Lifestyle

แบรนด์iNTเสาหลักนวัตกรรมมหิดลวิจัยสุขภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แบรนด์ iNTเสาหลักนวัตกรรมมหิดลวิจัยสุขภาพ-ขับเคลื่อนไทยแลนด์4.0 : รายงาน  โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 


 

          “งานวิจัยหลายชิ้นมีคุณค่าแต่ขาดการสนับสนุน ฝากรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มงบวิจัย” นพ.ภัทรชัย กีรติสิน

          งานวิจัยที่ดีต้องสามารถใช้ได้จริง ต่อยอดเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ประเทศให้ได้ ที่ผ่านมางานวิจัยมีมากมายแต่ติดอยู่บนคอหอย ตีพิมพ์แล้วจบไป ไม่ได้รับการสานต่อ

 

 

          นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ม.มหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีคณะและสถาบัน 33 แห่ง มีอาจารย์ที่เป็นนักวิจัยประมาณ 4,000 คน ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมพัฒนาให้อาจารย์ บุคลากร รวมถึงนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดค้นนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น


          โดยมีการสร้างความเข้าใจ ความคิดใหม่ในการสร้างนวัตกรรมที่สามารถใช้ได้จริง มีการสร้างเครือข่ายงานวิจัยทั้งภายใน ภายนอก มีการจดทรัพย์สินทางปัญหา ทำให้ขณะนี้ ม.มหิดล มีงานวิจัยสู่นวัตกรรมมากมาย โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการแพทย์ และนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่สัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% 

 

แบรนด์iNTเสาหลักนวัตกรรมมหิดลวิจัยสุขภาพ

 


          ดังนั้น การปรับปรุงเปิดตัว แบรนด์ iNT ครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนานวัตกรรมแบบครบวงจร เป็นเสาหลักนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย และมีการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์งานร่วมกัน(co-working space) เพื่อสนับสนุนบรรยากาศที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ภายใต้ชื่อ MaSHARES เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนได้เข้ามาใช้บริหารสร้างความคิดใหม่ๆ ให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศและมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้ประกอบการ

 

 




          “สถาบันดังกล่าวเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา งานบริการวิจัยและวิชาการ การสร้างระบบนิเวศผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะให้เกิดงานนวัตกรรมที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน งานวิจัยถึงต้องถูกถ่ายทอดอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงเป้าหมายในการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการสร้างนวัตกรรมในระดับนานาชาติสถาบันจึงสร้างแบรนด์ iNT ให้มีภาพลักษณ์โดดเด่นแตกต่างและเป็นสื่อที่สร้างความมั่นใจในคุณภาพสำหรับนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย” 
      

          นพ.ภัทรชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อาจารย์ทุกคนมีหน้าที่ทำงานวิจัย ซึ่งงานวิจัยนวัตกรรมที่สามารถใช้ได้จริงต้องศึกษา ค้นคว้า ทดลองเพื่อให้ได้มาตรฐาน ทำให้หลายคนต้องใช้เวลานาน ขณะเดียวกันงบวิจัยค่อนข้างจำกัด ทั้งที่งานวิจัยหลายชิ้นมีคุณค่าแต่ขาดการสนับสนุน จึงอยากให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนงบวิจัยมากขึ้น
แนะจับมือเอกชนสร้างนวัตกรรม


          นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัย ร่วมทำงานวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนประเทศมาโดยตลอด เมื่อประเทศขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม ต้องประกอบด้วย 3 ขา คือ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ทำให้ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนงบวิจัย 90% และภาคเอกชนร่วมอีก 10% เพื่อให้มหาวิทยาลัยผลิตนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนจริงๆ โดยมีงานวิจัยที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วกว่า 100 โครงการ


          “มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเท่าการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องสอนหนังสือ และเปิดโอกาสให้อาจารย์ บุคลากร นักศึกษาทำงานวิจัยร่วมกับภายนอก ทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ของประเทศจริงๆ เดินไปพร้อมกับผู้ประกอบการ เพราะในอนาคตอาจมีหุ่นยนต์ประดิษฐ์ หรือ AI มาสอนแทน ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสังคม และประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย ต้องมีการสร้างนวัตกรรม หลักสูตรผู้สูงอายุมากขึ้น และต้องสอนให้คนรู้จักการเรียนรู้อยู่ด้วยกันแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ มีสุนทรียภาพ สงบ มีสติ และมีธรรมะอยู่ในหัวใจร่วมด้วย” นพ.สรนิต กล่าว

 

          “นวัตกรรมการแพทย์”เพิ่มคุณภาพชีวิต
          ดร.ปฐมาวรรณ ฉิมมา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิรราชพยาบาล เจ้าของผลงานวิจัย “สูตรอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง” กล่าวว่า การวิจัยดังกล่าวเพื่อสร้างนวัตกรรม โดยการใช้เห็ดถั่งเช่าสีทองเพื่อเสริมสุขภาพ หรือเสริมการรักษาโรคในผู้สูงวัย ทั้งจากโรคติดเชื้อ และโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดัน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง 


          นอกจากนี้พบว่าในผู้วัยอายุมากกว่า 70 ปี เป็นต้อกระจกเกือบทุกราย โครงการวิจัยแรกที่ประสบผลสำเร็จคือ การพัฒนาสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองโดยใช้โปรตีนจากธัญพืช ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ โดยได้รับความคุ้มครอง และดำเนินการโอนกรรมสิทธิให้บริษัทเอกชนนำไปผลิตแล้ว นอกจากนั้น ทางโครงการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากเห็ดถั่งเช่าสีทอง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมการรักษา โรคเบาหวาน ไขมัน ความดัน ต้อกระจก รวมถึงรูมาตอยด์ และภูมิแพ้


          อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นครั้งแรกของไทยที่มีการพัฒนาสูตรดังกล่าวประสบความสำเร็จ ซึ่งอยากให้ทางรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดถั่งเช่าสีทอง เนื่องจากถือเป็นพืชที่หากมีการส่งเสริมให้ปลูกอย่างถูกวิธี และได้รับมาตรฐานจะสามารถกลายเป็นพืชส่งออกของประเทศที่เพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมาก


          นายยุทธพงศ์ อุณวีทรัพย์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เจ้าของงานวิจัย “Podogram Analyzer ระบบวิเคราะห์น้ำหนักแรงกดฝ่าเท้า” กล่าวว่าจากการได้เข้าร่วมกระบวนการตรวจรักษาเท้าผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เห็นผู้ป่วยเจ็บปวด มีแผลที่เท้า มีสีเท้าที่คล้ำดำจากการไหลเวียนของโลหิตไม่มี การไร้ความรู้สึกจากการชาปลายประสาทเสื่อม จึงได้คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อจัดทำรองเท้าและแผ่นรองรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีเท้าผิดรูป 


          ซึ่งการจะออกแบบแผ่นรองรองเท้าและรองเท้าได้นั้นจำเป็นต้องจัดซื้อเครื่องมือตรวจวัด ซึ่งมีราคาสูงเป็นหลักแสนหลักล้าน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเครื่องมือที่ใช้วัสดุอุปกรณ์จากภายในประเทศและต้นทุนต่ำ มีคุณสมบัติสามารถแสดงผลน้ำหนักแรงกดใต้ฝ่าเท้า วิเคราะห์แสดงผลโครงสร้างเท้า และจุดแสดงสมดุลร่างกาย สามารถประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ กายภาพบำบัด ตรวจสอบการล้มของผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมรองเท้า ซึ่งขณะนี้ได้นำไปใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ และร้านค้าที่ขายรองเท้า
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ