Lifestyle

ธนาคารเวลา...ความดีเบิกใช้ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น"สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์"?

     จั่วหัวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเมืองไทยจะ “สโลว์ไลฟ์”แบบที่กำลังอินเทรนในหมู่“อินดี้” หรือกับบรรดาผู้มีอันจะกินหรอกนะ

     แต่คำว่า “สังคมสูงอายุ” นั้น มีความหมายตรงตัวว่า ต่อไปผู้สูงอายุจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในสังคมไทย เพราะพวกเขามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับเด็กเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน     

     กระนั้น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ คงไม่ได้เป็นประเด็นที่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป เพราะสังคมที่ว่านี้เป็นการรวมเอาคนอายุตั้งแต่ 60 ปี ที่ยังมีสมรรถภาพดีเข้าไว้ด้วย หากแต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงอายุที่เข้าขั้นต้องใช้คำว่า“คนชรา”หรือ ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และอาจกลายเป็นภาระครอบครัว

     ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ อธิบายระดับของการเข้าสู่สังคมสูงอายุว่า เมื่อประเทศเรามีประชากรสูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นคือระดับที่สมบูรณ์ แต่อีกสิบกว่าปี หรือในปี 2574 ก็จะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 28 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี จึงมอบให้กรมกิจการผู้สูงอายุ ศึกษารูปแบบธนาคารเวลา ที่ดำเนินการอยู่ในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อรองรับสังคมสูงวัยโดยเฉพาะ

ธนาคารเวลา...ความดีเบิกใช้ได้

ธนาคารเวลาคืออะไร?

    "เป็นการสะสมเวลาไว้ในรูปแบบบัญชีส่วนบุคคล เพื่อเบิกออกมาใช้ในยามจำเป็นตอนอายุมากขึ้น หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเตรียมความพร้อมสู่ “สังคมสูงวัย”

     อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ อธิบายว่าธนาคารเวลา มีรูปแบบคล้ายคลึงกับงานอาสาสมัครและงานจิตอาสา ที่ทำงานเพื่อสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งธนาคารเวลาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีรูปแบบน่าสนใจตรงที่กำหนดให้ใครที่มาทำความดีกับผู้สูงอายุสามารถเก็บแต้มไว้ เมื่อเวลาที่ตัวเองสูงอายุจะได้รับการตอบแทนด้วยบริการต่างๆ ที่ต้องการ

     การนำรูปแบบธนาคารเวลามาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้กับ ธนาคารความดี ที่ดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 44 แห่ง

     “ธนาคารความดี ที่ทำอยู่เป็นลักษณะจิตอาสาไม่ได้มีการสะสมแต้ม แต่คราวนี้จะนำมาถอดเป็นรูปแบบและจำแนกว่ากิจกรรมความดีจิตอาสารูปแบบใดจะนับเป็นคะแนนได้กี่แต้ม เพื่อจะทำให้เป็นมาตรฐาน เหมือนเป็นการนำการให้บริการไปฝากไว้แล้วแลกกับการรับบริการในอนาคต ซึ่งขณะนี้กำลังให้ทดลองทำช่วง 2 เดือนก่อน จากนั้นในเดือนธันวาคม จะนำมาถอดบทเรียนวิเคราะห์ข้อมูลและขยายผลให้มากขึ้น ในปี 2562 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือและนำร่องใน44 อบต.ที่จะดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน”

     อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ขยายความการทำความดีของจิตอาสา ก่อนจะนำมาประยุกต์เข้ากับธนาคารเวลา ซึ่งต่อไปความดีที่พวกเขาทำจะได้รับการสะสมไว้ในธนาคารฯ เผื่อไว้เบิกใช้เมื่อถึงคราวจำเป็น

     กลุ่มเป้าหมายที่จะทำงานอาสาสมัครธนาคารเวลา เป็นใครก็ได้ไม่จำกัดอายุ ส่วนผู้รับบริการคือ ผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้อยากให้เน้นผู้สูงอายุที่ติดเตียง กับติดบ้าน หรือคนที่ไมปไหนมาไหนไม่ได้ก่อน

     ส่วนธนาคารเวลาในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ บอกว่า อยู่ระหว่างคิดระบบ อาจจะเริ่มใน 2 พื้นที่นำร่อง โดยจิตอาสากลุ่มเป้าหมายอาจเริ่มจากกลุ่มคนทำงานที่มีช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคิดหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด  

     แต่เหนืออื่นใด เป้าหมายสำคัญของธนาคารเวลาคืออยากให้ทุกคนได้ทำความดี มีจิตอาสา ไม่อยากให้เน้นไปที่แต้มสะสมมากนัก 

     เหมือนกับที่ผ่านมา จะเห็นว่าคนไทยมักช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังรับผลตอบแทนอยู่แล้ว แต่ระบบนี้น่าจะเป็นเพียงส่วนเสริมในการสร้างแรงจูงใจให้คนมุ่งมั่นทำความดีเพิ่มขึ้นเท่านั้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ