Lifestyle

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด : รายงาน โดย... พวงชมพู ประเสริฐ 

 

          จากการจัดกิจกรรมเล็กๆ ให้แก่เด็กในชุมชน ภายใต้ต้นยางในสวนยางของตนเอง  ด้วยมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ในการทำกิจกรรมทางเลือก โดยใช้ทุนที่มีอยู่ในชุมชนมาสรรค์สร้างกิจกรรมเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ก่อนขยับขยายวงกว้างสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอื่นๆ  ภายใต้กิจกรรม “ยิ้มสัญจร” ในนามเครือข่าย “พัทลุงยิ้ม” และนำมาสู่การจัดงาน “พื้นที่นี้ ดีจัง เยาวชนพัทลุงยิ้ม“ ในปี 2561 จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ตอน ”ปล่อยผีเสื้อให้โบยบิน” ที่ให้เด็กและเยาวชนทั่วทั้งจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงได้มารวมตัวทำกิจกรรมร่วมกันและนำเสนอผลงานกิจกรรมของแต่ละพื้นที่ 

          นางเตือนใจ สิทธิบุรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งงานพื้นที่สร้างสรรค์พัทลุงยิ้ม เล่าว่า ราวปี 2540 เริ่มต้นจัดกิจกรรม “สวนยางยิิ้ม” โดยนำกำไรปันผล 2 ปีของกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนที่สมาชิกทุกคนไม่ขอรับ แต่นำมาใช้ในการจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนในชุมชน เพราะต้องการให้เด็กได้มีกิจกรรมทางเลือก ด้วยการเริ่มจากทุนในชุมชนที่มีอยู่ จึงเชิญชวนเด็กและเยาวชนภายในชุมชนที่บ้านเกาะทัง ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง มาทำกิจกรรมร่วมกัน ปีแรกเริ่มจากการจัดกิจกรรมในสวนยางและสวนผลไม้ เนื่องจากเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน ปรากฏว่ามีเด็กเข้าร่วมกว่า 100 คน เป็นการสะท้อนว่าแท้จริงแล้วเด็กๆ ต้องการพื้นที่ในการทำกิจกรรม

 

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด

 

          ปีที่ 2 จากใต้ต้นยางขยายเป็นการจัดค่ายเด็กและเยาวชน 1 คืน 2 วัน โดยให้เด็กได้ลงชุมชนเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนผ่านคำขวัญของต.นาโหนด ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าชุมชนเรามีอะไรดีที่เด็กควรจะได้ซึมซับ เช่น ข้าวเล็บนก และเขาหลักโค และจากกิจกรรมของเด็กขยายสู่การเชิญชวนคนทั้งชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันด้วย เช่น ชวนคนมาขุดลอกคลองในชุมชนที่มีการปล่อยปละละเลยมานานกว่า 30-40 ปี ปรากฏว่ามีคนมาร่วมนับพัันคน

 

 

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด

 

          ในปี 2548 จึงได้เสนอโครงการ “สำรับอาหารจากผักพื้นบ้าน” ไปยังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานราว 3.8 แสนบาท แต่ค้นพบข้อบกพร่องว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นการทำในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งได้ละเลยเด็กและเยาวชนไป จึงชวนเด็กๆ ในชุมชนมาร่วม เกิดเป็น โครงการ “ปิดเทอม เปิดตา เปิดใจกับขนมพื้นบ้าน” โดยเด็กชวนผู้ใหญ่นำอาหารที่ไม่ใส่ผงชูรส ไม่หวาน มัน เค็ม ไปถวาย 4 วัด เมื่อพระฉันอาหารเสร็จ เปิดปิ่นโตวางเรียงแล้วให้เด็กเลือกว่าอยากจะรู้จักและทำอาหารชนิดไหน แล้วให้เด็กได้ไปเรียนการทำจากผู้ใหญ่ในชุมชน เมื่อถึงวันพระจึงนำอาหารที่เด็กทำมากินร่วมกัน

          และขยายกิจกรรมในชุมชนอีกหลากหลาย เช่น ห้องสมุดใต้ถุนบ้าน ให้เด็กได้มีพื้นที่อ่านหนังสือ ทำการบ้านหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในตอนเย็นหรือช่วงปิดเทอมจนเด็กๆ เสนอความคิดว่าน่าขยายไปจัดกิจกรรมร่วมกับเด็กและเยาวชนพื้นที่อื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดเป็นยิ้มสัญจรและเครือข่ายพัทลุงยิ้มทั้ง จ.พัทลุง

 

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด

 

          “เดิมเด็กๆ จะไม่ค่อยมีพื้นที่ในการทำกิจกรรม แต่เมื่อมีการจัดพัทลุงยิ้ม เด็กๆ ได้ขยับมาอยู่ข้างหน้าในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งคนที่เข้าร่วมมีตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงอาชีวะ เด็กได้รู้จักและสื่อสารกันเอง ผ่านกระบวนการร่วมกันกับคนทุกช่วงวัยใน จ.พัทลุง ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจึงล้วนมีรอยยิ้่ม เพราะการทำกิจกรรมทุกอย่างมีความสุขร่วมกัน” นางเตือนใจกล่าว

          นางเตือนใจ กล่าวด้วยว่า พัทลุงยิ้ม ตอบโจทย์ 3 ดีของสสส. คือ 1.พื้นที่ดี โดยทุกชุมชนล้วนมีเรื่องราวดีๆ ที่จะให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และสร้างความเข้าใจกันและกันในชุมชนมากขึ้น อาทิ บางพื้นที่มีการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนา เมื่อได้ผ่านการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน การใช้ชีวิตในชุมชนจึงเป็นไปอย่างเข้าใจกัน 2.ภูมิดี เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมลงชุมชน ได้เดินสำรวจภายในชุมชน จึงได้เรียนรู้ภูมิปัญญาดีๆจากผู้หลักผู้ใหญ่ในแต่ละชุมชนแล้วนำมาต่อยอด และ 3.สื่อดี เมื่อเด็กได้ผ่านกระบวนการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง นับเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ย่อมจะทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจ ในการเลือกใช้สื่อและจัดการกับสื่อต่างๆ ที่เข้ามารายล้อมได้อย่างเหมาะสม

 

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด

 

          น.ส.วรวลัญธ์ ไชยบัณฑิต อายุ 17 ปี ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนพื้นที่นี้ดีจัง พัทลุงยิ้ม ตอนปล่อยผีเสื้อให้โบยบิน บอกว่า เด็กและเยาวชนต้องการพื้นที่สร้างสรรค์ที่จะได้ประสบการณ์จริงจากการเรียนรู้ทั้งในและนอกชุมชนของตนเอง ทำให้เด็กและเยาวชนได้มีการพัฒนาศักยภาพตนเอง จับกลุ่มสร้างสรรค์และแบ่งพื้นที่ชุมชน เพื่อนำเสนอเรื่องราวของตนเองและชุมชน อีกทั้ง เด็กได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ปกครองและผู้สูงอายุลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนชุมชน ใช้ความรู้ภูมิปัญญาที่ตัวเองมีถ่ายทอดในการพัฒนาเด็ก

          “จากนั้นขยายจากชุมชนตนเองไปหาเพื่อนเพื่อเรียนรู้ในชุมชนอื่นๆ ผ่านการจัด ยิ้มสัญจร กลายเป็นเครือข่ายทั้งจังหวัด ก่อนจัดเป็นงานพัทลุงยิ้ม เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการทำงานเป็นอาสาสมัคร ใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความรู้และแสดงออกถึงความกระตือรือร้น มีจิตสำนึกสาธารณะ” น.ส.วรวลัญธ์กล่าว

 

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด

 

          ขณะที่ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน “พัทลุงยิ้มปีที่ 5” ว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งงานพัทลุงยิ้มเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดกิจกรรมที่เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน และผู้สูงอายุเป็นต้นแบบ กลายเป็นพื้นที่ที่เด็กได้สร้างสรรค์นำมาสู่การสร้างสุขในพื้นที่ เปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงให้พัทลุงน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ในอนาคตจึงอยากเห็นกิจกรรม “ยิ้ม” เกิดขึ้นครบทั้ง 11 อำเภอของ จ.พัทลุง

          “ชื่องานในปีนี้ตอนปล่อยผีเสื้อให้โบยบิน อาจเป็นเพราะผีเสื้อมีช่วงชีวิตที่สั้น สวยงาม น่ารัก อิสระ เปรียบเหมือนช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่สั้นนิดเดียว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทะนุถนอมช่วงวัยเหล่านี้ให้มีการเรียนรู้ ในพื้นที่เหมาะสมและสร้างสรรค์ เพื่อเติบโตต่อไปอย่างมีศักยภาพ เพราะฉะนั้นเราจะยิ้มอย่างมีความสุขไปด้วยกันทั้งจังหวัด” นายกู้เกียรติกล่าว

 

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด

 

          นางมัทนา ถนอมพันธ์ หอมลออ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนกระบวนการและปัจจัยแวดล้อมด้านระบบสื่อเพื่อสุขภาวะ ที่เชื่อมโยงและเสริมพลังเครือข่าย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในท้องถิ่น เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดเป้าหมายร่วมในการสร้างระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะ โดยใช้กระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมพลังผ่านยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

          “กระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนให้มีทักษะเท่าทันสื่อ ความรอบรู้ทางสุขภาพ และความตื่นรู้ทางปัญญา เกิดกระบวนการพัฒนาเยาวชนแกนนำภาคีเครือข่ายให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะกว่า 5,000 คน ที่มีศักยภาพในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ และใช้สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการต่อยอดและขยายผลให้พื้นที่สร้างสรรค์มีความยั่งยืนเพื่อเป็นปัจจัยแวดล้อมในการสร้างเสริมสุขภาวะ ปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์เด็กและเยาวชน กว่า 45 จังหวัด” นางมัทนากล่าว

 

"พัทลุงยิ้ม"...พื้นที่สร้างสรรค์จากใต้ต้นยางขยายทั้งจังหวัด

 

          พื้นที่ชุมชนเครือข่ายพัทลุงยิ้ม
          อ.เมืองยิ้มนี้ที่คลองนาท่อมลำปำเลยิ้มสวนยางยิ้ม เขาเจียกเรียกยิ้ม
          อ.เขาชัยสนหานโพธิ์โชว์ยิ้ม
          อ.ปากพะยูนปากพะยูนคูณยิ้มแหลมกรวดอวดยิ้ม
          อ.ควนขนุนทะเลน้อยทยอยยิ้มนาขยาดกวาดยิ้ม
          อ.กงหราชะรัดมัดยิ้ม
          จ.สงขลาบ้านขาวพราวยิ้ม ระโนดลูกโหนดยิ้่ม
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ