Lifestyle

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย : รายงาน  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก  [email protected]


 

          ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และสถานวิจัยความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค้นพบ “สารโรโดไมรโทน” (Rhodomyrtone) จาก ใบกระทุ และ ใบยูคาลิปตัส ใช้ในกระบวนการผลิต อนุภาคซิลเวอร์นาโน ขยายผลสู่การทดลองเคลือบบนท่อหายใจ และถุงมือยาง เพื่อลดการติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียในคนไข้

 

 

          ศ.ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาจุลชีววิทยาการแพทย์ เผยว่าปัจจุบันระดับความรุนแรงของปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ยังไม่พัฒนา และยังคงมีรายงานแบคทีเรียดื้อยาชนิดอุบัติใหม่ซึ่งเป็นปัญหาทางการแพทย์มาโดยตลอด สำหรับในประเทศไทยประสบปัญหาเชื้อดื้อยาอันดับต้นๆ ของเอเชีย และไม่มีการผลิตยาต้านแบคทีเรียกลุ่มใหม่มากกว่า 30 ปีแล้ว ในขณะที่เชื้อแบคทีเรียกลับพัฒนาตัวมันเองอย่างต่อเนื่อง

 

 

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย

 


          นำไปสู่การจัดตั้ง โครงการวิจัยแผนงานวิจัยแบบมุ่งเป้าเพื่อแก้ปัญหาการติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ของภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และสถานวิจัยความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจากการวิจัยพบสารโรโดไมรโทน จากใบกระทุ และใบยูคาลิปตัส ซึ่งถือเป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถนำมาใช้ในกระบวนการผลิตอนุภาคซิลเวอร์นาโน

 

 

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย

 

 

          ต่อยอดเชิงพาณิชย์-ช่วยชุมชน
          ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรพร้อมเดินหน้าขยายผลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยใช้ซิลเวอร์นาโนเคลือบวัสดุต่างๆ ทางการแพทย์ ปัจจุบันมีการเริ่มโครงการเพาะปลูกต้นกระทุ และพัฒนาวิธีการสกัดสารให้ได้ปริมาณสูงขึ้น โดยจับมือรัฐวิสาหกิจชุมชนศูนย์เพื่อเพาะปลูกต้นพันธุ์กระทุ ช่วยผู้สูงอายุให้มีงานทำ ถือเป็นการพัฒนาพืชท้องถิ่นที่ไม่เคยมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมาก่อน นอกจากนี้ยังค้นพบแหล่งต้นกระทุทางฝั่งภาคตะวันออก ได้แก่ ตราด และจันทบุรี จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงในการพัฒนาแหล่งที่พบต่อไป รวมไปถึงการรับซื้อใบยูคาลิปตัสจากโรงงานทำกระดาษ ซึ่งเป็นส่วนที่โรงงานไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

 

 

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย


 

          “ท่อหายใจ” ลดการติดเชื้อ
          ผศ.นพ.วีระพงศ์ วัฒนาวนิช หัวหน้าสาขาเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ให้ข้อมูลว่าปัญหาหนึ่งที่แพทย์พบคือการติดเชื้อปอดอักเสบของผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานานกว่า 48 ชั่วโมง และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แนวทางหนึ่งในการป้องกันคือใช้ท่อหายใจที่เคลือบด้วยอนุภาคซิลเวอร์นาโน ซึ่งไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ต้องนำเข้าจากอเมริกาในราคาที่สูงกว่า 16,000 บาท ในขณะที่ท่อหายใจธรรมดาราคาเพียง 120 บาท ซึ่งใช้ได้ 4 วันต่อ 1 อันเท่านั้น นำไปสู่การต่อยอดโครงการประดิษฐ์ท่อหายใจที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียและไบโอฟิล์ม เคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโนซึ่งใช้สารสกัดจากใบยูคาลิปตัสเป็นสารรีดิวซ์

 

 

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย

 


          ศักรินทร์ เหล่ทองคำ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในทีมวิจัยและผู้ได้รับทุนจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) เปิดเผยว่า จากผลการทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียระหว่างท่อหายใจเคลือบซิลเวอร์นาโนของอเมริกาและไทย พบว่าประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่ของไทยสามารถยับยั้งเชื้อได้ดีกว่าและสามารถใช้ได้นานกว่า 1 เดือน ตอนนี้ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพในสัตว์ทดลอง หลังจากนี้จะใช้ทดลองกับสัตว์ในโรงพยาบาลสัตว์ที่เจ้าของสมัครใจและนำไปสู่การใช้กับมนุษย์ในอนาคต คาดว่าหากงานวิจัยสามารถใช้ได้จริง จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจได้

 

 

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย

 


          ด้าน ศ.ดร.ไพศาล กิตติศุภกร ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รักษาการผู้อำนวยการโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีแนวทางชัดเจนว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยพวอ.ได้ให้ทุนวิจัยแก่นักศึกษามาทำการศึกษาระดับปริญญาเอกต่อ เพื่อนำงานวิจัยระดับพื้นฐานมาพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เราอยากให้มีการลดการพึ่งพาเทคโนโลยี ลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ประเทศเราน่าจะมีจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเอง งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้บริษัทที่ร่วมทุนเห็นความสำคัญ นำไปต่อยอดพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป ในส่วนนิสิตนักศึกษาเองก็อยากให้เป็นนักวิจัยอาชีพ ช่วยทำให้การพัฒนางานวิจัยให้ไปใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องต่อไป

 

 

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย

 


          “ถุงมือยาง” เคลือบซิลเวอร์นาโน
          อีกหนึ่งสาเหตุการติดเชื้อในโรงพยาบาล คือการสัมผัสฝุ่นละอองทางอากาศ ทางสื่อนำและสัตว์นำโรค รวมไปถึงระหว่างการผ่าตัด โดยพบการแพร่กระจายทางการสัมผัสผ่านมือของบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุดกว่า 50% แม้จะมีการใส่ถุงมือยางก็ตาม นำไปสู่การต่อยอดโครงการถุงมือยางเคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโนเพื่อลดการติดเชื้อในโรงพยาบาล รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพของถุงมือยางในประเทศไทย


          สุภากิจ เภาเสน นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวว่า อนุภาคซิลเวอร์นาโนเป็นที่นิยมในการยับยั้งเชื้อโรค เนื่องจากออกฤทธิ์ในวงกว้าง กรรมวิธีการสังเคราะห์ชั้นเคลือบมีความพิเศษคือไม่ใช่สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม สามารถใช้สังเคราะห์ชั้นเคลือบบนพื้นผิวได้ทั้งด้านนอกและด้านในถุงมือ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า ประมาณ 30 บาทต่อคู่ (ถุงมือไม่เคลือบราคา 10 บาทต่อคู่) หากนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย จะมีราคาสูงถึงกล่องละ 1,000 บาท (มี 25 คู่) ปัจจุบันการผลิตถุงมือยางเคลือบซิลเวอร์นาโนอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์การแพ้ในคนซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาในการขอจริยธรรมประมาณ 1 ปี

 

 

สกัดสารจาก "กระทุ-ยูคาลิปตัส"ผลิตซิลเวอร์นาโน ต้านแบคทีเรีย

 

          “ด้วยราคาที่ไม่แพง จะทำให้ผู้ใช้และหน่วยงานทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงเป็นการลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลให้น้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยยกระดับคุณภาพถุงมือยางซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยได้อีกด้วย” สุภากิจ กล่าวทิ้งท้าย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ