Lifestyle

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาชีวะ-เอกชน ร่วมผลิตคนระบบราง ฝากรัฐบาลเสริม สร้างเมืองบริวาร : รายงาน  โดย...   ชุลีพร อร่ามเนตร   [email protected]

 

          “รัฐบาลควรพิจารณาการสร้างเมืองบริวาร  หยุดยั้งการอพยพของธุรกิจและแรงงานเข้ากรุง” นายเอนก ศิริพานิชกร

          ระบบคมนาคมมีความจำเป็นอย่างมากในยุคแห่งการเดินทาง เพราะนั่นไม่ได้บ่งบอกเพียงความสะดวกเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการขนส่ง โลจิสติกส์ การค้าขาย การสร้างรายได้ สร้างงาน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้อีกด้วย อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนทั้งในด้านการผลิตกำลังคน การลงทุนสร้างระบบขนส่งทางรางทั้งในกทม. และเชื่อมต่อไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อการขนส่ง การค้าและการบริการ ทว่าเมื่อมีการสร้างระบบรางต่างๆ ย่อมต้องมีกำลังคนในการดูแล ขับเคลื่อนเช่นเดียวกัน 

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

 

          7 อาชีวะ ร่วมปั้นคนระบบราง
          นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีแนวทางในการส่งเสริมให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในการจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับระบบขนส่งทางราง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาพรีเมียมอาชีวะ ตามโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษา รวมถึงสนับสนุนด้านงบประมาณ ความร่วมมือกับภาคเอกชน และการพัฒนาครู คณาจารย์ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนระบบรางเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ รองรับความต้องการกำลังคนด้านระบบราง ซึ่งปัจจุบันมีวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนด้านระบบขนส่งทางรางจำนวน 7 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ และวิทยาลัยการอาชีพเกาะคา

 

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

 

          ทั้งนี้สำหรับวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม 6 สาขาวิชา ดังนี้ ได้แก่ สาขาระบบขนส่งทางราง เป็นหลักสูตรระดับ ปวส. เรียน 3 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) บ้านไผ่ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) สุราษฎร์ธานี วท.วาปีปทุม และวท.ชลบุรี โดยมีกลุ่มวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น วิทยาลัยและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน วิทยาลัยเทคนิคการรถไฟความเร็วสูงหูหนาน และวิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561

 

 

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

 

          รัฐต้องลงทุนไทยสร้างเอง
          นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา วศรท.พยายามผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง แต่ผลการผลักดันไม่ค่อยเกิด เนื่องจากรัฐบาลมองไม่เห็นความสำคัญ เพราะต่อให้ประเทศไม่มีโรงงาน สถานประกอบการ อุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ หรืออุปกรณ์ประกอบเกี่ยวกับระบบราง หากได้รับการสนับสนุน ลงทุนจากภาครัฐ มีความต้องการอย่างชัดเจน มีตลาด ภาคเอกชนไทย สถานประกอบการไทย โรงงานไทยทำได้อยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมางานยากภาคเอกชนก็มีศักยภาพ อีกทั้งอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางกับอุตสาหกรรมยานยนตร์ไม่ได้แตกต่างกันมาก ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมยานยนตร์ได้ ทำไมจะมีอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไม่ได้

 

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

 

          “ขาดการส่งเสริมจากภาครัฐ เพราะภาครัฐมุ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าระบบราง ทั้งที่หากรัฐลงทุน เห็นความสำคัญกับพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางจะทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ถ้ารัฐไม่สร้างอุตสาหกรรมเอง ต้องซื้อต่างประเทศตลอดไป ทำให้ประเทศไม่มีความมั่นคงสะท้อนต้นทุน ค่าตั๋วจะสูงขึ้น และผู้ที่แบกภาระคือประชาชน ประเทศก็จะไม่ได้ประโยชน์” นายดิสพล กล่าว
ไทยพร้อมผลิตชิ้นส่วน

 

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

 

          จากแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางรางของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ประมาณการความต้องการกำลังคนรวม 31,307 คน โดยจำนวนนี้มีความต้องการกำลังคนระดับช่างเทคนิค 11,479 คน และระดับวิศวกร 5,740 คนเพื่อรองรับพัฒนาและขยายระบบขนส่งทางรางของไทย

          นายเอนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง ต้องยอมรับว่าไทยไม่ได้มีความพร้อมดำเนินการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางทั้งหมด แต่มีศักยภาพในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เช่น มีความพร้อมในการสร้างโบกี้ อะไหล่ การผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับระบบราง มีความพร้อมทั้งกำลังคน และองค์ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ

 

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

 

          “ถ้าภาครัฐกำหนดชัดเจนว่าอุตสาหกรรมระบบรางเริ่มจากเรื่องไหน ด้านใด เป็นสิ่งแรก เช่น มีบุคลากรด้านผลิตอะไหล่ ชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งหากกำหนดงานใดงานหนึ่งในอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางได้ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สวทน. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัย และหน่วยงานเกี่ยวกับระบบรางได้มีแนวทางในการพัฒนาด้านต่างๆ” นายเอนก กล่าว
บทบาทสถาบันวิจัยระบบราง

          นายเอนก กล่าวว่า ภาครัฐเห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงต่างๆ เบื่องต้นสถาบันดังกล่าวมี 5 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา 2.สร้างมาตรฐานในการรองรับ 3.สร้างอุตสาหกรรมหลักโดยกำหนดการให้อุตสาหกรรมนวัตกรรมจะได้สิทธิประโยชน์ จาก BOI ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ 4.การทดสอบและแล็บต่างๆ และ 5.การสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับระบบรางสิ่งที่สถาบัน ต้องดำเนินการเริ่มแรก คือ การสร้างอุตสาหกรรมนวัตกรรม เพราะถ้าไม่มีิทิศทางอุตสาหกรรมชัดก็ไม่สามารถดำเนินการด้านอื่นๆ ได้ สถาบันนี้เป็นทางออกแก่อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางขอให้ได้จัดตั้งขึ้นจริงๆ

 

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

 

          ฝากสร้างเมืองบริวารหยุดอพยพ
          นายเอนก กล่าวต่อว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงและโครงสร้างพื้นฐานระบบราง คือ รัฐบาลควรพิจารณาการสร้างเมืองบริวาร โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเส้นทางที่ไกลมาก เพื่อให้เมืองบริวารที่สามารถเดินทางได้ภายใน 2 ชั่วโมงเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่เป็นแหล่งที่ตั้งของธุรกิจและแรงงาน ทั้งนี้การดำเนินการเช่นนี้จะหยุดยั้งการอพยพของธุรกิจและแรงงานเข้ากรุงเทพมหานครได้ รวมถึงพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ในเมืองบริวารที่ยังมีราคาไม่แพง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงในราคาไม่สูงมาก

 

อาชีวะ-เอกชนร่วมผลิตคนระบบรางฝากรัฐเสริมสร้างเมืองบริวาร

 

          “เมื่อประเทศสามารถกำหนดอุตสาหกรรมระบบรางได้ชัดเจน ทำให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานวิจัย รู้ทิศทางพัฒนาบุคลากร งานวิจัย นวัตกรรมรองรับ ซึ่งตอนนี้การดำเนินการเกี่ยวกับระบบราง มีแผนแม่บทรถไฟรางคู่ ลดต้นทุนโลจิสติส์ลง รัฐบาลกำหนดสร้างในเมืองใหญ่ถือเป็นเรื่องที่ดี และมีความจำเป็นต่อประเทศ อย่างไรก็ตามหลายเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเป็นสิ่งที่ดี แต่รัฐบาลควรมองว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิต ไม่ใช่ผู้ใช้” นายเอนก กล่าว
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ