Lifestyle

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  : รายงาน  โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ  [email protected] 


    


          “เงาะกินอร่อย แต่เราคือ มานิ เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ใช่ เงาะ” คำตอบของ กุ้ง รักษ์ป่าบอน ต่อคำถามว่า กลุ่มของพี่เรียกตัวเองว่าอย่างไร เมื่อ “คม ชัด ลึก” ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียน “ทับ” หรือบ้านที่อาศัยของมานิ บนเทือกเขาบรรทัด ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคำเรียกขานของคนไทยพื้นราบที่มีต่อคนไทยบนเทือกเขาแห่งนี้ ว่า “เงาะ” หรือ “ซาไก” นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องและเป็นคำเรียกที่ค่อนข้างสร้างความรู้สึกไม่ดีให้เกิดขึ้นกับมานิ 

 

 

          กลุ่มชาติพันธุ์ “มานิ” อาศัยอยู่ในป่า 2 เทือกเขาหลักทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ เทือกเขาบรรทัด เขต จ.ตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา ประมาณ  500 คน มีบัตรประชาชนไทยแล้วราว 313 คน และเทือกเขาสันกาลาคีรี เขต จ.ยะลา และนราธิวาส มีชื่อเรียกว่า “โอรัง อัสลี” มีประมาณ 319 คนยังไม่ได้รับบัตรประชาชน  แต่ด้วยความเจริญที่รุกล้ำเข้าไปถึงบนเทือกเขาบรรทัดถิ่นที่อยู่ของมานิมากขึ้น เริ่มส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมานิ  ปัจจุบัน มานิจึงมีการดำเนินชีวิตใน 3 ลักษณะ คือ กลุ่มที่ยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม กลุ่มกึ่งสังคมชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากดั้งเดิมบ้าง และกลุ่มตั้งถิ่นฐานถาวร มีวิถีชีวิตไม่ต่างจากคนไทยพื้นราบ มีบ้านและทำสวนยางพารา เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์      

 

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด    

 

 

          “กุ้ง”  บอกว่า  มานิมีภาษาพูดของตัวเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน วิถีชีวิตดั้งเดิมจะอยู่ในป่าลึก สร้าง “ทับ” เป็นที่อยู่อาศัยแบบง่ายๆ โดยการปักไม้แล้วนำใบไม้มาทับด้านบนเป็นหลังคา หากบริเวณไหนมีรอยรั่วกันแดดกันฝนไม่ได้ก็หาใบไม้มาทับเพิ่มเติมเข้าไปตรงจุดนั้น แต่อยู่ในทับที่เดิมไม่นาน จะเคลื่อนย้ายสร้างทับใหม่ไปเรื่อยๆ ทั่วป่าตามแหล่งอาหารหรือความปลอดภัยในการใช้ชีวิต อาหารจะเป็นของที่หาได้จากป่าทั้งหมด อาหารหลักเป็น “หัวมัน” ที่มีอยู่อย่างหลากหลายชนิด เช่น มันทราย มันช้าง มันโฉม มันแหยง รสชาติจะแตกต่างกัน และสัตว์ป่า ลิง ค่าง  โดยจะนำมันมาเผาและนำเนื้อสัตว์มาย่างหรือหมก    

 

 

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  

 

 

          ในการล่าสัตว์จะมีอาวุธเป็นการเป่าลูกดอกที่ส่วนปลายอาบไว้ด้วยยาพิษที่ได้จากพืช ซึ่งจะทำโดยผู้ชายในเผ่าเท่านั้น ผู้หญิงจะไม่สามารถทำอาวุธนี้ได้ กุ้ง บอกว่า จะเมาหรือได้รับอันตราย รวมถึงการออกล่าสัตว์ด้วยจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ซึ่งจะได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่เริ่มโตเป็นหนุ่ม  ส่วนเครื่องนุ่งห่มจะทำจากใบไม้ง่ายๆ ยามเจ็บป่วยก็จะใช้สมุนไพรที่ได้รับการสืบสานบอกต่อกันมา

 

 

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  




          ยามคลอดลูกก็จะคลอดแบบธรรมชาติภายในทับ โดยมีสามีและผู้เฒ่าอยู่ภายในทับด้วย เมื่อตัดสายสะดือแล้วก็จะฝังไว้บริเวณใกล้กองไฟในทับนั้น นำทารกไปล้างตัวที่ลำธาร นอกจากนี้ มานิ จะมีเครื่องดนตรี เรียกว่า “ยะฮอง” ทำจาก “ใบไอ้เหนา” นำมาเฉือนให้บาง เจาะตรงกลางแล้วม้วนเป็นสาย วิธีการเล่นจะใช้ปากเป่าพร้อมกับใช้มือดึง 


          ส่วน “ทับ” ที่ กุ้ง อยู่นี้มีราว 30 คน จัดเป็นมานิกึ่งสังคม เนื่องจากมีการใส่เสื้อผ้า ปรุงอาหารการกิน และปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่บางอย่างตามแบบคนพื้นราบแล้วบางส่วน กุ้ง บอกว่า เดิมก็จะอยู่ในป่าที่สูงขึ้นไป และเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ ระหว่างเทือกเขาในเขตจ.พัทลุง และสตูล ซึ่งก็จะมีญาติพี่น้องอยู่ในเขต อ.มะนัง ทุ่งหว้า ของสตูลด้วย เมื่อต้องไปมาหาสู่กันก็จะเดินไปตามเส้นทางบนเทือกเขา สำหรับมานิแล้วการเดินในเส้นทางป่าไม่มีอะไรที่น่ากลัว และไม่เคยโดนสัตว์ป่าทำร้าย แต่ตอนนี้ลงมาอยู่ป่าที่ใกล้กับคนพื้นราบมากขึ้น เพื่อความสะดวกในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ารับการรักษาพยาบาล  

 

 

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  

 


          “ตอนนี้สัตว์ป่าหายากมาก ตอนนี้ก็ไม่ค่อยมีมันกินเท่าไร หายาก มันมีน้อยลง ก็จะพึ่งพาอาหารการกินจากคนข้างนอกมากขึ้น มีหุงข้าว และไปซื้อเนื้อหมูมาต้มหรือแกง โดยใช้วิธีการปรุงแบบคนข้างล่าง แทนที่จะย่างหรือหมกแบบเดิม เด็กๆ จากที่มีมันกินเป็นของว่าง ก็จะมีขนมต่างๆ มากขึ้น ได้เรียนหนังสือภาษาไทยที่บริเวณทับซึ่งมีคนมาสอน รวมทั้ง สอนการปลูกกล้วย ปลูกพืชต่างๆ ไว้กินด้วย” กุ้งเล่า 

 

 

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  

 


          “ปอย รักษ์ป่าบอน” อายุ 35 ปี มานิหนุ่มที่มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า ตอนเด็กอยู่ที่ อ.มะนัง จ.สตูล ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเดินทางมาเรียนต่อระดับมัธยมที่พัทลุง  จึงสามารถอ่าน เขียนและพูดภาษาไทยได้ทั้งภาษาไทยใต้และภาษาไทยกลาง อย่างไรก็ตาม มานิที่ได้เรียนหนังสือยังมีสัดส่วนจำนวนน้อยมาก ที่ได้เรียนเพราะพ่อและครูในโรงเรียนประถมอยากจะให้เรียน   

 

 

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  

 


          “สิ่งที่เป็นห่วงตอนนี้คือเรื่องอาหารการกินของพวกเราที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยมัน กินเนื้อสัตว์ที่หาได้ในป่า ก็จะมีสารอาหารครบถ้วน ส่วนใหญ่ร่างกายจะแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยด้วยโรคที่รุนแรง เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็ยังสามารถใช้สมุนไพรที่เรารู้จัก และหาได้ในป่ามาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยให้ดีขึ้น แต่ตอนนี้เมื่อมีการกินอาหารแปลกๆ มากขึ้น เช่น มาม่า ปลากระป๋อง  ร่างกายพวกเราที่ไม่คุ้นชินกับอาหารเหล่านี้ก็กลัวว่าอนาคตพวกเราจะป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่เราไม่รู้จักมากขึ้น” ปอย แสดงความเป็นห่วง 


          ขณะที่ ชัยยุทธ บุญนุ้ย ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ทุ่งนารี บอกว่า บ้านอยู่ริมเทือกเขาบรรทัด จึงคุ้นเคยกับมานิมาตั้งแต่เด็ก วิ่งเล่นด้วยกันมาเวลาที่เขาลงมาข้างล่าง รู้จักกันมาตั้งแต่ระดับพ่อสู่ลูก เมื่อเรียนจบจึงกลับมาดูแลพี่น้องมานิตั้งแต่ปี 2550 สิ่งที่สำคัญที่ช่วยเหลือคือการให้ได้รับบัตรประชาชน เพราะจะทำให้ได้รับสิทธิ์ต่างๆ เหมือนคนไทยทั่วไป จึงเริ่มจากการทำผังเครือญาติ ตั้งต้นจากคนที่มีอายุมากที่สุดในทับแล้วสืบไปเรื่อยๆ ซึ่งก็พบว่ามานิที่อยู่ในเขตพัทลุงและสตูลเป็นเครือญาติกันอยู่ จากนั้นก็มีการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่มานิ ตามหลักสืบสายโลหิต และพิจารณานามสกุลตามถิ่นที่อยู่ พื้นที่ จ.พัทลุง คือ รักษ์ป่าบอน และรักษ์กงหรา จ.สตูล ศรีมะนัง ศรีทุ่งหว้า ศรีสายทอง รักษ์ละงู เป็นต้น 

 

 

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  

 


          “มานิยังเผชิญเรื่องการถูกเหยียดผิวอยู่มาก จากลักษณะกายภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของมานิ  เด็กมานิกับเด็กอื่นๆ ยังเข้ากันไม่ได้ ทำให้มีเด็กมานิเข้าเรียนในโรงเรียนน้อยมาก เดิมพื้นที่ อ.ป่าบอน จะมีเรียน 4-5 คน แต่ถูกเหยียดผิวจึงไม่อยากมาเรียนและไม่ได้เรียนอีก หรือแม้แต่ยามป่วยแล้วไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็จะมีคนจำนวนมากมามุงดู เหมือนกับพวกเขาเป็นคนแปลกแยก ไม่อยากให้มีการเหยียดสีผิวหรือเหยียดชาติพันธุ์เกิดขึ้น อยากให้เข้าใจว่าพวกเขาก็คือมนุษย์ ที่มีรูปลักษณ์และวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์ตามชาติพันธุ์ของเขา ซึ่งในโลกนี้มีชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่หลากหลายมากมาย” ชัยยุทธกล่าว
 

 

"เราคือ มานิ ไม่ใช่เงาะ"เสียงจากเทือกเขาบรรทัด  

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ