Lifestyle

เช็กกระแส"หนุน-ค้าน"โชว์ขุมทรัพย์นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็กกระแส"หนุน-ค้าน"โชว์ขุมทรัพย์นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย : รายงาน โดย... ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected]

 


          หลังประกาศฉบับใหม่ของ ป.ป.ช. ที่ให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทั้งของมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยนอกระบบ หรือ “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ออกมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้มีกระแสข่าวว่า “กรรมการสภามหาวิทยาลัย” โดยเฉพาะในสายผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ซึ่งมาจากภาคเอกชน เตรียมไขก๊อกลาออกเป็นจำนวนมาก เพราะไม่อยากแสดงบัญชีทรัพย์สิน

 

 

          อย่างที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ ทปอ.มทร. 9 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้การนำของ “วิโรจน์ ลิ้มไขแสง” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในฐานะประธานที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร. มีมติคัดค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สินของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้เหตุผลว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากในวงการอุดมศึกษา กระทั่งมีการเรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้ช่วยหารือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อทบทวน

 

เช็กกระแส"หนุน-ค้าน"โชว์ขุมทรัพย์นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย

 

 


          "นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย สายผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ละแห่งมีจำนวน 15 คน ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน ต่างแสดงความจำนงที่จะขอลาออกจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะต้องมายื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะการเข้ามานั่งเป็นนายกสภา หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย เข้ามาด้วยใจ ไม่ได้มีผลประโยชน์" 


          ขณะที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แม้ว่าจะเห็นด้วยในหลักการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในภาครัฐ ดังนั้น ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ อธิการบดี และรองอธิการบดี จึงควรยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ตามที่กำหนดในประกาศ แต่การที่ให้นายก และกรรมการสภา ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง อันจะทำให้เกิดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ กรรมการสภาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหาร หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้กรรมการสภา ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

 

 

เช็กกระแส"หนุน-ค้าน"โชว์ขุมทรัพย์นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย

 

 

          ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธาน ทปอ. อธิบายว่า ผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ ทำให้นายก และกรรมการสภาบางแห่ง ไม่ประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะการยื่นบัญชีทรัพย์สินแม้ว่าจะเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อธรรมาภิบาล แต่ก็เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องยื่นทรัพย์สินมากเกินควร รวมทั้งต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรด้วย

 

 

เช็กกระแส"หนุน-ค้าน"โชว์ขุมทรัพย์นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย

 


          ขณะเดียวกัน ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศเพียง 60 วัน ไม่เพียงพอต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องและครบถ้วนได้ ดังนั้น หากยื่นบัญชีผิดพลาด แม้ไม่ได้เจตนาก็อาจมีโทษทางอาญาและถูกศาลพิพากษาจำคุกได้ จึงได้มีนายก และกรรมการสภาบางแห่ง ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว ส่งผลกระทบให้สภา มีกรรมการสภาไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ส่งผลเสียต่อการบริหารงานในมหาวิทยาลัย และนิสิต นักศึกษา


          “อธิการบดี ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกกลุ่มมาหารือ และมีมติร่วมกันเสนอให้ ป.ป.ช.ทบทวน เพราะตอนนี้กรรมการสภาบางแห่งได้ยื่นลาออกแล้ว ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาและอาจส่งผลกระทบต่อนิสิต นักศึกษา จากนี้จะทำหนังสือถึง ป.ป.ช. และเตรียมจะเข้าไปหารือกับประธาน ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการต่อไป” ประธาน ทปอ. กล่าว

 

 

 

เช็กกระแส"หนุน-ค้าน"โชว์ขุมทรัพย์นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย

 


          นพ.กำจร ตติยกวี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า ถ้า ป.ป.ช.ทบทวน หรือปรับวิธีการการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้มีความสะดวกมากขึ้น เช่น ยื่นครั้งเดียวครอบคลุมทุกตำแหน่ง หรือมีระยะเวลาการยื่น เช่น 4 ปีครั้ง ก็จะทำให้สะดวกมากขึ้น เชื่อว่าขณะนี้ทุกคนกำลังรอดูท่าที ป.ป.ช. ยอมรับว่าสภาจุฬาฯ หารือเรื่องนี้กันจริง และมีบางคนมีความประสงค์ว่าหากการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช.ทำให้เกิดความยุ่งยาก ก็อาจจะลาออกจากตำแหน่ง


          นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) กล่าวว่า ควรจะหาทางออกที่เป็นทางสายกลางคือ ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินแต่เก็บข้อมูลใส่ซองไว้ในกรณีที่มีปัญหาค่อยมาเปิดดู ไม่ใช่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพราะหากเป็นภาคเอกชนที่เชิญเข้ามาเชื่อว่าไม่ต้องการที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินแน่นอน ซึ่งในส่วนของ ม.อ.ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ต้องรอดูว่า รมว.ศึกษาธิการ จะมีความเห็นเป็นอย่างไร

 

          วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สมาชิกสนช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า บุคคลที่มหาวิทยาลัยเชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ทำให้เกิดความกังวล หากจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะหากยื่นผิดจะมีความผิดทางกฎหมาย จึงอยากให้ ป.ป.ช.ทบทวนเรื่องนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจเหล่านี้ มีมุมมองประสบการณ์ ให้คำแนะนำด้านการบริหารงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย คนเหล่านี้ไม่มีเงินเดือน มีแค่เบี้ยประชุมเท่านั้น อย่างสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนี้ ก็มีกรรมการสภาหลายคนเปรยๆ จะลาออก หากต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย สายที่เป็นอาจารย์ก็อยากยื่นลาออกด้วย

 

 

เช็กกระแส"หนุน-ค้าน"โชว์ขุมทรัพย์นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย

 


          เดิมผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ 58 แห่ง คือตำแหน่งในกลุ่มอธิการบดีที่มีสถานะเป็นข้าราชการ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลด้วย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกันอยู่แล้ว แต่ประกาศของ ป.ป.ช.ฉบับใหม่ได้ขยายตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไปถึงอธิการบดี นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอีก 26 แห่ง ตลอดจนนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐ 58 แห่งด้วย (เดิมให้ยื่นเฉพาะอธิการบดี แต่ล่าสุดให้ขยายไปถึงนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย) โดยผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อ ป.ป.ช. มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม เป็นต้นไป


          อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีอีกฝั่งที่เห็นต่าง ก็คือ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES นำโดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ได้เดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนประกาศฉบับใหม่ของ ป.ป.ช. ที่ให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐและในกำกับของรัฐทั่วประเทศ ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการทุจริตในแวดวงอุดมศึกษา ท่ามกลางวิกฤติปัญหาธรรมาภิบาลในปัจจุบัน พร้อมทั้งได้ขอให้ ป.ป.ช.ขยายการบังคับให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไปจนถึงระดับ “คณบดี” ด้วยเพราะจะเป็นผลดีต่อการสร้างธรรมาภิบาลในระบบอุดมศึกษา รวมทั้งที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือ ทป.มรภ. ก็มีมติเห็นชอบตามประกาศ ป.ป.ช. และสนับสนุนให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทุกคนเช่นกัน     


          เรื่องนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็รับลูก เตรียมนัดหารือกับประธาน ป.ป.ช. ล่าสุด พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะหารือกับรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม และจะยุติความสับสน ผลสุดท้ายกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ สัปดาห์หน้าก็จะได้รู้กัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ