Lifestyle

กยศ. ชะลอยึดทรัพย์"ครูวิภา" ตาม17รายคิวต่อไปผู้ใหญ่บ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กยศ. ชะลอยึดทรัพย์"ครูวิภา" ตาม17รายคิวต่อไปผู้ใหญ่บ้าน : รายงาน  โดย... เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ  [email protected] 

 

          เมื่อความรักและความหวังที่จะเห็นลูกศิษย์ได้มีโอกาสการศึกษา จนทำให้ “ครูวิภา บานเย็น” ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ถูกกรมบังคับคดียึดทรัพย์ บ้านและที่ดิน หลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ให้นักเรียนในปี 2541 จำนวน 60 คน เพื่อให้เด็กเรียนต่อและเติบโตเป็น “คนดี” ของสังคม แต่ท้ายสุดผลตอบแทนของความปรารถนาดี คือ การแบกรับหนี้และถูกประกาศยึดทรัพย์...

          ล่าสุด 25 กรกฎาคม 2561 ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเแถลงข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าว ว่า ครูวิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย ซึ่งเป็นการคำ้ประกันในส่วนค่าครองชีพให้แก่เด็ก เมื่อได้ตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่ครูวิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่าใน 60 รายมีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย โดยทั้ง 4 รายนี้ ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกองทุน กยศ.เตรียมจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ และหากครูวิภา ต้องการไล่เบี้ยคืน กยศ.ก็พร้อมในการจัดหาทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้

 

กยศ. ชะลอยึดทรัพย์"ครูวิภา" ตาม17รายคิวต่อไปผู้ใหญ่บ้าน
 
          ชะลอยึดทรัพย์-ตามหนี้ 17 ราย
          ในส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีจำนวน 17 คดี หรือ 17 รายนั้น กยศ.ได้หารือกับกรมบังคับคดี เพื่อช่วยเหลือครูวิภาเบื้องต้นโดยจะ

          ชะลอการบังคับคดีออกไปก่อนแต่ภายในปีนี้จะไม่มีหมายศาลไปถึงครูวิภาแน่นอน ซึ่งสำหรับหนี้ของทั้ง 17 รายคิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาทยังไม่รวมดอกเบี้ย แต่หากคิดรวมดอกเบี้ยอยู่ท่ี่ประมาณ 3 แสนบาท

          ขณะเดียวกัน กยศ.จะเร่งติดตามสืบทรัพย์ของทั้ง 17 รายผ่านทางสำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร ซึ่ง กยศ.มีอำนาจดำเนินการได้ตามพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ในการเข้าถึงข้อมูลผู้กู้ได้ และหากพบตัวจะประสานหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อหักเงินเดือนมาชำระหนี้ กยศ. ได้
    
          ปัจจุบัน กยศ.ได้เริ่มนำร่องหักเงินของข้าราชการกรมบัญชีกลางเป็นที่แรกและจะขยายผลเรียกเก็บเงินในข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง และขยายไปยังหน่วยราชการที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลางภายในสิ้นปี 2561 และต้นปี 2562 กยศ.จะเริ่มดำเนินการเรียกเก็บเงินเดือน โดยมีบริษัทใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานจำนวน 1 แสนคนขึ้นไป และภายใน 2 ปีจะดำเนินทั้งระบบ
เล็งกำหนดบุคคลคนค้ำและวงเงิน
    
          “กยศ.ไม่ได้กำหนดว่าการค้ำประกันทำได้กี่คนและวงเงินเท่าไหร่ เพราะเราต้องการให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา จึงไม่ได้เอาเรื่องการค้ำประกันมาเป็นเงื่อนไข แต่คาดว่าจากกรณีของครูวิภา กยศ. จะต้องไปสำรวจจำนวนอีกครั้ง ยังมีผู้คำ้กลุ่มหนึ่งที่อาจมีปัญหาเหมือนผู้ค้ำประกันที่เป็นครู คือกลุ่มผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งกยศ.มีคำแนะนำเบื้องต้นให้กับผู้คำ้ประกันที่ค้ำประกันนักเรียนจำนวนมากๆ ว่า ขอให้ผู้คทุกคนตรวจสอบว่านักเรียนที่ตนเป็นผู้คำ้นั้น จ่ายเงิน กยศ.เป็นปกติหรือไม่ และสามารถติดต่อสายด่วน กยศ. ได้ตลอดเวลา และอนาคต กยศ.ก็จะมาดูว่าอาจจะต้องปรับแก้ไขการกำหนดบุคคลและวงเงินการค้ำประกันต่อไป” ชัยณรงค์ กล่าว

 

กยศ. ชะลอยึดทรัพย์"ครูวิภา" ตาม17รายคิวต่อไปผู้ใหญ่บ้าน
   
          ทั้งนี้ กระบวนการกู้ยืมเงินนั้น กยศ.จะมีการปฐมนิเทศนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อให้ความรู้ว่าในการชำระหนี้ ต้องทำอะไร ถ้าไม่ชำระหนี้จะเกิดอะไร และเมื่อเรียนจบจะมีการปัจฉิมนิเทศอีกรอบหนึ่ง ทั้งนี้ หลังเรียนจบจะมีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี จึงจะเริ่มกระบวนการชำระหนี้ ซึ่งผู้กู้ 1 คนกู้เฉลี่ย 1 แสนบาท 
   
          โดยกระบวนการติดตามหากผู้กู้ไม่ชำระ กองทุนจะส่งจดหมายแจ้งภาระหนี้ให้ผู้กู้ จากนั้นกองทุนจะมีส่งจดหมายติดตามหนี้ค้างชำระให้แก่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน และมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งเตือง มีการส่งข้อความ SMS และข้อความเสียง เพื่อให้ชำระหนี้ในระยะเวลาที่กำหนด
   
          แต่หากผู้กู้ยืมไม่ได้รับจดหมายจากกองทุนก็สามารถตรวจสอบยอดหนี้และสถานะของตนเองได้ทางเว็บไซต์ กยศ. (www.studentloan.or.th) และหากผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้ จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตรา 12% หรือ 18% ต่อปี ของเงินต้นงวดที่ค้างชำระแล้วแต่กรณี จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีตามกฎหมาย

          ซึ่งเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วสามารถไปขอไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้ และชำระหนี้เป็นรายเดือนได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาลและศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งหมด กองทุนยังได้ให้เวลาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย มิฉะนั้นกองทุนจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน   
    
          “ในการติดตามหนี้ กยศ.จะติดตามจากผู้กู้ก่อน แต่ที่เกิดปัญหาผู้ค้ำประกันต้องมารับผิดชอบมีหลายกรณี คือ ผู้กู้ยังไม่มีทรัพย์ ผู้กู้มีทรัพย์แต่ไม่จ่าย และไม่มีวินัยทางการเงิน นำเงินไปใช้อย่างอื่นมากกว่ามาใช้หนี้ จึงเกิดปัญหากับผู้ค้ำประกัน ขณะเดียวกันการติดตามหนี้ก็พบปัญหาว่าผู้กู้ปิดเบอร์มือถือ และบางรายไม่อยู่ในถิ่นฐานเดิมทำให้ติดตามไม่ได้” ชัยณรงค์ กล่าว
ลูกหนี้กยศ. 5.4 ล้านคน-เงิน 5.7 ล้านบ.
    
          ปัจจุบัน กยศ.พบว่า มีผู้กู้ยืมกยศ.ทั่วประเทศ จำนวน 5.4 ล้านราย เป็นเงิน 5.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นผู้กู้ยืมที่กำลังศึกษาหรืออยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1 ล้านราย ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้หมดแล้ว 8 แสนราย ผู้กู้ยืมที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ 5 หมื่นราย ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย เป็นเงิน 4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีกลุ่มผู้ผิดนัดชำระหนี้ แต่ยังไม่ถูกดำเนินการดคี 1.2 ล้านราย เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท และกลุ่มผิดนัดที่ถูกดำเนินคดี 1 ล้านราย เป็นเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ขอฝากถึงผู้กู้ทุกคนและทั้ง 17 รายนี้ให้มีจิตสำนึกให้มาใช้หนี้ มาแบ่งเบาภาระหนี้ให้ครู และส่งโอกาสการศึกษาให้รุ่นน้องต่อ

          ลูกศิษย์ 2 รายติดต่อขอใช้หนี้คืน
          ขณะที่ ครูวิภา บานเย็น กล่าวว่า ที่ผ่าน 4 รายที่ได้ชำระหนี้ไปแล้ว 92,000 บาทนั้น เพราะได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ แต่ 17 รายดังกล่าวไม่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กยศ.มาก่อน มาทราบอีกทีก็ได้รับหมายศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์แล้ว ทั้งที่ผ่านมาปฏิบัติตามมาตรการของ กยศ.มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้
  
          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข่าวออกไปมีลูกศิษย์ติดต่อเข้ามา 2 ราย โทรศัพท์มาขอโทษที่ทำให้เดือดร้อนและบอกว่าจะไปปิดหนี้กยศ.ที่เหลืออยู่และจะผ่อนชำระหนี้ที่ครูจ่ายแทนไปให้เดือนละ 5 พันบาท แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าเขาจะดำเนินการอย่างที่พูด เพราะเป็นแค่การคุยโทรศัพท์ไม่มีหลักฐานยืนยัน

 

กยศ. ชะลอยึดทรัพย์"ครูวิภา" ตาม17รายคิวต่อไปผู้ใหญ่บ้าน


 
          ยันไม่ยอมให้ยึดทรัพย์
          “ตอนนี้ถึงแม้ กยศ.จะชะลอการบังคับคดีแล้วแต่ไม่ได้หมายความว่าคดีจะสิ้นสุด เพราะถ้าสืบทรัพย์ของเด็กมาไม่ได้ก็จะวนมาที่ตัวเองอยู่ดี ยังคงกังวลใจเราเจอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2551 แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหานี้จะสิ้นสุด ไม่รู้เลยว่าจะมีหมายศาลมาถึงบ้านอีกเมื่อไร แต่บอกไว้ตรงนี้เลยว่าแม้จะมีคำสั่งยึดทรัพย์จริง ครูก็จะไปกู้เงินมานำทรัพย์ออกมาไม่ยอมให้ขายทอดตลาดอย่างเด็ดขาด เพราะทรัพย์นี้มีค่ามหาศาล และหากเป็นไปได้อยากให้การชำระหนี้ของเด็กจ่ายเป็นชื่อผู้ค้ำ เพราะเรารับภาระมาก่อนหน้านี้แล้ว ขอฝากถึงลูกศิษย์ที่ได้ดูอยู่ช่องทางไหนก็ตาม ทั้งคนที่ครูจ่ายหนี้แทนหรือยังไม่ได้จ่าย ด้วยความเป็นครูไม่เคยอยากทำร้ายลูกศิษย์ เราไม่อยากฟ้องเด็กเขาคือลูกศิษย์ แค่อยากให้มาคุยจะใช้หนี้คืนอย่างไร ซึ่งคงไม่พูดอะไรมากเพราะ คำว่า คนดี ครอบคลุมหมดทุกอย่างในเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีคุณธรรมและความรับผิดชอบ” น.ส.วิภา กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ