Lifestyle

ส่องปัญหาสุขภาพชายแดนพื้นที่เฉพาะ"แม่ฮ่องสอน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องปัญหาสุขภาพชายแดนพื้นที่เฉพาะ"แม่ฮ่องสอน" : รายงาน   โดย... พวงชมพู ประเสริฐ  [email protected]

 

          แม้จะเป็นจังหวัดชายแดนมีพื้นที่ทุกอำเภอติดต่อกับประเทศเมียนมาร์แนวยาว 483 กิโลเมตรทั้งทางบกและทางน้ำ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อนและผืนป่า นับเป็นพื้นที่ที่มีความเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินงานด้านสาธารณสุขจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรูปแบบเฉพาะเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริบทที่แท้จริงของจังหวัด ทำให้ชาวบ้านบนพื้นที่สูงยากต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ขณะเดียวกันมีคนป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ารับการรักษาจำนวนมาก โดยบางครั้งมิอาจเรียกค่ารักษาพยาบาลได้ ทว่า อาจเพราะแม่ฮ่องสอนมิใช่หนึ่งในจังหวัดที่มีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้รับเลือกเข้าเป็น 10 จังหวัดนำร่องใน “เขตสุขภาพพิเศษด้านสาธารณสุขชายแดน” แต่การจะได้เป็น “เขตสาธารณสุขพื้นที่เฉพาะ” เป็นความหวังหนึ่งที่สำคัญของคนเมือง

ส่องปัญหาสุขภาพชายแดนพื้นที่เฉพาะ"แม่ฮ่องสอน"

 

          ภก.วิวัฒน์ ยิ่งยศตระกูล รองผู้อำนวยการ รพ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน บอกว่า ประชากรของอำเภอส่วนใหญ่เป็นชาวเขา 7 เผ่าแต่ 9 ชนชาติรวมพม่าและว้าด้วย เป็นคนไทย 80% อีก 20% เป็นต่างด้าว แยกตามสิทธิการรักษาพยาบาล เป็นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 81.89% ต่างด้าว/ชำระเงินเอง 10.73% ข้าราชการ 2.68% ประกันสังคม 4.51% และสิทธิว่าง 0.19% รวมถึงมีประชากรจากขอบชายแดนอีกราว 3 หมื่นคนที่มีการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลกลายเป็นภาระแฝง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากจำนวน 494 คน ในปี 2557 เป็น 1,426 คนในปี 2560

 

ส่องปัญหาสุขภาพชายแดนพื้นที่เฉพาะ"แม่ฮ่องสอน"

 

          ปัญหาสำคัญของโรงพยาบาลชายแดน คือ “เงิน” ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาแต่เรียกเก็บไม่ได้ เพราะคนไข้ที่เข้ารับการรักษาจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยและไม่มีสิทธิสถานะเป็นคนไทยโรงพยาบาลจึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาลมารองรับเหมือนคนไทย สามารถเรียกเก็บเงินจากคนไข้เหล่านี้ กรณีผู้ป่วยนอกได้ 50-60% ผู้ป่วยใน 10% รวมถึง “บุคลากร” ในส่วนของข้าราชการมีจำนวนน้อย เมื่อมีการย้ายตำแหน่งก็จะติดตัวไปด้วยหรือเมื่อเกษียณตำแหน่งก็จะถูกดึงกลับไปที่ส่วนกลางจึงจำเป็นต้องใช้เงินของโรงพยาบาลเองในการจ้างเจ้าหน้าที่

 

 

ส่องปัญหาสุขภาพชายแดนพื้นที่เฉพาะ"แม่ฮ่องสอน"

 


          “คนต่างด้าวที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่เจ็บป่วยค่อนข้างรุนแรง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในและบางครั้งต้องส่งไปโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ทำให้โรงพยาบาลปางมะผ้าต้องสูญเสียเงิน 2 ส่วน คือ ค่ารักษาที่เรียกเก็บจากคนไข้ไม่ได้ และค่ารักษาที่ต้องตามไปจ่ายให้โรงพยาบาลที่ส่งต่อ แต่ละปีโรงพยาบาลมีค่ารักษาพยาบาลคนต่างด้าวที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ 3-4 ล้านบาทสะสมมาเรื่อยๆในปี 2560 ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนคนไร้สถานะ 7 ล้านบาท ก็นำมาจ่ายหนี้ค่ายา เพราะที่ผ่านมาก็ต้องหยิบยืมยาจากโรงพยาบาลอื่น หากดูจากสถานะการเงินของโรงพยาบาล ประมาณการว่าหากได้รับงบเสริมไม่ว่าจากช่องทางใด 3-4 ล้านบาทต่อปีโรงพยาบาลจะอยู่ได้ แต่หากได้รับ 6 ล้านบาทต่อปี โรงพยาบาลจะดำเนินการอยู่ได้อย่างสบาย” ภก.วิวัฒน์กล่าว

 

ส่องปัญหาสุขภาพชายแดนพื้นที่เฉพาะ"แม่ฮ่องสอน"

 

          ไม่ต่างจากโรงพยาบาลประจำ จ.แม่ฮ่องสอน นพ.พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผอ.รพ.ศรีสังวาลย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นคนไทยและคนที่ไม่มีสิทธิค่ารักษาของรัฐสัดส่วน 50 ต่อ 50 เป็นผู้ป่วยนอกวันละ 600 คน และผู้ป่วยในราว 40,000 รายต่อปีปี 2561 โรงพยาบาลได้รับการจัดสรรงบประมาณจากบัตรทอง 85 ล้านบาท ซึ่งตามระเบียบต้องหักเป็นเงินเดือนบุคลากรก่อน จำนวน 87 ล้านบาท จึงเท่ากับโรงพยาบาลติดลบทันที ไม่มีเงินเหลือในการให้บริการคนไข้ ได้รับจากประกันสังคม 14 ล้านบาทในจำนวนนี้ต้องตามจ่ายโรงพยาบาลในเชียงใหม่เมื่อมีการส่งตัว 10 ล้านบาท มีเงินส่วนที่ต้องดูแลต่างด้าวอีกราว 10 ล้านบาท ซึ่งโรงพยาบาลต้องหามาเอง ปัจจุบันโรงพยาบาลจึงเป็นหนี้ค่ายาอยู่กว่า 100 ล้านบาท

 

ส่องปัญหาสุขภาพชายแดนพื้นที่เฉพาะ"แม่ฮ่องสอน"

 

          ผอ.รพ.ศรีสังวาลย์ บอกว่า หาก จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับการพิจารณาให้เป็นเขตสาธารณสุขพื้นที่เฉพาะจะส่งผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้บริการประชาชนใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.งบประมาณจะได้เพิ่มขึ้น โดยในการจัดสรรงบประมาณจะมีการเพิ่มเติมจากจังหวัดอื่นๆ เพราะในความเป็นจริงเมื่อโรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องสั่งซื้อเวชภัณฑ์ต่างๆ ผู้ประกอบการจะคิดค่าใช้จ่าย จ.แม่ฮ่องสอน แพงกว่าพื้นที่อื่นเพราะเป็นภูเขา ที่ผ่านมาขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่รายรับที่เป็นงบประมาณไม่ได้มีค่าพิเศษ ในจำนวนงบที่เท่ากันแม่ฮ่องสอนก็จะซื้อสินค้าได้น้อยกว่าพื้นที่อื่น เช่น ออกซิเจนหากเป็นพื้นที่อื่นซื้อในราคา 4-8 บาทต่อลิตร แต่ที่นี่ต้องซื้อ 18-19 บาทต่อลิตร รวมถึงสามารถจ่ายค่ายาได้ตามเวลา จากที่ปัจจุบันเป็นหนี้เมื่อสั่งยาใหม่ บริษัทยาก็ส่งยาให้เพียงครึ่งเดียว และไม่สามารถสั่งยาใหม่ๆ ดีๆ ได้

          2.อัตรากำลังคนได้รับเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาการคิดอัตรากำลังคนต่อจำนวนประชากร แต่ไม่ได้พิจารณาถึงความเฉพาะของบริบทพื้นที่ เช่น มีเจ้าหน้าที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพชุมชน 1 วัน อาจดูแลคนได้เพียง 2 คน เพราะบ้านอยู่ไกลกันมากและอยู่บนดอยการเดินทางลำบาก แต่หากเป็นพื้นที่ทั่วไป 1 วันอาจจะสามารถดูแลชาวบ้านได้แทบจะทั้งหมู่บ้าน และ 3.สิ่งของในการจัดซื้อสิ่งของต่างๆ ไม่ต้องอิงกับราคาปกติเหมือนพื้นที่อื่น เพราะหากราคาเหมือนกันทั้งประเทศ ในราคาที่เท่ากัน จ.แม่ฮ่องสอน จะได้ของคุณภาพด้อยกว่า จากการที่ต้องหักเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษในการขนส่งด้วย

 

ส่องปัญหาสุขภาพชายแดนพื้นที่เฉพาะ"แม่ฮ่องสอน"

 

          นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จ.แม่ฮ่องสอน ไม่ได้เป็นพื้นที่พิเศษเพราะไม่มีอะไรพิเศษกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่เป็นพื้นที่เฉพาะ คือมีความเฉพาะของพื้นที่ทั้งในแง่ของภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยทิวเขา ที่อยู่อาศัยของประชากรจำนวนไม่น้อยอยู่บนดอยสูง การเดินทางค่อนข้างลำบาก รวมถึง คนจากประเทศเพื่อนบ้านมีการเดินทางเข้ามารับบริการสาธารณสุขจำนวนไม่น้อย ซึ่งสถานพยาบาลในพื้นที่ต้องให้การรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชน เหล่านี้ล้วนเป็นความเฉพาะของพื้นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการพิจารณาการสนับสนุนด้านต่างๆ จากรัฐในรูปแบบเฉพาะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ ในการดำเนินงานจริงตามบริบทพื้นที่ให้มีความพร้อมเพื่อเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาให้ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่เฉพาะ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ