Lifestyle

ผ่าปม"อธิการบดีเกษียณ"วัดใจสกอ.หรือต้องรอสปิริต?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่าปม"อธิการบดีเกษียณ"วัดใจสกอ.หรือต้องรอสปิริต? : รายงาน  โดย... ปกรณ์  พึ่งเนตร 


          การประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กับนายกและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยของรัฐ 58 แห่งทั่วประเทศ เพื่อหาทางออกเรื่อง “อธิการบดีเกษียณ” ซึ่งหมายถึงการแต่งตั้งบุคคลที่อายุเกิน 60 ปี หรือเกษียณอายุราชการแล้วมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าปัญหานี้สร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงอุดมศึกษาอย่างหนักหน่วงรุนแรงจริงๆ

ผ่าปม"อธิการบดีเกษียณ"วัดใจสกอ.หรือต้องรอสปิริต?

 

          เพราะไม่เพียง “อธิการบดีเกษียณ” จำนวน 22 คน จาก 22 สถาบัน ที่นั่งเก้าอี้อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ที่กำลังเป็นปัญหาว่าจะต้องถูกถอดถอน ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน หรือจะให้ครองตำแหน่งต่อไป ทว่ายังมีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกระบวนการแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ ซึ่งได้เสนอชื่อมายัง สกอ.แล้ว และรอนำชื่อขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อีกถึง 10 มหาวิทยาลัย ในจำนวนนี้มี “ว่าที่อธิการบดี” ที่อายุเกิน 60 ปี อีก 3 คน จาก 3 สถาบัน
     
          ว่ากันว่าผลสะเทือนที่เกิดขึ้นแล้วจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ได้ก่อผลกระทบเป็นลูกโซ่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งมีทั้งสิ้น 47 แห่งทั่วประเทศ โดยมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏ 38 แห่ง มี “อธิการบดีเกษียณ” นั่งดำรงตำแหน่งอยู่ถึง 18 แห่ง ไม่นับอีก 2 แห่งที่โดน ม.44 คือมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
ส่วนมหาวิทยาลัยในกลุ่มเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง มี “อธิการบดีเกษียณ” ทำหน้าที่อยู่ถึง 4 แห่ง ส่วนอีก 5 แห่ง แม้อธิการบดีจะมีอายุไม่เกิน 60 ปี แต่ตำแหน่งบริหารอื่นๆ เช่น รองอธิการบดี หรือคณบดี ก็มีอายุเกิน 60 ปีอีกหลายคน ซึ่งตำแหน่งบริหารในสถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้ โดยนัยแห่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้เช่นกัน

 

ผ่าปม"อธิการบดีเกษียณ"วัดใจสกอ.หรือต้องรอสปิริต?

 

 

          ประเด็นนี้ทำให้เกิดความเห็นต่างเป็น 2 ฝ่ายในแวดวงอุดมศึกษา ซึ่งสาเหตุต้องยอมรับว่ากฎหมายเขียนเอาไว้ไม่ชัดเจนจริงๆ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พุทธศักราช 2547 ที่ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเอาไว้ จึงกลายเป็นเหตุผลให้ฝ่ายสนับสนุน “อธิการบดีเกษียณ” นำมาอ้างได้ว่า เมื่อกฎหมายไม่ได้เขียนห้าม ก็ไม่ควรจำกัดสิทธิ์

          ที่สำคัญ คนที่มีวัยวุฒิสูง โดยมากมักมี “บารมี” เหมาะกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องควบคุมดูแลบุคลากรที่มีความรู้สูง ไม่อาจสั่งซ้ายหันขวาหันได้ นอกจากนั้นคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเป็นคนเก่ง และมีคอนเนกชั่นดี จึงเหมาะกับงานการศึกษาที่ต้องทำงานร่วมกับประชาคมต่างๆ นอกมหาวิทยาลัย ต้องรู้จักพบปะกับผู้คนจำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศ  ฝ่ายสนับสนุน “อธิการบดีเกษียณ” มองว่า คุณสมบัติ “ดี-เด่น-ดัง” เช่นนี้ หาได้ยากในกลุ่มนักบริหารรุ่นใหม่ หรืออาจารย์ที่ยังอายุน้อยๆ

          “ฝ่ายไม่ต้องการอธิการบดีเกษียณ” มองว่าการดำรงตำแหน่งอธิการบดีของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่เกษียณอายุแล้ว โดยมากมักเป็นการ “สืบทอดอำนาจ” และเอื้อประโยชน์กันมากกว่าที่จะเลือกคน “ดี-เด่น-ดัง” มาทำหน้าที่จริงๆ

 

ผ่าปม"อธิการบดีเกษียณ"วัดใจสกอ.หรือต้องรอสปิริต?

 

          อย่างเส้นทางการดำรงตำแหน่งของ “อธิการบดีเกษียณ” รายหนึ่ง เมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า เป็นอธิการบดีมาตั้งแต่ปี 2538 นับถึงปัจจุบันคือ 23 ปี ครบวาระมาแล้ว 5 ครั้ง ปัจจุบันคือวาระที่ 6 และย้ายมาแล้ว 4 มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการย้ายไปรับตำแหน่งที่สถาบันอื่นเพื่อเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเดียวกันต่อเนื่องเกิน 2 วาระ

          ขณะที่ “อธิการบดีเกษียณ” อีกคนหนึ่ง ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมาแล้ว 19 ปี ครบวาระไปแล้ว 4 ครั้ง ปัจจุบันอยู่ในวาระที่ 5 ย้ายสลับไปมาระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย นัยว่าเพื่อหลีกเลี่ยงระเบียบห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระเช่นกัน

          ในมุมมองของ “ฝ่ายไม่ต้องการอธิการบดีเกษียณ” ซึ่งนำโดยแกนนำที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย หรือ ทปสท. เห็นว่า ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้สืบทอดอำนาจ และเล่นพรรคเล่นพวก เพราะแทบไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนเลยที่เชิญ “คนนอก” หรือ “นักบริหารมืออาชีพ” มาทำหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 เปิดช่องเอาไว้ มีแต่อดีตอธิการบดีเกษียณแล้วล้วนๆ

          เหตุนี้เองทำให้เกิดการผูกขาด และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในรูปแบบของ “สภาเกาหลัง” ทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างผู้บริหารกับสภามหาวิทยาลัยล้มเหลว

          ขณะที่ “ฝั่งกองหนุนอธิการบดีเกษียณ” เห็นว่า การไม่เปิดกว้างให้คนที่อายุเกิน 60 ปีดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่างหาก ที่ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ และ “ปิดช่อง” ทำให้ไม่มีตัวเลือกที่ดีพอมาทำหน้าที่บริหารมหาวิทยาลัย

 

ผ่าปม"อธิการบดีเกษียณ"วัดใจสกอ.หรือต้องรอสปิริต?

 

          อย่างไรก็ตามเริ่มมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่อายุเกิน 60 ปีบางคน ทยอยลาออกเพื่อแสดงสปิริต คือ ผศ.ปัญญา คามีศักดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้ง รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร ลาออกจากตำแหน่งรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยเป็นการประกาศลาออกกลางที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เพราะมีอายุเกิน 60 ปี ปรากฏว่าได้รับการขานรับและชื่นชมจากคณาจารย์ฝ่ายที่สนับสนุนให้จำกัดอายุอธิการบดีไม่ให้เกิน 60 ปีเป็นอย่างมาก และถือเป็นบุคคลในระดับอธิการบดีคนแรกที่ยอมลาออก

          ล่าสุด ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศรีกระจ่าง ผู้ช่วยอธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ (อายุเกิน 60 ปี) ได้ยื่นใบลาออกแล้ว เพื่อแสดงสปิริตปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยรัฐอายุเกิน 60 ปีไม่ได้

          ซึ่งในที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะถึงกรณีที่มีอธิการบดีแต่งตั้งก่อนอายุ 60 ปีนั้น อายุไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการทำงาน และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน และคำสั่งศาลดังกล่าวผูกพันกับองค์กรเดียว การให้สภามหาวิทยาลัยไปสั่งการให้อธิการบดีลาออก เพื่อเป็นไปตามคำสั่งศาลดังกล่าวก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะกฎหมายกำหนดการออกจากตำแหน่งอธิการบดีไว้อย่างชัดเจน สภามหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจ

          คงต้องรอดูว่า เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) “นายสุภัทร จำปาทอง” จะสรุปแนวทางในการแต่งตั้งอธิการบดี เสนอ

          “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 4 แนวทางให้เลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของรมว.ศึกษาธิการ 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ