Lifestyle

เข้าใจ-นำไปใช้ได้จริงหัวใจการศึกษาโลกอนาคต 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เข้าใจ-นำไปใช้ได้จริงหัวใจการศึกษาโลกอนาคต  : รายงาน  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 


          นักคิดด้านการศึกษาระดับประเทศและระดับโลก ร่วมเสนอแนวทางพัฒนาการศึกษาไทย ตอบรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ชี้ควรพัฒนาเด็กให้เข้าใจและนำไปใช้เป็น รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการสอนของครู ด้านจุฬาฯ พัฒนาหลักสูตรบูรณาการศาสตร์ เน้นดึงศักยภาพสู่การทำงานจริง

 

 

          สุรศักดิ์ อินศรีไกร ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวในเวทีสัมมนาวิชาการใหญ่ “Akson Teaching Forum 2018” ช่วงสัมมนาผู้นำทางการศึกษาแห่งประเทศไทย 2561 ว่า การจัดการศึกษาของไทยยังมีปัญหาในการพัฒนาคน และคุณภาพการศึกษา และความเสมอภาค 


          ดังนั้น ถ้าอยากจะสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้น ต้องจัดสรรในด้านทรัพยากรไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบัน สพฐ.มีโรงเรียนในสังกัด 3 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ ใน 225 เขตพื้นที่ โดยมีโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง มีนักเรียนกว่า 7 ล้านคน สิ่งที่ต้องคิดคือ จะสร้างคุณภาพให้แก่พวกเขาได้อย่างไร ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาได้อย่างไร ดังนั้น ถ้าจะทำให้มีคุณภาพทั่วถึง ตอนนี้จึงมีแผนในการรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดการเรื่องอินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึงทุกโรงเรียน


          ถัดมาคือ การเพิ่มศักยภาพของเด็กเพื่อมุ่งสู่อาชีพมากขึ้น ไม่ใช่แค่มุ่งสู่สามัญเพียงอย่างเดียว เพื่อตอบโจทย์เด็กที่หลากหลาย ทั้งเด็กปกติ ด้อยโอกาส เด็กพิการ และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ โดยกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเชื่อมโยงตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงการศึกษานอกระบบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
 



          รวมถึงผู้นำการศึกษาที่เป็นเหมือนแม่ทัพ ต้องมีความพร้อมเพื่อบริหารการศึกษาให้เติบโต และสำคัญที่สุดคือ “ครู” เพราะวันนี้ถ้าอยากจะพาเด็กไป 4.0 แต่ครูยังอยู่ 3.0 ก็ขับเคลื่อนไม่ได้ โรงเรียนเป็นหน่วยงานที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุด ต้องทำให้มีคุณภาพด้วยความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการเข้ามาช่วยกันจัดการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ

 

          จุฬาฯปรับหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต 
          รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะเป็นคนผลิตทรัพยากรบุคคลตอบโจทย์ประเทศ ภารกิจหนึ่งของครุศาสตร์ จุฬาฯ คือ การผลิตครู เพื่อให้ครูสร้างคน และคนสร้างนวัตกรรม ดังนั้น เป้าหมายหลักในการสร้างคนมี 3 ประการ คือ Lifelong Learning สร้างผู้เรียน ให้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ตั้งแต่การเรียนในมหาวิทยาลัย ทำงาน และช่วงสุดท้ายของชีวิต Innovator สร้างนวัตกร เพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของประเทศ ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ และ Global Citizen การเป็นพลเมืองโลก เห็นภาพของโลกดิจิทัล ไม่ใช่แค่ในประเทศตัวเอง สามารถมองเห็น สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทั่วมุมโลกที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน


          สำหรับ การปรับเปลี่ยนในมหาวิทยาลัย มีการปรับทั้ง ด้านผู้เรียน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้แค่นิสิตนักศึกษาอีกต่อไป แต่มองไปถึงพลเมืองทุกช่วงวัยที่ต้องการพัฒนาตัวเอง โดยเน้นการเรียนเพื่อนำไปใช้ ไม่ใช่แค่คุณวุฒิ รวมถึงสามารถสร้างงานได้ ด้านหลักสูตรและการเรียนรู้ มีการปรับเปลี่ยนจากแค่หลักสูตรปริญญาบัตร สู่การตอบรับคนรุ่นใหม่ โดยมีตัวเลือกในการเรียนเป็นกลุ่มวิชา Module รายวิชา Course และ หัวข้อ Topic รวมถึงการสอนแบบบูรณาการศาสตร์ และเน้นสร้างสมรรถนะ เน้นการปฏิบัติได้จริง และสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านชุมชนการเรียนรู้


          สิงคโปร์ชู 3 ข้อผู้นำการศึกษา
          ศาสตราจารย์ ดร.ตัน อุ่น เส็ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาเด็ก, สถาบันการศึกษาแห่งชาติ สาธารณรัฐสิงคโปร์ กล่าวว่า ครูถือเป็นบุคลากรสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพของครูจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในสิงคโปร์ ครูต้องมีชั่วโมงการเรียนรู้ 100 ชั่วโมงนอกห้องเรียน ทั้งการเรียนรู้จากเพื่อนครูด้วยกัน โดยไม่ได้แค่มีความรู้เฉพาะวิชาที่ตัวเองสอน แต่ต้องเรียนรู้ในวิชาอื่นๆ รวมถึงการเรียนรู้จากชุมชนรอบข้าง นอกจากนี้ ครูต้องเข้าใจว่ามีภาระรับผิดชอบในการประเมินผล ส่งผลให้ครูต้องคิดว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร ขาดตรงไหนบ้าง และต้องพัฒนาเด็กอย่างไร


          หลักสำคัญในจัดการเรียนรู้ 3 ข้อ หรือที่เรียกว่า “BIG” ถือเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ (Big Learning) ในการออกแบบการเรียนการสอน ได้แก่ (B) Big Picture มองภาพใหญ่ ดูในเรื่องของการบูรณาการ ต้องคิดถึงการเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ มองเห็นภาพรวมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด ถัดมา คือ (I) Inquiry เสริมสร้างให้เด็กมีจินตนาการเชื่อมต่อสู่การรับรู้ ต้องรู้จักตั้งคำถาม และสุดท้าย (G) Grit คือ ทำให้เด็กมีอารมณ์ร่วม สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการทำให้เด็กมีภาวะที่เหมาะสม สามารถจัดการอารมณ์ได้ สร้างเด็กให้มีมุมมองหลายแบบไม่ใช่มีแค่คำตอบเดียว


          เด็กยุครุ่นใหม่“ต้องเข้าใจและนำไปใช้ได้”
          ด้าน อันเดรียส์ ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สาธารณรัฐฝรั่งเศส กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่เพื่อทักษะที่สำคัญในอนาคตว่า แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีกลายเป็นโลกแห่งการศึกษาของเด็กรุ่นใหม่ แต่มีคนเพียงบางส่วนที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาได้ 


          ในขณะที่สิงคโปร์ก้าวหน้าไปมากเพราะ 1 ใน 3 สามารถนำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาได้ ในปัจจุบัน ความรู้หลากหลายไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับความเข้าใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน คนรุ่นใหม่ต้องรู้ว่านำความรู้มาพัฒนาในยุคใหม่นี้อย่างไร ต้องเปลี่ยนจากความรู้ สู่ความเข้าใจ และนำไปใช้ได้


          สำหรับโรงเรียนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็ก ต้องมีการพัฒนาด้านทักษะให้ทั่วถึง ทำให้เด็กรู้จักตัวเอง และเดินไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง สร้างขีดความสามารถเพื่อเข้าสู่สังคม มีความรู้ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรม เด็กรุ่นใหม่ต้องสามารถตั้งคำถามได้ รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนการสอนเพื่อให้ครูมีส่วนร่วม และใช้เวลาการเรียนให้เหมาะสม 


          ประเทศฟินแลนด์ ใช้เวลาเรียนไม่ถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ผลการเรียนดีมาก ในขณะที่บางแห่งใช้เวลามาก แต่เรียนรู้น้อย และประเทศไทยต้องลงทุนในเรื่องการศึกษามากกว่านี้ ลงทุนเงินอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องคิดต่อไปว่าจะนำไปพัฒนาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และซับซ้อน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ