Lifestyle

ร่างกฎหมายกัญชา-กระท่อมอนุญาตครอบครองเพื่อรักษาโรค 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่างกฎหมายกัญชา-กระท่อมอนุญาตครอบครองเพื่อรักษาโรค  : รายงาน  โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ 


 

          วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เพื่อพิจารณาประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่จะยกระดับสารสกัดกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 2 (ยส.2) จากปัจจุบันอยู่ที่ประเภท 5 (ยส.5) จะทำให้สามารถนำเฉพาะส่วนที่เป็นสารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เท่านั้น การจะปลดล็อกกัญชาทั้งหมดและกระท่อม จะต้องรอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเสนอโดย 44 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คาดว่าจะสามารถพิจารณาได้ทันและออกเป็นกฎหมายได้ภายในสมัยวาระของสนช.หรือก่อนเลือกตั้ง    

 


          ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับ 44 สนช. มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์แล้ว ผู้เข้าอ่าน 2.9 แสนครั้ง ผู้แสดงความคิดเห็น 16,431 คน เห็นด้วย 16,288 คน คิดเป็น 99.13%  ไม่เห็นด้วย 138 คน คิดเป็น 0.84% ไม่แสดงความคิดเห็น 5 คน คิดเป็น 0.03% โดยมีทั้งสิ้น 17 มาตรา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข 15 มาตรา สาระสำคัญ คือ 1.มาตรา 16 อนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 2 หรือประเภท 5 กรณีได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ โดยการขอรับและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง 

 

ร่างกฎหมายกัญชา-กระท่อมอนุญาตครอบครองเพื่อรักษาโรค 

 

 

          2.มาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งเยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต 3.มาตรา 18 อนุญาตให้มียาเสพติดในประเภท 2 หรือประเภท 5 ไว้ในครอบครองได้ ไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษาและกรณีไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับใช้ประจำในการปฐมพยาบาล หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทย

              

 

ร่างกฎหมายกัญชา-กระท่อมอนุญาตครอบครองเพื่อรักษาโรค 

 


          4.มาตรา 19 ผู้ขออนุญาตจะได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง เมื่อเป็นกระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย หรือองค์การเภสัชกรรม ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ หรือแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ แพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ 


          5.มาตรา 19/1 กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ จะกำหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองเพาะปลูก ผลิตและทดสอบ เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนด โดยจะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกามีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเสพและการครอบครอง และการกระทำดังกล่าวในเขตพื้นที่ไม่เป็นความผิด 
6.มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 4 เว้นแต่รัฐมนตรีจะอนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นรายๆ ไป โดยการครอบครองตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไปให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย 7.มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาต จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และ 5 นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต 8.มาตรา 28  ผู้ได้รับอนุญาต ต้องจัดเก็บรักษายาเสพติดให้โทษในประเภท  2 หรือ 5 ไว้เป็นสัดส่วนในที่เก็บ ซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน ในกรณีที่ถูกโจรกรรมหรือสูญหายหรือถูกทำลายต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบโดยพลัน          

 

 

ร่างกฎหมายกัญชา-กระท่อมอนุญาตครอบครองเพื่อรักษาโรค 

 


          9.มาตรา 48 ห้ามไม่ให้โฆษณายาเสพติดให้โทษ ยกเว้น การโฆษณายาเสพติดให้โทษประเภท 2, 3 หรือ 5 ที่ทำโดยตรงต่อแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร สัตวแพทย์ หรือเป็นฉลากหรือเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษประเภท 2, 3, 4 หรือ 5 โดยต้องได้รับอนุญาตก่อน 10.มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 


          11.มาตรา 58 ห้ามมิให้เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 เว้นแต่เป็นการเสพเพื่อการรักษาโรคโดยตามคำสั่งของแพทย์ ทันตแพทย์ที่ได้รับอนุญาต และห้ามเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่เพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป.ป.ส. อาจประกาศให้ท้องที่ใดเป็นท้องที่ที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง 


          12.มาตรา 60 ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตประสงค์จะจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 หรือ 5 เกินปริมาณที่กำหนดไว้ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต 13.มาตรา 61 กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหรือครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 2 หรือ 5 ตายก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ให้ทายาท ผู้ครอบครองหรือผู้จัดการมรดกแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วัน และให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดยาเสพติดให้โทษที่เหลือเก็บรักษาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 

 

ร่างกฎหมายกัญชา-กระท่อมอนุญาตครอบครองเพื่อรักษาโรค 

 

 


          14.มาตรา 76 ผู้ที่มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นพืชกระท่อมมีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


          15.มาตรา 76/1 ผู้ที่จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีจำนวนไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นพืชกระท่อม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีจำนวนตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-1,500,000 บาท กรณีเป็นพืชกระท่อม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท


          “กฎหมายฉบับนี้อาจไม่ใช่กฎหมายที่ดีที่สุดที่จะปลดล็อกการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชาและกระท่อม แต่ถือเป็นการเริ่มนับ 1 ซึ่งเป็นก้าวที่ยากที่สุด หากเริ่มได้ ก้าวที่ 2 3 4 ก็จะตามมา โดยหากจะมีการออกเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือออกเป็นกฎหมายเฉพาะที่เสนอโดยภาคประชาชน ก็จะดำเนินการไม่ยากในอนาคต” นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช.กล่าว

               

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ