Lifestyle

ส่องร่างพ.ร.บ.ยา(ฉบับใหม่) เอื้อนายทุนหรือประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องร่างพ.ร.บ.ยา(ฉบับใหม่) เอื้อนายทุนหรือประชาชน : รายงาน  โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ 

     
          เภสัชกรทั่วประเทศรวมใจแสดงพลังคัดค้านร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ....(ฉบับเดือนก.ค.2561) หรือที่เภสัชกรเรียกว่า “ฉบับลับ ลวง พราง” โดยมีการแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมายืนยันเช่นกันว่า หากพ.ร.บ.ยานี้บังคับใช้เป็นกฎหมายจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวม ทว่าเรื่องนี้นับเป็นหนึ่งในมหากาพย์ เนื่องจากพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่เป็นฉบับล่าสุดมีการใช้บังคับมานานกว่า 50 ปี และเมื่อมีการขยับจะแก้ไขก็มีอันสะดุดทุกครั้งด้วยข้อกำหนดที่จะแก้ไขมีบางประเด็นที่ไม่ลงตัว ไม่ต่างจากในครั้งนี้

            ​ร่างพ.ร.บ.ยาฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 229 มาตรา แยกเป็น 12 หมวดและบทเฉพาะกาล ประกอบด้วย หมวด 1 คณะกรรมการ  หมวด 2 ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย ยาแผนทางเลือก แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 การขออนุญาตและการอนุญาต  ส่วนที่ 2 หน้าที่ผู้รับออนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ส่วนที่ 3 การขึ้นทะเบียนตำรับยา  หมวด 3 ยาสำหรับสัตว์ แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 การขออนุญาตและการอนุญาต  ส่วนที่ 2 หน้าที่ผู้รับออนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ส่วนที่ 3 การขึ้นทะเบียนตำรับยา หมวด 4 เภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เภสัชชีววัตถุ และเภสัชสมุนไพร แบ่งเป็น  ส่วนที่ 1 การขออนุญาตและการอนุญาต ส่วนที่ 2 หน้าที่ผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ส่วนที่ 3 การจดแจ้ง  หมวด 5 การควบคุมยา  หมวด 6 การเลิกกิจการและการโอนกิจการ  หมวด 7 กระบวนการพิจารณายา  หมวด 8 การโฆษณา  หมวด 9 การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต  หมวด 10 พนักงานเจ้าหน้าที่  หมวด 11 อุทธรณ์  หมวด 12 บทกำหนดโทษ  และบทเฉพาะกาล 
    

          สำหรับมาตราที่เภสัชกรคัดค้านอย่างหนักและมองว่าจะเป็นปัญหาตามมามีประมาณ  81 มาตราตามที่องค์กรเครือข่ายและบุคลากรด้านเภสัชศาสตร์ให้ความคิดเห็น โดยประเด็นหลักและสำคัญอย่างมาก คือ มาตรา 4 ที่มีการแบ่งประเภทยาไม่เป็นไปตามหลักสากลและนิยามยาสามัญประจำบ้านไม่ชัดเจน  โดยแบ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ และยาสามัญประจำบ้าน ส่วนหลักสากลจะแบ่งประเภทยาเป็นยาที่จ่ายตามใบสั่ง ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร และยาที่ประชาชนเเลือกใช้ได้เอง  
   

 

ส่องร่างพ.ร.บ.ยา(ฉบับใหม่) เอื้อนายทุนหรือประชาชน

 

 

          มาตรา 22 โดยเฉพาะ (5) ที่ระบุถึงให้การจ่ายยาและแบ่งจ่ายยา ตามข้อกำหนดสามารถกระทำได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้วิชาชีพอืิ่นจ่ายและแบ่งจ่ายยาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเภสัชกรที่เป็นวิชาชีพที่ร่ำเรียนมาด้านยาโดยตรง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะมีวิชาชีพใดที่จะถูกกำหนดออกมาบ้าง  โดยพยาบาลจะส่งเสียงว่าจะต้องรองรับการจ่ายยาของพยาบาลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ไม่มีเภสัชกรด้วย ทว่าที่ผ่านมานั้น พยาบาลสามารถจ่ายยาได้อยู่แล้วตามข้อกำหนดที่ว่ารพ.สต.อยู่ภายใต้โรงพยาบาลประจำอำเภอให้ถือว่าการจ่ายยาอยู่ในการสั่งจ่ายยาของแพทย์โรงพยาบาลอำเภอ ที่สำคัญเรื่องนี้เภสัชกรให้ความเห็นว่า เภสัชฯ จะจ่ายยาได้จะเรียนเฉพาะทางด้านยา ต้องสอบผ่านมีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมและหากทำผิดจรรยาบรรณต้องรับโทษตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ขณะที่วิชาชีพอื่นจะให้จ่ายยาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต 
   
          มาตรา 115  เป็นการกำหนดให้เภสัชกรสามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการด้านยาได้มากกว่า 1 แห่ง หากเวลาปฏิบัติการไม่ทับซ้อนกันซึ่งมีความหวั่นเกรงว่าจะเกิดกรณี “เภสัชกรแขวนป้าย” มากขึ้น คือมีชื่ออยู่ประจำร้านแต่ตัวไม่ได้อยู่จริง และในส่วนของบทลงโทษที่มีการกำหนดอัตราโทษในหลายฐานไว้สูงมาก  โดยเฉพาะมาตรา 160-225 ที่มีการกำหนดโทษที่เป็นการจำคุกและปรับ เป็นต้น      
    
          “ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้ออกมาบังคับใช้คือ ไม่ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไม่ส่งเสริมสมุนไพรเพื่อการพัฒนายา ไม่คุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน ระบบยาขาดความมั่นคงและเสียหาย และความเชื่อต่อคุณภาพยาและอาหาร ที่ส่งผลต่อการค้าและอุตสาหกรรมของไทยในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนลดลง” ผศ.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ รองผู้จัดการแผนศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ     
    
          ขณะที่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ...มีความเห็นที่ลงตัวแล้ว 90% ของเนื้อหาสาระทั้งหมดมี 10% ที่ยังไม่ลงตัว และกฎหมายนี้มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น   กำหนดให้การอนุญาตขึ้นทะเบียนยามีช่วงอายุจากเดิมที่ให้แล้วสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต ซึ่งการที่ทะเบียนยาไม่มีวันหมดอายุแบบที่ผ่านมา แปลว่าต้องรอให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาชนิดนั้นก่อน และตามกฎหมายเดิมเจ้าหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเกิดจากยานั้นจริงจึงจะถอนทะเบียนยาได้ ที่ผ่านมาใช้เวลาหลายปี แต่ร่างฉบับใหม่กำหนดให้ทะเบียนยามีอายุ 7 ปี ระหว่างนี้หากมีการระบุถึงผลข้างเคียงของยาเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ขอขึ้นทะเบียนยาต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ายาของตนเองมีความปลอดภัย อย.จึงจะต่อทะเบียนยาให้ ซึ่งจะทำให้ยาที่มีปัญหาค่อยๆ หมดไปจากตลาด เพราะหากเจ้าของพิสูจน์ไม่ได้ว่ายามีความปลอดภัยก็จะไม่มีการต่อการขึ้นทะเบียนยา

 

ส่องร่างพ.ร.บ.ยา(ฉบับใหม่) เอื้อนายทุนหรือประชาชน


    
          การจำแนกยาเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น จะเป็นการจำกัดการใช้ยา และการให้อย.สามารถเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการที่มาขอใบอนุญาตได้ จากเดิมที่ทำไม่ได้ และมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 77/2559 ให้สามารถดำเนินการได้ เมื่อมีการยกร่างพ.ร.บ.ยาใหม่ก็ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในกฎหมายหลักด้วย เมื่ออย.มีรายได้จากส่วนนี้เพียงพอก็จะขอลดงบประมาณในส่วนนี้จากรัฐลง เป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐ เป็นต้น  
     
          ส่วนประเด็นที่เป็นดราม่าเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดียที่ระบุว่า “ร่างพ.ร.บ.ยานี้ เอื้อนายทุน โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อแบรนด์หนึ่ง จะสามารถเปิดร้านขายยาได้” นั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า “ไม่เป็นความจริง  การดำเนินการของรัฐบาลนี้มุ่งสู่ประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก สิ่งที่พูดแบบนั้นว่าจะเอื้อให้นายทุนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความถูกต้องเลย" ส่วนนพ.วันชัย บอกว่า กฎหมายกำหนดให้ทุกร้านขายยาจะเปิดใหม่ได้ต้องมีเภสัชกรประจำร้านทั้งหมด 
    
          ดูเหมือนว่าทางออกของเรื่องนี้ก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพด้านสาธารณสุขจะมีอยู่เพียง 2 แนวทาง คือ 1.ถอนร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ...ที่อยู่ระหว่างการรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมา และหารือแก้ไขประเด็นปัญหาให้ลุล่วงก่อน หรือ 2.ผลักดันร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ...ต่อไป โดยประเด็นที่เห็นไม่ลงตัวกำหนดไว้ในร่างให้มีกระบวนการทำงานต่อในการหาข้อสรุป
      
          อยู่ที่แนวทางไหนจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด!!! 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ