Lifestyle

บริการดี-ราคาสมเหตุสมผลหนุนไทยสู่เมดิคัลฮับแพทย์ครบวงจร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บริการดี-ราคาสมเหตุสมผลหนุนไทยสู่เมดิคัลฮับแพทย์ครบวงจร : รายงาน  โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ  [email protected] 

 


          ประเทศไทยประกาศนโยบาย “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” หรือ เมดิคัลฮับ ตั้งแต่ปี 2547 โดยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยจากปี 2547 จำนวน 1,103,095 ครั้ง เป็นจำนวน 3,300,000 ครั้ง ในปี 2560 และกลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านบาท

 

 

          นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อธิบายว่า ภายใต้นโยบายเมดิคัลฮับของไทยมี 4 ผลผลิตหลัก ประกอบด้วย 1.ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) 2.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) จะเป็นบริการที่เน้นการฟื้นฟูตัวเอง และเข้ามาพักเป็นระยะยาว เช่น สปา นวดไทย 3. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) มุ่งหวังผลิตภัณฑ์จากสปาและนวดไทยที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย 
    

          รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรแชมเปี้ยนของไทย 4 ชนิดคือ ขมิ้นชัน บัวบก ไพลและกระชายดำ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยแล้ว จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลับไป เช่น เมื่อไปจีนจะนึกถึงบัวหิมะ หรือไปเกาหลีใต้จะนึกถึงโสม และ 4.ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) จะเป็นการสนับสนุน 3 ข้อแรก ซึ่งจะมีการหารือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการให้ทุนนักศึกษาจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เข้ามาศึกษาด้านสาธารณสุขในประเทศไทย 
    

          ทั้งนี้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร” จัดเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาพรวมของเมดิคัลฮับไทย พบว่า ปี 2561 โรงพยาบาลของไทยผ่านมาตรฐานสถานพยาบาลระดับสากล (JCI) ถึง 63 แห่ง และผ่านมาตรฐานสถานพยาบาลไทย (HA) ถึง 1,382 แห่ง ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี 2561 ระบุว่าสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจาก 2.5% ในปี 2559 เป็น 4.8% ในปี 2560


       
          จุดเด่นสำคัญของเมดิคัลฮับไทยในปัจจุบัน คือ “การบริการที่ดี” ซึ่งคนไทยมีลักษณะนิสัยในการดูแลผู้อื่นที่ดี และ “ราคา” ที่สมเหตุสมผล แต่การที่ประเทศไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ด้วยราคาเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้อีกต่อไป ต้องเน้นเรื่องคุณภาพสำคัญที่สุดและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนานวัตกรรมทั้งในด้านการบริการทางการแพทย์และด้านการดูแลสุขภาพใหม่ๆ ขึ้นเพื่อแข่งขันกับนานาชาติ เพราะปัจจุบันมีหลายประเทศไทยที่ประกาศตัวขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย เป็นต้น 


          การสนับสนุนเมดิคัลฮับของภาครัฐ นพ.ธงชัย บอกว่า จะดำเนินการทั้งในส่วนการลดเงื่อนไขที่มีกฎระเบียบเป็นปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อน และส่งเสริมในเรื่องต่างๆ ซึ่งการที่จะทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการในประเทศไทย 1.จะต้องทำให้สถานบริการมีมาตรฐาน สร้างความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นมากขึ้น อย่างเช่น การออกพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 จะทำให้ร้านสปา ร้านนวดไทยมีมาตรฐานสามารถคุ้มครองผู้รับบริการได้ เป็นต้น และ 2.คุณภาพ ทั้งคุณภาพของสถานบริการและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ 

 

          นอกจากนี้การลดอุปสรรคอย่างหนึ่ง คือ ในกลุ่มเป้าหมายที่เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยนั้น คนไข้และญาติติดตามรวม 3 คน สามารถขอวีซ่าอยู่ในประเทศไทยได้นาน 90 วัน โดยปัจจุบันให้สิทธิ์นี้กับ 11 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม คูเวต บาห์เรน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว ขยายระยะเวลาอนุญาตพำนักจาก 1 ปี เป็น 10 ปี สำหรับชาวต่างชาติที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปและเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพจะต้องมีเงินในบัญชีอย่างต่ำ 3 ล้านบาทและมีประกันสุขภาพ โดยต่อวีซ่าทุก 5 ปี นำร่องใน 14 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และแคนาดา


          “โอกาสของเมดิคัลฮับไทยมีโอกาสเติบโตสูงมาก เนื่องจากศักยภาพทางการแพทย์ของประเทศไทยไม่ด้อยกว่าประเทศไหนในอาเซียน รวมถึง การบริการที่ดีและราคาที่สมเหตุผล ที่สำคัญโครงการสร้างประชากรโลกจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นและแนวโน้มของทั่วโลกจะมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพตัวเองทั้งสิ้น จึงต้องทำให้ชาวต่างชาติคิดถึงเมืองไทยเป็นประเทศแรกๆ เมื่อนึกถึงการดูแลสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันบริการด้านนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก” นพ.ธงชัยเชื่อมั่น 


          อย่างไรก็ตาม นพ.ธงชัย ยอมรับว่าเมื่อเมดิคัลฮับของประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นจากนานาประเทศ ส่งผลให้มีเอเจนซีชักชวนคนจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก เข้าตรวจสุขภาพฟรีกับสถานพยาบาลเอกชนของไทยแล้วเอเจนซีนำผลการตรวจไปปลอมแปลงเพื่อแฝงการขายอาหารเสริมให้นักท่องเที่ยว โดยสบส.ได้ประสานไปยังสมาคมโรงพยาบาลเอกชนให้รับทราบถึงปัญหานี้และระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยผลการตรวจสุขภาพให้บุคคลอื่นแทนคนไข้ เพราะสถานพยาบาลอาจมีความผิดจากการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพของคนไข้
  

          “การที่ไทยประกาศนโยบายเมดิคัลฮับไม่กระทบกับระบบบริการสุขภาพคนไทย หลายคนเมื่อพูดถึงเมดิคัลฮับแล้วจะตกใจว่าคนไทยยังไม่ดูแลเลยจะไปทำอะไร อย่างไร แต่จริงๆ เมดิคัลฮับมี 4 ผลิตผล อย่ามองเพียงบริการทางการแพทย์อย่างเดียว และการแพทย์ที่เราส่งเสริมสิ่งที่จะได้รับกลับมาด้วย คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการใช้ดูแลทางการแพทย์คนไทยก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย” นพ.ธงชัย เน้นย้ำปิดท้าย 


          เปรียบเทียบ “เมดิคัลฮับ” ไทยกับ 4 ประเทศ 
          สิงคโปร์  เน้นการให้บริการการแพทย์ขั้นสูง ส่งเสริมการสร้างมาตรฐานของโรงพยาบาลให้ได้รับการับรองในระดับสากล และมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI


          มาเลเซีย  ชูภาพลักษณ์ประเทศมุสลิม เพื่อดึงดูดผู้ป่วยที่นับถือศาสนาอิสลาม เน้นกลุ่มผู้ป่วยที่มีฐานะจากกลุ่มประเทศที่ยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์


          อินเดีย ราคาถูก เน้นกลุ่มผู้ทำประกันสุขภาพในประเทศตะวันตก ซึ่งอินเดียทำความร่วมมกับบริษัทประกันต่างชาติให้ส่งตัวลูกค้าที่ต้องการรับบริการมาที่อินเดีย


          เกาหลีใต้ สร้างจุดเด่นด้านการหยุดพักผ่อนระยะยาวและการผ่าตัดความงาม


          ไทย มีความพร้อมทั้งสถานพยาบาลที่มีคุณภาพ เทคโนโลยี บุคลากร การบริการเพื่อรองรับความต้องการใช้บริการ ที่มา:ข้อมูลจากการวิจัยของธนาคารออมสิน 

 
ที่มา:ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ.2560-2569

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ