Lifestyle

คนไทยกินเค็มเกิน2เท่าป่วยพุ่งหนุนเก็บภาษีเค็มลดโรคอายุยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนไทยกินเค็มเกิน2เท่าป่วยพุ่งหนุนเก็บภาษีเค็มลดโรคอายุยืน : รายงาน  โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] 


 

          ขณะนี้คนไทยกินเค็มหรือบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า โดยเมื่อ 8 ปีก่อนคนไทยบริโภคเกลือมากถึง 4,000 มิลลิกรัม(มก.)ต่อวัน เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า โดยสัดส่วนของการบริโภคโซเดียมที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 600 มก.ต่อมื้อ หรือ 2,000 มก.ต่อวัน แต่จากการสำรวจล่าสุดมีข้อมูลว่าคนเริ่มบริโภคเกลือลดลงเหลือประมาณ 3,500 มก.ต่อวัน ขณะที่ในอาหารกึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมมากถึง 1,800 มิลลิกรัม และบางคนกินมากกว่าวันละ 2 ซอง   

 

 

          หลังจากที่กรมสรรพสามิต เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาแพ็กเกจภาษีใหม่ โดยจะเก็บภาษีสินค้าที่มีความเค็ม แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าจะมีสัดส่วนจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายลดบริโภคเค็มอย่างชัดเจน ล่าสุด ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเข้าใจว่ายังคงเป็นข้อเสนอ ยังไม่เห็นหน้าตาออกมาเป็นรูปธรรมว่า จะมีการเก็บในอัตราเท่าไรอย่างไร แต่คาดว่าคงจะได้ตัวอย่างจากภาษีน้ำตาล ซึ่งหากมีการออกกฎหมายเก็บภาษีความเค็มจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะไปมุ่งเป้าสินค้าอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง หากไม่อยากเสียภาษีมากก็ต้องปรับสูตรลดความเค็มลง ซึ่งการกินเค็มน้อยจะช่วยป้องกันโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น

 

คนไทยกินเค็มเกิน2เท่าป่วยพุ่งหนุนเก็บภาษีเค็มลดโรคอายุยืน

 


          การเก็บภาษีความเค็มอาจมีผลกระทบต่อประชาชนบ้างเล็กน้อย เพราะหากปรับสูตรรสชาติทันทีเลย คนที่ยังกินรสชาติเค็มอาจจะไม่ชิน ซึ่งการปรับสูตรลดความเค็มจะต้องปรับให้ลดลงไม่เกิน 10% ซึ่งลิ้นของผู้บริโภคจะจับไม่ได้ว่าความเค็มเปลี่ยน โดยต้องค่อยๆ ลดความเค็มลงไป แต่ข้อดีคือหากปรับก็เป็นการปรับทุกบริษัท เป็นการไปลดความเค็มหรือลดเกลือตั้งแต่ต้นทาง ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือก แต่คนที่อยากกินเค็มก็มีสิทธิไปเติมเอง ดังนั้น นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว ที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การรณรงค์ลดบริโภคเค็ม เพราะทุกวันนี้คนก็ยังติดการกินเค็มอยู่



         

          ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้คนไทยกินเค็มหรือบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า โดยเมื่อ 8 ปีก่อนคนไทยบริโภคเกลือมากถึง 4,000 มิลลิกรัม(มก.)ต่อวัน เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า โดยสัดส่วนของการบริโภคโซเดียมที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 600 มก.ต่อมื้อ หรือ 2,000 มก.ต่อวัน แต่จากการสำรวจล่าสุดมีข้อมูลว่าคนเริ่มบริโภคเกลือลดลงเหลือประมาณ 3,500 มก.ต่อวัน ขณะที่ในอาหารกึ่งสำเร็จรูปใน บะหมี่ โจ๊กซอง โจ๊กถ้วย 1 ซองบริโภคมีปริมาณโซเดียมมากถึง 1,800 มิลลิกรัม และบางคนกินมากกว่าวันละ 2 ซอง

 

คนไทยกินเค็มเกิน2เท่าป่วยพุ่งหนุนเก็บภาษีเค็มลดโรคอายุยืน

 

 


          “หากมีการควบคุมในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจะทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีฉลากแสดงปริมาณสัดส่วนของโซเดียมและเกลือในอาหาร ง่ายแก่การควบคุม ส่วนการควบคุมในระดับเครื่องปรุง หรือซอสต่างๆ นั้น คงเป็นเรื่องยาก และต้องมีการศึกษาก่อนตัดสินใจ อย่างไรก็ตามต้องเดินหน้ารณรงค์ลดบริโภคเค็มลงอีก ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้คนในสังคมตื่นตัวมากขึ้น เห็นได้จากสินค้าต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวทำสูตรลดเค็มกันมากขึ้น เช่น น้ำปลาลดโซเดียม ซีอิ๊วลดโซเดียม เป็นต้น เพราะคนต้องการสินค้าทางเลือกสุขภาพมากขึ้น การมีภาษีความเค็มออกมาเครือข่ายก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งหากทางสรรพสามิตเห็นว่ามีผลดีก็ควรเร่งขับเคลื่อน" ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

 

 

คนไทยกินเค็มเกิน2เท่าป่วยพุ่งหนุนเก็บภาษีเค็มลดโรคอายุยืน

 


          วันเดียวกัน นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวในการลงพื้นที่ห้างโกลเด้นเพลซ สาขาถนนสุโขทัย จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการมอบ “กระเช้าผลิตภัณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดี ผู้บริโภคได้เรียนรู้เรื่องการบริโภคที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงข้อมูลโภชนาการได้ง่ายขึ้น จึงมีการแสดงฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารให้ข้อมูลด้านโภชนาการกับผู้บริโภคได้รับทราบถึงข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เพื่อให้เกิดการเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อสุขภาพ ช่วยป้องกันปัญหาภาวะโภชนาการเกินและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค


          “ที่ผ่านมาได้มีการออกสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) บนฉลากผลิตภัณฑ์ หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์นี้ จะทำให้ผู้บริโภคได้เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมต่อสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น” นพ.เสรีกล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการอย. กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่ยากที่ผู้บริโภคสามารถดูฉลากที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ด้วยตนเอง ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการนี้จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วจำนวน 7 กลุ่มอาหาร ได้แก่ กลุ่มอาหารมื้อหลัก 13 ผลิตภัณฑ์, กลุ่มเครื่องดื่ม 582 ผลิตภัณฑ์, เครื่องปรุงรส 14 ผลิตภัณฑ์, อาหารกึ่งสำเร็จรูป 37 ผลิตภัณฑ์ (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและโจ๊ก), ผลิตภัณฑ์นม 103 ผลิตภัณฑ์, ขนมขบเคี้ยว 35 ผลิตภัณฑ์ และไอศกรีม 28 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งหมด 812 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ที่แสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเพื่อสุขภาพ และร้านค้าทั่วไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ