Lifestyle

สช.รับ26%ครูเอกชนถูกเบี้ยวเงินตั้งกก.เร่งแก้ปัญหา2สัปดาห์รู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สช.รับ26%ครูเอกชนถูกเบี้ยวเงินตั้งกก.เร่งแก้ปัญหา2สัปดาห์รู้ผล : รายงาน  โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 


 

          เรียกได้ว่ายิ่งสำรวจ ยิ่งพบปัญหาสำหรับกรณี “การจัดสรรเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนสมทบเป็นเงินเดือนครูไม่เพียงพอกับค่าตอบแทนครู” ที่ไม่ได้เกิดเฉพาะในพื้นที่โรงเรียนเอกชนภาคใต้ เมื่อผลสำรวจข้อเท็จจริงของสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) หน่วยงานต้นสังกัด ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกพื้นที่

 

 

          ตามที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าตรวจสอบโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปัตตานี แล้วพบว่า โรงเรียนยึดบัตรเอทีเอ็มที่ใช้คู่กับบัญชีเงินเดือนของครูในโรงเรียนจำนวน 23 ใบ ซึ่งโรงเรียนยึดเอาไว้แล้วไม่ได้เบิกจ่ายเงินเดือนให้ครูต่ำกว่าอัตราที่กำหนดคือ 15,000 บาทต่อเดือน โดยอ้างว่านำไปใช้ในกิจการอื่นของโรงเรียนหรือนำไปจ้างครูเพิ่มนั้น


          การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) นัดแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานได้มอบหมายให้ สช.เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ให้ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาในเรื่องนี้ และเสนอแนวทางการแก้ไขให้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งคณะทำงานต้องหาทางช่วยเหลือครูในโรงเรียนดีที่ได้รับการสนับสนุนไม่เพียงพอ ให้ได้รับเงินสมทบตามอัตราที่กำหนดไว้ รวมถึงได้ให้ไปสำรวจและหามาตรฐานในการดูแลครูทั้งในส่วนของโรงเรียนที่มีงบประมาณเพียงพอ แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่จ่ายเงินสมทบตามอัตราที่กำหนด


          26%ครูเอกชนไม่ได้เงินสมทบ
          ชลำ อรรถธรรม เลขาธิการ กช. กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องดังกล่าว เบื้องต้น สช.ได้ลงพื้นที่สำรวจว่าปัญหาคืออะไร เหตุใดโรงเรียนได้รับเงินสมทบน้อยเกินไป รวมถึงได้จัดประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัด ตัวแทนประธานคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด (ปส.กช.) ผอ.กลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผอ.กลุ่มนิเทศฯ เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและหาทางแก้ไข ซึ่งได้สรุปสาเหตุของปัญหาที่ก่อให้เกิดจากการที่เงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนที่สมทบเป็นเงินเดือนครูไม่เพียงพอกับค่าตอบแทนครูโดยจากการสำรวจข้อเท็จจริงในที่ประชุมยอมรับเป็นปัญหาในทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้
 

 


          จากการสำรวจภาพรวมโรงเรียนในสังกัด สช. พบว่า โรงเรียนที่เกิดปัญหาเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 320 คน เนื่องจากการสมทบเงินอุดหนุนรายบุคคลตามจำนวนนักเรียน ทำให้พบว่า มีโรงเรียนประมาณ 26% ของโรงเรียนทั้งหมด ที่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนในระบบของ สช. ที่ต้องไม่ได้เงินเบิกจ่ายเงินเดือนให้ครูต่ำกว่าอัตราที่กำหนดคือ 15,000 บาทต่อเดือน


          ตั้งคณะทำงานหามาตรการดูแลครู
          “ขณะนี้ สช.ได้ตั้งคณะทำงาน และมอบหมายให้ทางสมาคมประสานงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนสำรวจและหามาตรการที่จะดูแลครูให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีปัญหาจริงๆ ต้องหาเงินมาจ่ายให้แก่ครูตามจำนวนนักเรียนที่เหมาะสม เพราะงบประมาณที่ได้รับรายหัวไม่สามารถจ่ายเงินเดือนครูก็จะหาแนวทางในการหางบประมาณส่วนนี้มาเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือครู พร้อมสั่งการให้โรงเรียนดูแลครู และให้ความสำคัญกับครู โดยเฉพาะในเรื่องค่าตอบแทนที่เหมาะสม สช.จะวิเคราะห์ข้อมูล และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาแก่ รมว.ศึกษาธิการ ใน 2 สัปดาห์นี้” นายชลำ กล่าว


          ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้จ่ายเงินเดือนครูโดยตรง แต่จะสมทบกับเงินอุดหนุนรายบุคคลของนักเรียนระดับก่อนประถมและประถมศึกษาอัตรา 7,224.50 บาทต่อคน/ปี และระดับมัธยมศึกษา 9,032.50 บาท ต่อคน/ปี ซึ่งจะเป็นสมทบรวมกับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เป็นค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่รัฐอุดหนุนให้ โดยโรงเรียนจะต้องนำเงินจำนวนนี้จ่ายเป็นเงินเดือนครูเป็นอันดับแรก และที่เหลือจ่ายเป็นการจัดการเรียนการสอน พัฒนาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ปรับปรุงอาคารสถานที่ ฯลฯ


          กำชับร.ร.กำหนดสัดส่วนบรรจุครู
          ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน กำหนดให้โรงเรียนเป็นผู้จ้าง บรรจุ และจ่ายเงินเดือนครูเอง หากโรงเรียนบรรจุครูมากเกินไป ทำให้เป็นปัญหาค่าตอบแทนเงินเดือนครูไม่เพียงพอและไม่มีเงินเหลือเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนในส่วนอื่นๆ


          “ได้กำชับให้โรงเรียนบรรจุครูและบุคลากรในสัดส่วนที่เหมาะสม ต่อไป สช.ต้องกำหนดมาตรฐานการบรรจุครูที่เหมาะสม ส่วนบางเนื้อหา ที่จำเป็นต้องหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาสอน อาจต้องพิจารณาจ่ายเงินตอบแทนเป็นวิทยากรรายชั่วโมง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าตอบแทนรายเดือน แต่ต้องพิจารณาเฉพาะบางเนื้อหา และอาจเสนอให้มีการปรับเงินอุดหนุนสมทบเป็นเงินเดือนครูเพิ่มเติม ต่อไป” ชลำกล่าว


          ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำหนังสือถึงศึกษาธิการจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา สอบถามถึง ปัญหาและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณ เงินอุดหนุนรายบุคคล อุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี เงินอุดหนุนด้านกายภาพ และการจ่ายเงินเดือนครูของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ รวมทั้งปัญหาการจัดการศึกษาอื่นๆ ด้วย โดยให้รายงานภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา


          รวมทั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน เลขาธิการ สช. ชลำ อรรถธรรม ได้ทำหนังสือถึงศึกษาธิการจังหวัดดังกล่าว โดยระบุในหนังสือว่า การที่โรงเรียนยึดถือบัตรกดเงินสดของครูผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนจากเงินอุดหนุนรายบุคคล เพื่อดำเนินการลักษณะดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้
ขอใบอนุญาตฯสอนแก่ครูเอกชน


          อย่างไรก็ตามในการประชุม กช.นัดแรก ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานที่เป็นจุดเน้นทิศทางการดำเนินการเรื่องการศึกษาเอกชนต่างๆ ให้ที่ประชุมรับทราบ พร้อมทั้งหารือถึงการตั้งคณะอนุกรรมการ กช.ชุดใหม่ ซึ่ง “รมว.ศึกษาธิการ” มอบให้บอร์ด กช.ชุดใหม่ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 8 คณะใหม่ทันที โดยหลังจากนี้จะฟอร์มทีมและสรรหาประธานแต่ละคณะต่อไป


          ทั้งนี้ สช.ได้เสนอขอใช้งบประมาณกลางช่วยโรงเรียนเอกชนที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่งได้ใช้งบประมาณส่วนหนึ่งช่วยเหลือแต่ยังไม่เพียงพอ โดยที่ประชุมแนะนำให้ สช.กลับไปทบทวนว่าสามารถปรับแผนใช้งบประมาณเป็นการภายในก่อนได้หรือไม่ ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือถึงใบอนุญาตประกอบปฏิบัติการสอน 2 ปี หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราวของครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งคุรุสภาให้ผ่อนผันได้คราวละ 2 ปีจำนวน 3 ครั้ง ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ มีความเห็นว่า ผู้ที่เป็นครูมาแล้ว 6 ปี และมีผลงานประเมินยอดเยี่ยม อยากให้คุรุสภาเปิดโอกาสให้แก่ครูเหล่านี้ให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู


          ขณะเดียวกันได้หารือถึงสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนด้วย เนื่องจากขณะนี้เงินกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนมีไม่เพียงพอต่อการจัดสวัสดิการให้แก่ครูเอกชน เพราะมีทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เนื่องจากปัจจุบันสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของครูเอกชนได้สิทธิคนละ 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ดังนั้น จะประสานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานประกันสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหาทางออกต่อไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ