญญาโทจากต่างประเทศ ด้านชีวิตครอบครัวมีทายาทเพศชายที่เกิดขึ้นจากวิธีการตามธรรมชาติ นี่จึงเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีความมั่นคงและปลอดภัย ลบข้อกังวลเดิมที่มีคนกล่าวว่า “จะทำให้ได้มนุษย์พันธุ์ใหม่หรือไม่”

 

 

บทพิสูจน์..."ทายาทเด็กหลอดแก้ว"คลอดจากเทคโนโลยีปลอดภัย

 


          ภายหลังจากทายาทเด็กหลอดแก้วถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 หลังจากนั้น 2 วัน รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “ทายาทเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทย” นายปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี หรือมุ้งมิ้ง เด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย ที่ถือกำเนิดเมื่อปี 2530 ปัจจุบัน อายุ 31 ปี กล่าวว่า บุตรชายของเขาคลอดได้ 2 วัน มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีทั้งแม่และลูก น้ำหนักตัวแรกคลอด 3,223 กิโลกรัม ซึ่งในช่วงวางแผนที่จะมีบุตรมีความกังวลเล็กน้อยว่าจะสามารถมีบุตรได้หรือไม่ เนื่องจากเขาเกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แต่เมื่อตัดสินใจจะมีบุตรจึงใช้วิธีธรรมชาติ ตั้งใจว่าหากไม่สามารถมีได้จึงจะปรึกษาแพทย์ แต่ใช้เวลาไม่นานภรรยาก็ตั้งครรภ์สำเร็จด้วยวิธีธรรมชาติ


          นายปวรวิชญ์ บอกด้วยว่า ตลอดช่วงอายุ 30 ปีที่ผ่านมา สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป หากไม่บอกก็จะไม่มีใครทราบว่าเป็นเด็กหลอดแก้ว เพื่อนบางคนก็ไม่ทราบ แม้แต่ภรรยาก็ไม่ทราบจนคบหาดูใจได้ 3 ปีจึงจะทราบ ด้านสุขภาพไม่มีปัญหาอะไร แข็งแรงดี สามารถเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และปริญญาโทจากต่างประเทศ ปัจจุบันทำงานเป็นวิศวกร ซึ่งจากการที่ใช้ชีวิตมา 30 กว่าปีจนถึงปัจจุบันที่มีลูกด้วยวิธีธรรมชาติ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่กำเนิดมาจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์สามารถดำรงชีวิตได้ปกติ

 

 

บทพิสูจน์..."ทายาทเด็กหลอดแก้ว"คลอดจากเทคโนโลยีปลอดภัย

 



          รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อาจารย์ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การที่เด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทยสามารถให้กำเนิดทายาทด้วยวิธีการธรรมชาติและเด็กมีความแข็งแรงสมบูรณ์ดี เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเจริญพันธุ์ใช้ได้ผล มีความปลอดภัย และผู้ที่ถือกำเนิดขึ้นมีความแข็งแรงทั้งกายและใจ ลบข้อกังวลในอดีตที่เด็กเกิดมาภายใต้เครื่องหมายคำถามว่าจะเป็นอย่างไร จะทำให้ได้มนุษย์พันธุ์ใหม่หรือไม่ แต่ปัจจุบันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกคนมั่นใจว่าการใช้เทคโนโลยีมีการพัฒนาและสามารถไว้วางใจได้ว่ากระบวนการมีความมั่นคงและปลอดภัย


          “การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ บางประเทศมีคนที่เกิดจากวิธีการนี้ถึง 6% ถือเป็นอัตราที่มาก ปัจจุบันทั่วโลกคาดว่ามีคนมี่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยราว 7 ล้านคน ในประเทศไทยมีกว่า 20,000 คน จึงจะต้องให้ทุกกลุ่มที่มีความจำเป็นเข้าถึงบริการการรักษาในเรื่องนี้ โดยแต่ละกลุ่มประชากรอาจมีข้อบ่งชี้ที่แตกต่างกัน อาทิ กลุ่มผู้มีบุตรยาก กลุ่มคนโสดที่มีการแต่งงานช้า อายุใกล้ 40 ปีที่โอกาสในการมีบุตรน้อยลง หรือกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่มีอายุน้อย เมื่อได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรักษาอาจะทำให้ไข่ถูกทำลายไม่สามารถมีบุตรได้ ก็อาจจะมีการแช่แข็งไข่หรือเนื้อเยื่อรังไข่ไว้ก่อนทำการรักษา เมื่อหายจากมะเร็งแล้วอยากจะมีบุตรก็สามารถทำได้ เป็นต้น” รศ.นพ.กำธร กล่าว

 

บทพิสูจน์..."ทายาทเด็กหลอดแก้ว"คลอดจากเทคโนโลยีปลอดภัย

 

 

          รศ.นพ.กำธร กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายประเทศบรรจุเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ไว้ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแล้ว เพราะเผชิญปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ การนำเทคโนโลยีด้านนี้เข้ามาช่วยเหลือจึงมีความจำเป็น ในกรณีผู้มีความพร้อมที่จะมีบุตรแต่ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ ซึ่งเริ่มมีการหารือในองค์การอนามัยโลก หรือฮู ที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานเช่นเดียวกับการรักษาอื่นๆ ในส่วนของประเทศก็ควรบรรจุสิทธิประโยชน์นี้ด้วย เนื่องจากกำลังเผชิญกับอัตราการเกิดทดแทนประชากรที่ต่ำอยู่ที่ 1.5 เท่านั้น


          ขณะที่ฮูแนะนำจะต้องอยู่ที่ 2.1 ส่วนประเทศอื่นที่เผชิญปัญหานี้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ก็บรรจุไว้ในสิทธิประโยชน์ระบบประกันสุขภาพแล้ว ซึ่งหากจะดำเนินการก็จะต้องมีเกณฑ์การพิจารณาอย่างรอบคอบ ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งการวางแผนครอบครัวต้องมีการปรับแนวคิดไม่ใช่แค่เรื่องการคุมกำเนิดอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาในคนที่พร้อมต้องช่วยให้เขามีบุตรด้วย


          รศ.นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ หัวหน้าหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันหน่วยชีววิทยาการเจริญเป็นพันธุ์ให้บริการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยาก ได้พัฒนาการบริการแช่แข็งเซลล์ไข่ของสตรีแช่แข็งตัวอ่อนและอสุจิในกรณีที่ผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ยังไม่พร้อมจะมีบุตรในช่วงอายุดังกล่าว (social freezing) 

 

 

บทพิสูจน์..."ทายาทเด็กหลอดแก้ว"คลอดจากเทคโนโลยีปลอดภัย

 


          นอกจากนี้ ได้ริเริ่มพัฒนาการบริการแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ (ovarian tissue cryopreservation) ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและต้องการมีบุตร ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปจัดเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ 


          ซึ่งฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยได้ให้บริการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย รวมถึง บูรณาการองค์ความรู้จากสหสาขาวิชาได้แก่ความรู้ทางชีววิทยาการเจริญพันธุ์และวิศวกรรมชีวเวช เพื่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อรังไข่ภายนอกร่างกาย เพื่อนำไปสู่การคัดแยกเซลล์ไข่ นำมาเลี้ยงภายนอกร่างกาย หรือเพื่อการนำมาสร้างเป็นรังไข่เทียมในอนาคต สร้างทางเลือกและแก้ไขปัญหาภาวะการเจริญพันธุ์สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและต้องการมีบุตร


          ท้ายที่สุด ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน ที่ปรึกษาหน่วย ชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาฯ หัวหน้าทีมให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วคนแรก ย้ำว่า ในแง่ทางการแพทย์อยากให้กระบวนการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ใกล้เคียงธรรมชาติ และการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยคนที่มีความจำเป็น ไม่ใช่ใช้โดยสิ้นเปลือง ทำโดยความระมัดระวังและมีจิตสำนึกต่อสังคม ไม่ให้เกิดผลกระทบใดต่อสังคมตามมา
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ