Lifestyle

"นมแม่"บริจาคได้ต้องพาสเจอร์ไรซ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นมแม่"บริจาคได้ต้องพาสเจอร์ไรซ์ : รายงาน  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก  [email protected]


 

          “นมแม่” มากประโยชน์เพียบพร้อมสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพของเด็กแรกเกิด ช่วยลดอัตราการติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมถึงช่วยในด้านของระบบทางเดินอาหารและโรคร้ายแรง อาทิ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกมีการรณรงค์ให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวนานถึง 6 เดือน พร้อมๆ กับการให้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามวัยควบคู่ไปกับการให้นมแม่จนถึงอายุ 2 ขวบ

 

 

          ปัญหาหนึ่งที่พบในเด็กแรกเกิดคือ แม่มีน้ำนมให้ลูกไม่เพียงพอ และที่มากไปกว่านั้นในเด็กแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดเองทารกไม่สามารถดูดนมแม่ได้ ในส่วนของแม่เอง ก็มีความกังวลในเรื่องลูก จึงส่งผลต่อปริมาณการผลิตน้ำนมให้ลดน้อยลง สาขาวิชาทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการส่งเสริมการให้นมแม่แก่ทารกเกิดก่อนกำหนดและทารกที่เจ็บป่วยอย่างสม่ำเสมอมา ซึ่งจากข้อมูลในปี 2552-2553 พบว่าร้อยละ 100 ของคุณแม่ที่คลอดบุตรก่อนกำหนดอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ในโรงพยาบาลศิริราช ต้องการได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ และมีทารกที่เกิดในโรงพยาบาลเพียงแค่ร้อยละ 15 จากทั้งหมดเท่านั้น ที่ได้ทานนมแม่สำเร็จตลอดการอยู่โรงพยาบาล

 

"นมแม่"บริจาคได้ต้องพาสเจอร์ไรซ์

 


          นมแม่ที่เหลือเพื่อเด็กป่วย 
          สำหรับทารกที่เกิดก่อนกำหนดและทารกแรกเกิดที่เจ็บป่วยจากการศึกษาของสถานพยาบาลหลายแห่ง พบว่า นมแม่มีประโยชน์อย่างมหาศาลในการป้องกันการติดเชื้อ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของทารกเกิดก่อนกำหนด ได้แก่ ภาวะลำไส้เน่าเปื่อย (Necrotizing enterocolitis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญเช่น ภาวะจอประสาทตาเจริญผิดปกติ (Retinopathy of prematurity) และช่วยส่งเสริมให้ทารกเกิดก่อนกำหนดกลุ่มนี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

 


              “ธนาคารนมแม่” เริ่มต้นขึ้นปี 2555 นักศึกษาปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งธนาคารนมแม่และได้มานำเสนอต่อศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประกอบกับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกเกิดก่อนกำหนดและทารกที่เจ็บป่วย

 

"นมแม่"บริจาคได้ต้องพาสเจอร์ไรซ์

 


          นำไปสู่การเปิดรับบริจาคน้ำนมแม่ จากคุณแม่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีน้ำนมมากเกิดความจำเป็น และยินดีบริจาค นำมาผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ พร้อมส่งต่อให้แก่ทารกเกิดก่อนกำหนดและทารกเจ็บป่วย ซึ่งมารดายังมีน้ำนมไม่เพียงพอ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทารกเป็นหลัก รวมถึงให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปสู่การทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอดในเรื่องกระบวนการผลิต การนำไปใช้ และผลของการใช้น้ำนมแม่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทารกป่วย


          คัดกรองนมแม่ตามมาตรฐาน
          ปริสา สนธิ นักวิชาการโภชนาการ ธนาคารนมแม่ อธิบายว่า ขั้นตอนการรับบริจาคเริ่มจากคัดกรองด้านสุขภาพคุณแม่ที่มาบริจาคน้ำนมเบื้องต้น โดยการตรวจเลือด และกรอกประวัติ โดยโรคที่เสี่ยงและไม่สามารถบริจาคได้ คือ HIV ซิฟิลิช ไวรัสตับอักเสบ B ไวรัสตับอักเสบ C และไซโตเมกกาโลไวรัส (CMV) หลังจากนั้นจึงนำน้ำนมมาตรวจหาเชื้อเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการพลาสเจอร์ไรซ์และนำไปตรวจเชื้ออีกครั้งเพื่อแจกจ่ายนมให้แก่เด็กในโรงพยาบาลต่อไป

 

"นมแม่"บริจาคได้ต้องพาสเจอร์ไรซ์

 


          ปัจจุบันมีการบริจาคนมให้แก่เด็กที่อยู่ภายในโรงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่มีการบริจาคแก่บุคคลภายนอก ทั้งนี้นมที่รับบริจาคสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่คุณแม่ปั๊ม โดยธนาคารจะเก็บในตู้เย็นติดลบ 20 องศา ปัจจุบันมีคุณแม่ติดต่อเข้ามาขอบริจาคทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคุณแม่ที่มีน้ำนมมากเกินไป ลูกรับประทานไม่ทัน โดยปริมาณการบริจาคจะอยู่ที่ 300 ออนซ์ขึ้นไป หรือราวๆ 400-600 ออนซ์ต่อถุง มากสุดอยู่ที่ 800-900 ออนซ์ ซึ่งคุณแม่ควรเขียนระบุวันเวลาที่ปั๊มนมให้ชัดเจน


          การบริจาคนมแม่ในต่างประเทศ
          พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และอนุกรรมการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เจ้าของเพจนมแม่ป้าหมอสุธีรา  กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการบริจาคน้ำนมระหว่างแม่มาแล้วก่อนหน้านี้ และมีการขายน้ำนมเกิดขึ้น ซึ่งบางคนใช้นมวัวหรือน้ำเปล่าเจือจาง ทำให้มีเชื้อโรคอันตรายเจือปน เนื่องจากขาดการคัดกรองและตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันมีเพียง 2 โรงพยาบาลเท่านั้นคือ รามาธิบดี และศิริราช

 

 

"นมแม่"บริจาคได้ต้องพาสเจอร์ไรซ์

 


          2 อาทิตย์แรก เวลาดี หลังคลอด  
          ในขณะคลอดคุณแม่ควรเลือกโรงพยาบาลที่สนับสนุนการนมแม่ เพราะในช่วงเวลา 2 อาทิตย์แรกสำคัญมาก ต้องส่งให้ลูกดูดนมทันที ไม่แยกแม่และลูก และต้องให้ดูดทุกๆ 2 ชั่วโมง ประมาณวันละ 8-12 ครั้งต่อวัน เพื่อกระตุ้นให้แม่ผลิตน้ำนมได้เพียงพอ นอกจากนี้ต้องขยันปั๊มนมเพื่อหลอกร่างกายว่าเรามีลูกมากกว่าหนึ่ง หลักการสำคัญที่สุด คือการให้ลูกดูดนมบ่อยๆ 


          “รับบริจาคนม” ลูกเสี่ยงหรือไม่
          พญ.สุธีรา แนะนำว่าคุณแม่ซึ่งคลอดลูกใหม่ ควรพยายามให้นมลูกด้วยตนเอง หากรับบริจาคมาแล้ว ควรผ่านกระบวนการเหมือนในโรงพยาบาลคือพาสเจอร์ไรซ์ และเนื่องจากนมเป็นสารคัดหลั่ง ไม่ควรรับบริจาคกันเอง สำหรับคุณแม่ที่ม่ีความจำเป็นต้องการรับน้ำนม ควรรับน้ำนมจากธนาคารนมที่มีการดูแลจัดการเช่นเดียวกับธนาคารเลือด
   

          คือมีการคัดกรองเหมือนกับการบริจาคเลือด มีการซักประวัติถึงความเสี่ยงต่างๆทำการพาสเจอร์ไรซ์นม จนมั่นใจได้ในความปลอดภัยหากมีน้ำนมเยอะ สามารถเก็บไว้ให้ลูกรับประทานได้ เพราะนมแม่สามารถเก็บไว้ได้นานมากสุด 4 ปี หากบริจาคไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ไม่แนะนำให้ทำ ถ้าคุณเป็นคุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มพิเศษคือมีน้ำนมเยอะ ปั๊มเก็บไว้ให้ลูกรับประทานได้

 

"นมแม่"บริจาคได้ต้องพาสเจอร์ไรซ์

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

 


          เคล็ดลับปั๊มนมสำหรับคุณแม่
          ปัจจุบันมีคุณแม่หลายคนที่ประสบปัญหาน้ำนมน้อย ปริสา กล่าวเพิ่มเติมถึงเคล็ดลับที่ช่วยให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมมากขึ้นว่า “การให้นมลูกในแต่ละครั้งคุณแม่ควรให้ลูกดูดนมให้หมดเต้า และดูดอย่างถูกวิธี รวมถึงการปั๊มน้ำนมให้ถูกวิธี จะทำให้น้ำนมผลิตได้เยอะขึ้น นอกจากนี้การรับประทานอาหารก็สำคัญ คุณแม่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผัก ผลไม้ ให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งจะทำให้น้ำนมมีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามอาหารที่ทาน และควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด เพราะความเครียดจะส่งผลต่อการผลิตน้ำนม”
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ