Lifestyle

สอบเข้าป.1จ่าย1แสนต่อปีส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สอบเข้าป.1จ่าย1แสนต่อปีส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน : รายงาน  โดย...   ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 

 

          “หากโรงเรียนมีศักยภาพจริงต้องปั้นดินให้เป็นดาวได้ ไม่จำเป็นต้องคัดเลือกดินหรือดาว” นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

          การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 กำลังเป็นปัญหาในระบบการศึกษาไทย ล่าสุดมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยสถาบันการวิจัยและพัฒนา สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ และสวนดุสิตโพล ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลจากระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1” ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบที่มีต่อตัวเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน รวมถึงหาแนวทางในการคัดเลือกเด็ก

          นายชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหัวหน้าโครงการวิจัย แถลงผลการวิจัย พบว่า การเตรียมตัวเด็กเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก โดยต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษ หรือกวดวิชาให้แก่ลูก บางครอบครัวมีค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้าเกิน 1 แสนบาทต่อปีต่อคน 

 

สอบเข้าป.1จ่าย1แสนต่อปีส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน

 

          ส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน
          ทั้งนี้ ยังพบว่าส่งผลในเชิงลบต่อตัวเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เช่น ยกเลิกการนอนกลางวัน ซึ่งการนอนกลางวันเป็นการพักผ่อนที่สำคัญต่อเด็ก เด็กเกิดความกดดัน เกิดภาวะเครียด ความสุขเด็กลดลง เด็กขาดโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เน้นให้เด็กเรียนรู้จากการท่องจำและฝึกทักษะทางวิชาการ สมองของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับวัยของเด็ก
นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อครอบครัว  การใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวหายไป ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวลดลง ผู้ปกครองเกิดความเครียดและแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับลูก ส่วนผลต่อโรงเรียน ทำให้โรงเรียนต้องปรับรูปแบบการสอนโดยเพิ่มเนื้อหาวิชาการสำหรับเด็กอนุบาลมากเกินไป โรงเรียนไม่สามารถจัดประสบการณ์และพัฒนาเด็กตามแนวคิดหรือปรัชญาของการศึกษาปฐมวัยได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ระดับโรงเรียนประถมศึกษา เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านการเรียน เด็กขาดความพร้อมในการเรียนระยะยาว การเรียนรู้เกิดขึ้นในระยะสั้น เป็นการเรียนรู้เพื่อทำสอบ ไม่สามารถปรับประยุกต์ความรู้ที่เรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

 

สอบเข้าป.1จ่าย1แสนต่อปีส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน

 

 

          51.77%ผู้ปกครองเห็นด้วยจัดสอบ
          นายชนะศึก กล่าวต่อว่า สำหรับความคิดเห็นต่อการสอบ พบว่า ผู้ปกครอง 51.77% เห็นด้วย 48.23% ไม่เห็นด้วย, ครูอนุบาล 42% เห็นด้วย 58% ไม่เห็นด้วย, ผู้บริหาร 25% เห็นด้วย 75% ไม่เห็นด้วย และนักวิชาการ 100% ไม่เห็นด้วย โดยเหตุผลที่เห็นด้วยกับการสอบ ส่วนใหญ่ต้องการให้เด็กได้ฝึกทักษะทางวิชาการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเรียนในชั้น ป.1 การสอบทำให้โรงเรียนจัดเด็กที่มีความสามารถใกล้เคียงไว้ในห้องเดียวกัน เด็กมีโอกาสเท่าเทียมกัน 

          ส่วนเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าการสอบไม่สามารถประเมินความสามารถของเด็กได้ครบทุกด้าน ไม่สอดคล้องกับหลักการศึกษาปฐมวัย และการพัฒนาเด็ก เด็กเกิดความกดดันและเครียด เด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามวัย

          ส่วนข้อเสนอแนะแนวทางการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับ ป.1 พบว่า 22.70% ต้องการให้ประเมินพัฒนาการและสมรรถนะของเด็กตามวัย 22.27% รับเด็กในเขตพื้นที่บริการ/ใกล้บ้าน 17.50% จับสลาก 16.39% สัมภาษณ์เด็ก 10.90% ทดสอบ 5.97% สัมภาษณ์พ่อแม่ ผู้ปกครอง และ 4.27% ใช้หลายวิธีประกอบกัน

 

สอบเข้าป.1จ่าย1แสนต่อปีส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน

 

          สนใจส่งลูกเรียนร.ร.เอกชนมากสุด
          นายชนะศึก กล่าวอีกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองสนใจส่งลูกเข้าเรียน ป.1 ในโรงเรียนสังกัดต่างๆ ดังนี้ 56% โรงเรียนเอกชน 19% สังกัดมหาวิทยาลัย 13% สพฐ. และ 12% กทม. โดยเหตุผลของการตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้แก่บุตรหลานในการสอบเข้า ป.1 ได้แก่ 37% ระบบการเรียนการสอน 24% ความสะดวกในการเดินทาง 18% ชื่อเสียงของโรงเรียน 7% สภาพแวดล้อมของโรงเรียน 7% ค่าเทอมมีความเหมาะสม 6% มีระดับการศึกษาสูงสุดถึงชั้นม.ปลาย และ 1% อื่นๆ เช่น มีบุตรศึกษาอยู่ก่อนแล้ว แสดงให้เห็นว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองย่อมทุ่มเงินให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่ดี 

          จำนวนชั่วโมงเพื่อเตรียมบุตรหลานเพื่อสอบเข้า ป.1 ต่อสัปดาห์ พบว่า 25% 2 ชม.ต่อสัปดาห์ 22% มากกว่า 4 ชม.ต่อสัปดาห์ 20% 3 ชม.ต่อสัปดาห์ 19% 4 ชม.ต่อสัปดาห์ และ 14% 1 ชม.ต่อสัปดาห์ ส่วนผลกระทบของระบบการสอบเข้า ป.1 ในมุมของครู ระบุว่า 43% เด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างสอดคล้องตามวัย 31% ทำให้ไม่สามารถสอนตามหลักการพัฒนาเด็กได้ 18% ส่งผลต่อการจัดการชั้นเรียนในห้องเรียน และ 8% อื่นๆ เช่น เนื้อหาวิชาการมากขึ้น กระทบกิจกรรมหลัก ลักษณะการเตรียมเด็กสำหรับสอบเข้า ป.1 พบว่า 44% ปรับกิจกรรมในห้องเรียน 25% สอนเสริมให้แก่เด็กช่วงหลังเลิกเรียน 16% สอนเสริมให้แก่เด็กช่วงวันหยุด หรือเสาร์-อาทิตย์ 10% สอนเสริมให้กับเด็กช่วงพักกลางวัน 2% อนุญาตให้ผู้ปกครองพาเด็กออกไปติวในช่วงเวลาเรียน และ 3% อื่นๆ เช่นเตรียมความพร้อมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน

 

สอบเข้าป.1จ่าย1แสนต่อปีส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน

 

          พ่อแม่เล่น-พูดคุยกับลูกไม่เป็น
          นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าการสอบเข้าส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กอย่างมาก ยิ่งครอบครัวไหนมีลูก 2 คน แล้วคนหนึ่งสอบเข้าโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียงได้ กับอีกคนสอบเข้าไม่ได้ เมื่อมีคนชื่นชมหรือสอบถามเฉพาะเรื่องของลูกคนที่สอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกติดลบเด็กที่สอบเข้าไม่ได้อย่างแน่นอน

          อีกทั้ง ปัญหาขณะนี้คือ เด็กเล่นไม่เป็น เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้เล่นกับลูก แต่ใช้เวลาไปกับการพาลูกไปเรียนติว เมื่อเขาเล่นกับเพื่อน เด็กเล่นเต็มที่จนทำให้เกิดปัญหาการเล่นกันแรงๆ ในเด็ก รวมถึงพ่อแม่ส่วนใหญ่พูดคุยกับลูกไม่เป็น ไม่เคยสอบถามความรู้สึกของลูก แต่เป็นการพูดคุยในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ

          “หากโรงเรียนมีศักยภาพจริงๆ จะต้องสามารถปั้นดินให้เป็นดาวได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีการคัดเลือกว่าเด็กคนนั้นเป็นดิน หรือเป็นดาวมาแล้ว แต่ต้องสามารถปั้นดินให้เป็นดาวได้ทุกคน และการจะพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อยากได้คนดี คนเก่ง ต้องวางรากฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม ทักษะชีวิต ต้องสร้างเด็กดีมาก่อนเด็กเรียนเก่ง เพราะถ้ายังมีระบบการคัดเลือก การพัฒนาเพื่อให้เด็กเป็นคนเก่งก่อน ความเอื้ออาทรของบ้านเมืองหายไปอย่างแน่นอน” นพ.สุริยเดว กล่าว

 

สอบเข้าป.1จ่าย1แสนต่อปีส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ