Lifestyle

เลี้ยงลูกยุค 'สังคมก้มหน้า' โปรดฟังทางนี้ !!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในยุค "สังคมก้มหน้า" เราจะมีวิธีการดูแลเด็กยุคนี้ได้อย่างไร...ใครเป็นพระเอก ใครเป็นผู้ร้าย...??

 

               ในยุค “สังคมก้มหน้า” ที่เราๆ ท่านๆ จำนวนไม่น้อยมีความอึดอัด เมื่อต้องเจอภาวะ “ก้มหน้า” บนโต๊ะอาหาร ในห้องประชุม ขณะกำลังพูดคุย หรือที่อื่นๆ

               คำถามคือเราจะอยู่ในสังคมก้มหน้านี้อย่างไร โดยเฉพาะกับเด็กและวัยรุ่น เราจะมีวิธีการเพื่อดูแลพวกเขาในยุคนี้ได้อย่างไร

               ในวาระ “40 ปี มูลนิธิเด็ก” ได้มีการจัดเวทีหัวข้อ “พิทักษ์เด็ก พิทักษ์อนาคต ด้วยสังคมก้มหน้าได้จริงหรือ” ผู้นำเสนอความคิดบนเวทีประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ด้านเด็กจากภาคีเครือข่ายต่างๆ   

เลี้ยงลูกยุค 'สังคมก้มหน้า' โปรดฟังทางนี้ !!

 

               “ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอข้อมูลในหัวข้อ “Living together but apart : ความเหินห่างในครอบครัวไทย ยุคโซเชียลเข้มข้น” โดยได้แปล “Living together but apart” เป็นภาษาไทยว่า เป็นการพลัดพรากกันแบบซึ่งๆ หน้า ในขณะที่อยู่ร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงการถูก “มือถือ” พรากสมาชิกครอบครัวไปแบบซึ่งหน้า

               รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้มือถือ อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ของประชากรในช่วงอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่ามีการใช้มือถือมากถึง 88.2 เปอร์เซ็นต์

               เมื่อแยกการใช้อินเทอร์เน็ตตามกลุ่มอายุซึ่งสำรวจข้อมูลในปี 2554-2558 พบว่าช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งก็คือช่วงของวัยรุ่นและเยาวชนมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือปี 2554 มีการใช้มือถือประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 เพิ่มเป็นเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์

               ขณะที่กลุ่มอายุ 25-34 ปี ก็มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากที่สุด คือจากไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2554 เพิ่มเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 คือ เพิ่มมากกว่า 1 เท่าตัวภายใน 4 ปี

สำหรับในกลุ่มอายุอื่นๆ ก็มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ไม่มากเท่า 2 กลุ่มแรก (รายละเอียดตามแผนภาพ)

               อย่างไรก็ตาม ดร.ภูเบศร์ กล่าวว่า “มือถือก็คือเครื่องมือการสื่อสารชนิดหนึ่ง ไม่ได้เป็นผู้ร้ายเสมอไป สามารถทำให้เกิดประโยชน์ แต่หากใครใช้อย่างไม่เท่าทันก็ทำให้เกิดอันตรายได้”

               “มีการศึกษาพบว่าเด็กจำนวนไม่น้อยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเอาตัวรอด รวมไปถึงเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่างๆ และในบางครอบครัวก็ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่นการมีไลน์กลุ่มครอบครัว ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนเป็น “ชานบ้าน” ในสมัยก่อน ที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และลูกหลาน มานั่งคุยกัน”

เลี้ยงลูกยุค 'สังคมก้มหน้า' โปรดฟังทางนี้ !!

(ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร)

 

               ดร.ภูเบศร์ บอกว่าผู้ใหญ่ควรมีสติในการใช้เครื่องมือนี้มากกว่าเด็ก เพื่อจะได้ช่วยบอกกล่าวตักเตือน กำกับเด็กในการใช้เครื่องมือนี้ แต่หลายครั้งที่เห็นภาพครอบครัวพากันไปที่ร้านกาแฟ หรือไปรับประทานอาหาร แล้วปล่อยให้ลูกๆ วิ่งเล่น ขณะที่พ่อแม่ก้มหน้าอยู่กับมือถือ

               ดร.ภูเบศร์ กล่าวไปถึงสถานการณ์เด็กในครอบครัวไทยในยุคสังคมก้มหน้าว่า มีข้อมูลที่น่ากังวล คือ มีเด็กที่ได้อยู่กับครอบครัวคือพ่อแม่เพียงประมาณครึ่งเดียวเท่านั้น และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถหาเงินให้ได้มากพอที่เลี้ยงลูกด้วยตัวเองได้ จึงต้องส่งลูกกลับไปอยู่กับปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีภาวะพ่อแม่แยกทางกัน ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าในจำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่มีฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่แตกแยก ขาดความอบอุ่น

               ดร.ภูเบศร์ กล่าวถึงผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียว่า ทำให้เกิดสภาวะอยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่ (Living together but apart) เพราะสังคมก้มหน้าทำให้ปัญหายิ่งขยายวงกว้างจนบางครั้งอาจยากแก้ไข

               จากการศึกษาการติดมือถือและผลกระทบพบว่าวัยรุ่นใช้สมาร์ทโฟนตั้งแต่ตื่นนอนถึงเข้านอนเฉลี่ยวันละ 10-15 ชั่วโมง ทำให้มีอาการปวดตา ปวดแขน และมีจำนวนเด็กติดเกมออนไลน์ โดยปี 2557 มีเด็กติดเกมออนไลน์ทั่วประเทศ 10-15% โดยใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 3.1 ชั่วโมง ซึ่งการใช้เวลาเล่นเกมมากกว่า 67 นาทีต่อวัน ส่งผลให้วัยรุ่นไทยมีความเครียด จิตใจแปรปรวน

               จากข้อมูลพบว่าเด็กติดเกมออนไลน์ส่วนใหญ่อายุ 14-16 ปี และพบอายุน้อยลงเรื่อยๆ น้อยสุดคือ 5 ขวบ ซึ่งพบว่าเด็กในกลุ่มนี้ได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย    

 

เลี้ยงลูกยุค 'สังคมก้มหน้า' โปรดฟังทางนี้ !!

(วาสนา เก้านพรัตน์ )

 

               “วาสนา เก้านพรัตน์” ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก แสดงความเห็นสอดคล้องกับ ดร.ภูเบศร์ ว่าสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา (โทรศัพท์มือถือ) เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่อยู่ที่คนนำไปใช้ว่าจะใช้ให้เป็นบวกหรือเป็นลบ

               “สังคมก้มหน้าทำให้เสียโอกาสในหลายเรื่อง เช่นโอกาสในการส่งเสริมและพัฒนาเด็ก เมื่อพ่อแม่ก้มหน้า ลูกก็ก้มหน้า บางคนไปฝากความหวังไว้ที่โรงเรียน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาเด็ก สังคมก้มหน้ายิ่งทำให้คนที่อยู่แวดล้อมเด็กไม่ทำหน้าที่ เราจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่แวดล้อมเด็กทำหน้าที่”

               วาสนา บอกว่า จากข้อมูลในการช่วยเหลือเด็กในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีเด็ก 135 คนถูกทำร้าย ในจำนวนนี้ 99 คนถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กจำนวนหนึ่งถูกล่วงละเมิดเพราะความสัมพันธ์กับคนที่รู้จักผ่านโลกออนไลน์ และข้อมูลที่น่าตกใจคือ มีเด็กหญิงอายุเพียง 9 ขวบถูกล่วงละเมิดและตั้งครรภ์  

               “ศิริพร สะโครบาเนค” ประธานกรรมการมูลนิธิผู้หญิง ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศตะวันตกมีเสรีมากกว่าประเทศไทยแต่กลับพบปัญหา “แม่วัยใส” คือท้องก่อนวัยน้อยกว่าไทย คิดว่าสังคมไทยควรเปิดกว้างกว่านี้ แต่จะเปิดอย่างไรต้องช่วยกันคิด เพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และมีพื้นที่อยู่ได้ในสังคม

               ศิริพร กล่าวว่าพ่อแม่ควรจะรู้ว่าควรมีลูกเมื่อพร้อม และต้องเตรียมตัวเป็นแม่ที่ดีตั้งแต่ตั้งท้อง ดูแลลูกอย่างไรไม่ให้เกิดช่องว่างในสภาวะที่สังคมก้มหน้าระบาดเข้าครัวเรือน

               "ที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบางแห่ง อย่างบ้านกาญจนาภิเษก มีกิจกรรมฟื้นฟูโดยให้พ่อแม่ลูกร่วมกันพิจารณาว่าปัญหาในบ้านเกิดเมื่อไร จึงได้ลุกลามมาเป็นระเบิดเวลา ขอเสนอว่า เราควรมีการอบรมให้พ่อแม่เข้าใจตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องว่า พ่อแม่ต้องไม่เป็นผู้สร้างระเบิดเวลาในบ้าน จะช่วยป้องกันเด็กๆ ได้ดีกว่ามาค้นหาระเบิดเมื่อเขากลายเป็นอาชญากรไปแล้ว”  

 

เลี้ยงลูกยุค 'สังคมก้มหน้า' โปรดฟังทางนี้ !!

(กมลชนก เขมะโยธิน และครอบครัว)

 

               “กวาง - กมลชนก เขมะโยธิน” นางเอกดังในอดีต แม้ไม่ได้มาร่วมเวทีแบบตัวเป็นๆ แต่เธอก็ส่งคลิปมาร่วมแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงลูกทั้งสองคนของเธอ ซึ่งลูกชายอายุ 15 และลูกสาวอายุ 13 ปี

               กวางบอกว่า เธอวางมือจากการแสดงตั้งแต่ลูกทั้งสองยังเล็กเพื่อทำหน้าที่สำคัญของแม่ ต้องลดละ เว้นความชอบในชีวิตส่วนตัวที่เคยชินก่อนมีลูก เพื่อเอาเวลาเหล่านั้นมาให้ลูก การไปส่งลูกไปโรงเรียน หรือไปรับลูกกลับบ้าน เป็นสิ่งที่เธอและสามีผลัดกันทำสม่ำเสมอ

               “บางคนถามว่าทำไมยังต้องตามรับส่ง ลูกโตแล้ว ยิ่งโตยิ่งสำคัญ ต้องคุยกับลูกทุกวัน ต้องรู้เรื่องที่โรงเรียน เรื่องครู เรื่องเพื่อนของลูก เรียกว่าต้องรู้ทุกความเคลื่อนไหว และความคิดที่เปลี่ยนไปของลูก เด็กตั้งแต่เล็กจนโต ความคิดเขาจะเปลี่ยนตลอดเวลา โดยเฉพาะวัยรุ่นเป็นวัยที่สำคัญที่สุด”

               กวางบอกว่า เลี้ยงลูกวัยรุ่นต้องไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ปรับให้เข้ากับยุคสมัย เช่น เล่นเกมได้ แต่การบ้านต้องเสร็จก่อน แต่ต้องไม่เครียดเกินไป ต้องมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น เล่นกีฬา หรือเล่นดนตรี

               “เรื่องโซเชียลมีเดีย เราต้องเฝ้าระวัง ต้องเข้าไปดูด้วย และสอนว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าเราไม่สอน ลูกกดเข้าไปดูเองได้ตลอด เป็นอันตรายมากสำหรับเด็กวัยเรียนที่ไม่รู้เท่าทัน บอกลูกว่าดูได้ แต่อย่าเลียนแบบเพราะมันไม่ถูกต้อง”  

  

เลี้ยงลูกยุค 'สังคมก้มหน้า' โปรดฟังทางนี้ !!

(พญ.เบญจพร ตันตสูติ)

 

               “พญ.เบญจพร ตันตสูติ” หรือ “หมอมินบานเย็น” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา เล่าถึงการทำเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” ซึ่งทำมาได้ 5 ปีแล้วว่า ที่ทำเพราะเห็นว่าปัจจุบันคนไทยและวัยรุ่นมีปัญหาทางจิตเวชมากขึ้น ในขณะที่จำนวนจิตแพทย์มีไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากการให้ข้อมูลผ่านหน้าเพจแล้ว ยังคอยตอบปัญหาทางหลังไมค์ด้วย ซึ่งก็มีตั้งแต่ปัญหาการเลี้ยงดูลูก ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง ไปจนถึงเรื่องสัมพันธภาพในครอบครัว พ่อแม่บางคนบอกคนกับลูกไม่รู้เรื่อง

               หมอมิน บอกว่า ปัจจุบันครอบครัวไทยขาดความใกล้ชิดกัน ขาดบรรยากาศการพูดคุยที่มีลักษณะเป็นชานเรือน ซึ่งปมปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก พ่อแม่บางคนต้องส่งลูกไปอยู่กับตายายในตอนลูกเล็กๆ พอเอาลูกกลับมาเลี้ยงก็คุยกันไม่รู้เรื่อง บอกว่าลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าการที่เราจะเชื่อใจใครต้องมีพื้นฐานมาจากเรื่องความเชื่อมั่น ความสัมพันธ์ที่ดี มีความไว้วางใจกันมาก่อน และอีกส่วนที่มีผลคือภาวะ “สังคมก้มหน้า”

               “การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนดาบ 2 คม และถ้าพ่อแม่ใช้มาก ลูกก็จะใช้มาก ก็เหมือนกับการสอนลูก แม้พ่อแม่จะบอกให้ลูกทำโน่นนี่เพื่อให้เป็นเด็กดี ก็ไม่ได้ผลเท่ากับการทำให้เขาเห็น”

               หมอมินบอกว่า สังคมก้มหน้าทำให้เกิดภาวะ Alienation Syndrome เป็นมนุษย์ต่างดาวของกันและกัน ขาดปฏิสัมพันธ์กันในโลกความเป็นจริง ขาดการแสดงออกทางอวัจนะภาษา เช่น การกอด การสบตา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะพัฒนาเป็นความผูกพัน ความเห็นอกเห็นใจกัน เมื่อขาดไปก็น่าเป็นห่วง ทำให้สังคมอยู่กันอย่างปัจเจกมากขึ้น มีการแข่งขันกันมากขึ้น ขาดการเอื้ออาทรกัน

   เลี้ยงลูกยุค 'สังคมก้มหน้า' โปรดฟังทางนี้ !!

(ทิชา ณ นคร)

 

               “ทิชา ณ นคร” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน กล่าวผ่านวิดีโอคลิปว่า “เด็กเป็นผลลัพธ์และผลผลิตที่รัฐไม่ได้ลงทุนอย่างจริงจังทำให้ทุนสามานย์เข้ามาแทน ชักนำไปทางที่มืด การลงทุนอย่างจำกัด ผิดทิศทาง คือระเบิดเวลาของสังคมการเยียวยาปัญหาเด็กที่ต้องคำพิพากษาจึงต้องทำบนพื้นฐานของโจทก์จริง ซึ่งมีจำเลยร่วมคือนโยบายรัฐและความเพิกเฉยของสังคม ที่บ้านกาญจนาภิเษก ใช้ Soft Power คืออำนาจที่ประหนึ่งไม่ใช่อำนาจ มีการให้มีส่วนร่วม มีความเมตตา มีบทเรียนที่มีการออกแบบภายใต้ปัญหาของเด็ก การรอให้รัฐตื่นรู้ อาจต้องใช้เวลารอคอยอีกหลายช่วงอายุคน แต่สิ่งที่เราทำได้เลยคือ การ Empower ครอบครัว เปิดใจพ่อแม่ให้ช่วยค้นหาที่มา หรือพื้นที่ที่สร้างระเบิดเวลาให้ลูก แล้วต้องช่วยกันถอดสลักระเบิดเวลานั้นด้วยตัวเอง”

               ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า บ้านกาญจนาภิเษก จัดกิจกรรม Empower ครอบครัวปีละ 6 ครั้ง พ่อแม่ของเด็กทุกคนต้องเข้าร่วม ผลของความพยายามเยียวยาด้วยความรัก ความเข้าใจ และความเมตตา ทำให้เด็กที่ผ่านบ้านกาญจนาภิเษกไป มีอัตราการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าบ้านอื่นๆ อีก 18 แห่ง

  

เลี้ยงลูกยุค 'สังคมก้มหน้า' โปรดฟังทางนี้ !!

(พิภพ ธงไชย)

 

               “พิภพ ธงไชย” กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเด็ก บอกว่า ปัญหาของเด็กตอนนี้ไม่ได้เป็นแค่ระเบิดในบ้าน แต่เป็นเหมือนระเบิดปรมาณู รัฐบาลควรทุ่มงบประมาณในเรื่องเด็กให้มากขึ้น ไม่ใช่ทุ่มงบไปในเรื่องการลงทุนทางอุตสาหกรรมอย่างเดียว

               อย่างไรก็ตาม พิภพ กล่าวว่า แม้ว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องพิทักษ์เด็ก แต่ปัญหาของเด็กรอไม่ได้ สังคมก็ต้องช่วยกันปกป้องเด็ก เพราะอีกไม่นาน 13 ล้านคนนี้ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาเป็นคนดีก็จะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม แต่ถ้าตรงข้ามก็คือระเบิดเวลาของประเทศ

               "ปัญหาเด็กเกิดและสะสมมานานนับปี ในยุคโซเชียลมีเดียและสังคมก้มหน้า ปัญหาก็ยิ่งรุนแรงขึ้น แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน แก้ที่เหตุอย่างตรงจุดก็พอจะหยุดหรือชะลอปัญหาได้

               เริ่มที่ครอบครัวที่มีลูกด้วยความรัก พลังรักของพ่อแม่ มีความสำคัญมากที่สุดที่จะปกป้องลูก ขอให้สังคมช่วยกันพิทักษ์เด็ก โดยส่งเสียงเตือนพ่อแม่ ส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้พ่อแม่ใช้เลี้ยงดูลูก ใช้ข้อดีของโซเชียลมีเดีย ซึ่งให้ความรวดเร็วและกว้างขวางในการส่งผ่านข้อมูล

               เชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเสียคน เพียงแต่อาจจะตามเทคโนโลยีไม่ทัน หรือบางคน “ติดกับ” เทคโนโลยี คิดว่าปล่อยให้เด็กอยู่กับไอแพด หรือมือถือ เป็นเรื่องโก้เก๋ ซึ่งถูกแค่ส่วนเดียวเด็กอยู่กับเทคโนโลยีได้ แต่พ่อแม่ ผู้ใหญ่ ต้องคอยดูอยู่ใกล้ๆ อย่าปล่อยให้ภัยแฝงในโซเชียลมีเดียพาเด็กไปสู่มุมมืด"

               ถึงบรรทัดนี้ถ้าจะถามถึง "ผู้ร้าย" ในการพิทักษ์เด็ก ยุค “สังคมก้มหน้า” น่าจะพอเห็นคำตอบบ้างแล้ว !!

 

==================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ