Lifestyle

รพ.(ไม่)รับรักษา คนไข้ต้องไม่ฉุกเฉิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รพ.(ไม่)รับรักษา คนไข้ต้องไม่ฉุกเฉิน : รายงาน  โดย.... พวงชมพู ประเสริฐ  qualitylife4444 @gmail.com 



          เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น กรณีผู้เจ็บป่วยไปเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วถูกบอกให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งตามสิทธิประกันสังคมของผู้ป่วย จนท้ายที่สุด “ผู้ป่วยเสียชีวิต” !!!! 

 

 

          ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 มีสาระสำคัญ คือ “สถานพยาบาลต้องให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ เมื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยแล้ว ถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อหรือผู้ป่วยมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสม"


          นั่นย่อมหมายความว่า “หากเป็นกรณีฉุกเฉิน โรงพยาบาลไม่มีสิทธิปฏิเสธคนไข้ ต้องให้การช่วยเหลือเยียวยา" จุดสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบอย่างเร่งด่วนว่า สถานพยาบาลทำผิดกฎหมายในส่วนนี้หรือไม่ !!! 

 

 

 

รพ.(ไม่)รับรักษา คนไข้ต้องไม่ฉุกเฉิน

 


          เรื่องนี้ นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส.ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เร่งเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว จะมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญคือ ในระยะเวลาที่เกิดเหตุโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวมีการประเมินและช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อ หรือผู้ป่วยมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่ หากพบว่าทางโรงพยาบาลมิได้ดำเนินการตามมาตรฐาน สบส.จะลงโทษตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 โดยทันที ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 



          ประเด็นเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉิน นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อธิบายว่า เกณฑ์การฉุกเฉิน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ วิกฤติเร่งด่วน วิกฤติไม่เร่งด่วน และวิกฤติถึงแก่ชีวิต แต่ไม่ว่าจะเข้าโรงพยาบาลด้วยเหตุฉุกเฉินแบบใด โรงพยาบาลต้องให้การรักษา อย่างน้อยต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้น


          สำหรับกรณีการสาดน้ำกรดนั้น ทราบว่าทางผู้ป่วยแจ้งว่ามีอาการปวดแสบปวดร้อน ซึ่งไม่ระบุแน่ชัดว่า โดนสารเคมี หรือน้ำร้อน เบื้องต้นก็ต้องล้างแผล ด้วยน้ำสะอาด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะระบุสาเหตุ เพราะอาจจะมีร่องรอยไม่มาก กรณีหากถูกน้ำกรดสาดก็ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกสาด แต่เมื่อไม่ทราบสาเหตุอาจจะต้องให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ


          ในการรักษาผู้ป่วยนั้นจะอ้างเรื่องสิทธิการรักษาเพื่อให้กลับไปยังต้นสังกัดไม่ได้ เพราะในมาตรา 28 พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้หน่วยปฏิบัติการสถานพยาบาล และผู้ปฏิบัติการดำเนินการปฏิบัติการฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ ตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ ทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมิให้นำสิทธิประกัน การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาล หรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใดๆ มาเป็นเหตุปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินให้ไม่ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

 

 

รพ.(ไม่)รับรักษา คนไข้ต้องไม่ฉุกเฉิน

 

 

          อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉินโดยเฉพาะฉุกเฉินวิกฤติ สถานพยาบาลต้องให้การรักษาผู้ป่วยตามสิทธิ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซ็บ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) โดยประชาชนทุกคนไม่ว่ามีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐใดก็ตาม เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตภายใน 72 ชั่วโมง ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ โดยโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือจุดเกิดเหตุที่สุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเมื่อพ้นวิกฤติ 72 ชั่วโมงแล้วก็ต้องทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสิทธิต่อไป ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560


          สำหรับกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินสีแดง คือ ระดับวิกฤติ ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ใน 72 ชั่วโมงแรกให้กองทุนสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์อยู่เป็นผู้จ่ายค่ารักษา หลังจาก 72 ชั่วโมงหากผู้ป่วยสามารถย้ายกลับสถานพยาบาลตามสิทธิ์ได้ให้ย้ายกลับ เว้นกรณีที่ไม่สามารถย้ายกลับได้ทั้งในกรณีที่สถานพยาบาลต้นสังกัดไม่มีเตียงรองรับหรือและอาการผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น กองทุนจะจ่าย แต่หากย้ายได้แต่ผู้ป่วยไม่ต้องการย้ายเองนั้น ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนหลัง 72 ชั่วโมงเอง


          กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินระดับสีเหลืองหรือฉุกเฉินเร่งด่วน และสีเขียวคือฉุกเฉินไม่เร่งด่วน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกให้กองทุนจ่าย โดยผู้ป่วยนอกจ่าย 700 บาทต่อครั้ง ผู้ป่วยในจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องและค่าอาหาร ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินรายละ 4,500 บาทต่อครั้ง กรณีผ่าตัดใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง จ่ายตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 8,000 บาทต่อครั้ง กรณีผ่าตัดใหญ่และใช้เวลาเกินกว่า 2 ชั่วโมงหรือรักษาในไอซียู จ่ายตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 14,000 บาทต่อครั้งและค่ารถพยาบาล หรือเรือพยาบาลนำส่งจ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 500 บาทต่อครั้งหลังจาก 24 ชั่วโมง กรณีไม่สามารถย้ายกลับเข้าระบบได้ ทั้งไม่มีเตียงรองรับและอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ให้กองทุนจ่ายตามราคาเรียกเก็บ แต่หากไม่ย้ายกลับเพราะผู้ป่วยไม่ย้าย ผู้ป่วยจะต้องจ่ายค่ารักษาเอง

 

 

รพ.(ไม่)รับรักษา คนไข้ต้องไม่ฉุกเฉิน

 

 

          นิยามการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 
          1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ต้องได้รับการวินิจฉัยและให้การตรวจรักษาทันที อาทิ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะหยุดหายใจ ภาวะช็อกจากการเสียเลือดรุนแรง ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว อาการซึม หมดสติ ไม่รู้สึกตัว อาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน และอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เป็นต้น


          2.ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ต้องการช่วยเหลือโดยเร็ว รอได้บ้างแต่ไม่นาน อาทิ หายใจลำบาก หรือหายใจเหนื่อยหอบ เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย ชีพจรช้ากว่า 40 หรือเร็วกว่า 150 ครั้งต่อนาที อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส หรือสูงกกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกพิษ หรือภาวะจิตเวชฉุกเฉิน เป็นต้น


          3.ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเดินทางไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเองได้ แต่หากปล่อยไว้เกินเวลาอันสมควรแล้วจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ