Lifestyle

แก้หนี้ครูต้องดูหลายมิติใช่ว่าจะมีแค่ไร้"วินัยกับยากจน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แก้หนี้ครูต้องดูหลายมิติใช่ว่าจะมีแค่ไร้"วินัยกับยากจน" : รายงาน  โดย...  ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected] -

 

          ท่ามกลางกระแสตีกลับไปไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มวิชาชีพครู ที่ออกมาประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. หรือ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป พร้อมชักชวนลูกหนี้ ช.พ.ค.ทั่วประเทศกว่า 450,000 คน ร่วมกันยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561

          กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปดูแล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ชี้แจงการแก้ไขหนี้สินที่ครูที่ ล่าสุดในโครงการสวัสดิการเงินกู้ช.พ.ค.2-7 ผู้กู้ 483,587 ราย เป็นเงิน 410,923 ล้านบาท ที่ร่วมกับธนาคารออมสินลดดอกเบี้ย 0.5-1% ให้แก่ครูที่มีวินัยทางการเงินดีไปแล้วกว่า 370,000 รายตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา มีการสะท้อนข้อมูลด้วยว่า ครูส่วนใหญ่ 99% มีวินัยดี จะมีปัญหาและไม่อยากผ่อนชำระก็เพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น และเชื่อมั่นด้วยว่าหลังวันที่ 1 สิงหาคม ลูกหนี้ครูส่วนใหญ่ยังจะผ่อนชำระหนี้เป็นปกติอยู่

          “สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์” รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวของกลุ่มครูออกมาเรียกร้อง ซึ่งก็อาจจะเป็นความเดือดร้อนของครู แต่การที่จะเบี้ยวหนี้คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว หรือครูอาจจะมองว่าเกษตรกรก็ขอพักชำระหนี้ได้ จึงออกมาเรียกร้องบ้าง

          แต่โดยความเป็นจริงแล้วการที่ครูเป็นหนี้มีการทำสัญญาข้อตกลงกันระหว่างผู้กู้กับทางธนาคารออมสิน ในการกู้แต่ละโครงการแต่ละครั้ง ก็มีข้อตกลง ผู้กู้จะทราบดีว่าตนเองกู้เงินเท่านี้แล้วจะต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนเท่าใด การที่ครูจะเบี้ยวหนี้จึงทำไม่ได้ในทางกฎหมาย

 

แก้หนี้ครูต้องดูหลายมิติใช่ว่าจะมีแค่ไร้"วินัยกับยากจน"

 

 

         โดยก่อนที่กลุ่มนี้จะออกมาประกาศปฏิณญามหาสารคาม มีครูบางส่วนเบี้ยวหนี้อยู่แล้ว จะเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพครู คือ 1.ถือว่าเป็นการไม่มีวินัยในตนเอง ใช้เงินเกินที่หา ไม่จ่ายหนี้ตามเวลา 2.ไม่รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และไม่เป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์กร ทำให้วิชาชีพและองค์กรเสื่อมเสีย 3.ไม่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งกาย วาจา และจิตใจ 4.ไม่ยึดมั่นในระบอบคุณธรรม สร้างความสามัคครีในหมู่คณะ และ 5.ไม่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม


          ทั้งนี้ เมื่อสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้รับข้อกล่าวหาไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากนั้นส่งต่อให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ(กมว.)พิจารณาโทษทางจรรยาบรรณกับผู้ที่เบี้ยวหนี้ ซึ่งโทษหากมีมูลก็ตั้งแต่ขั้นตักเตือน พักใช้ใบประกอบวิชาชีพครู หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

 

แก้หนี้ครูต้องดูหลายมิติใช่ว่าจะมีแค่ไร้"วินัยกับยากจน"

 

          "อยากให้สังคมเข้าไปมองที่เนื้อในการกู้เงินของครู เช่น การบังคับให้ครูซื้อประกันความสูญเสียของเงินกู้ในวงเงินสูงๆ ระยะเวลา 10 ปี แทนที่จะคุ้มครอง 30 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ ซึ่งสกสค.กำลังดำเนินการทางคดีอยู่ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจครูที่กู้  เจรจาเพื่อไม่ให้ครูถูกเอาเปรียบ รวมถึงรัฐบาลพยายามช่วยครูที่เป็นลูกหนี้ เช่น ให้ สกสค.ไปเจรจากับธนาคารออมสิน ให้ช่วยลดดอกเบี้ยให้กับครูที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีแล้วและยังนำเงิน 1% ที่ครูเคยถูกหักเข้ากองทุนนำกลับคืนให้ครูในรูปแบบการลดดอกเบี้ยเพิ่มให้อีกด้วย" รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

          “ทั้งนี้ทั้งนั้นครูควรจะมีวินัยในการใช้ชีวิต เพราะถ้าหากไม่มีวินัยในการใช้ชีวิตก็จะมีปัญหา แต่ก็มีจำนวนที่น้อยมากไม่ถึง 1% แต่บางส่วนก็น่าเห็นใจ เพราะคนที่มาเป็นครูส่วนใหญ่ก็มาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะที่ดีนัก และต้องคอยจุนเจือครอบครัว และมีภาษีสังคมมาก ครูมีลูกศิษย์มาก และคนคาดหวังครูมาก ซึ่งอาจจะเป็นภาระที่คนอาจจะมองไม่เห็น ครูบางคนกู้เงินไปช่วยเหลือเด็กเจ็บป่วย ซึ่งคนที่ไม่ได้เป็นครูก็อาจจะไม่เข้าใจปัญหา”

          หลายคนสงสัยว่าทำไมจึงมีแต่ข้าราชการครูที่มีปัญหาหนี้สินในระบบสูง หรืออย่างน้อยคือสูงที่สุดในหมู่ข้าราชการ อาจจะเป็นเพราะว่าข้าราชการครูบางคนเรียนจบมหาวิทยาลัยมาด้วยการกู้เงินจาก กยศ. หรือ กรอ. เมื่อเข้าสู่การบรรจุเป็นข้าราชการแล้วก็จะถูกหักเงินเดือนในรายเดือนไป ยังมีเรื่องค่าครองชีพสิ่งจำเป็นอย่างเช่น ยานพาหนะ หรือโทรศัพท์มือถือ หรือที่พักอาศัยภาระที่ต้องรับผิดชอบของครอบครัวและอื่นๆ หากดูจากเงินเดือนละ 15,000 บาท หากกู้กองทุนนั้นตามระเบียบถูกหักเหลือเงินเดือนร้อยละ 10 ของเงินเดือนสุทธิ หรือร้อยละ 30 ของเงินเดือนสุทธิ จะเหลือเพียง 4,500 บาทเท่านั้น

 

แก้หนี้ครูต้องดูหลายมิติใช่ว่าจะมีแค่ไร้"วินัยกับยากจน"

 

          ซึ่งก่อนหน้านี้ ดร.พิษณุ ตุลสุข อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สมัยที่เคยฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ได้ริเริ่มผลักดัน “โครงการสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน” ใช้งบประมาณก้อนแรกดำเนินการไป 1,000 ล้านบาท ช่วยเหลือครูที่มีหนี้วิกฤติ ที่กำลังจะล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ ประมาณ 700-1,000 คน ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่ร้อยละ 3.5 โดยร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนำร่องใน 16 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา

          ครูนก กนกพิชญ์ พันธุ์เขตกิต  ครูโรงเรียนผาเมืองวิทยาคม จ.เพชรบูรณ์  คือครูที่เข้าร่วมโครงการจัดสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิก ช.พ.ค.และฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษากรณีคู่สมรส (ช.พ.ส.) ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาหนี้วิกฤติของสำนักงาน สกสค. จังหวัดเพชรบูรณ์ คัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นรายแรก โดยเวลานี้ได้รวมหนี้ทั้งหมดมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์สามัญศึกษาเพียงแห่งเดียว ผ่อนชำระ 16 ปี ตกเดือนละประมาณ 31,250 บาท ปัจจุบันอายุ 45 ปี พออายุ 61 ปี หนี้สินที่มีก็สามารถชำระได้ทั้งหมด

          “ทุกวันนี้ วางแผนการเงินใหม่ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ประหยัดได้ก็ประหยัด ทุกวันจะห่อข้าวไปกินที่โรงเรียน ทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงปลา ตรงนี้เป็นกงสีของครอบครัวทำร่วมกับน้องสาวก็มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง และยังมีผลผลิตไว้กินเองไม่ต้องเสียเงินซื้อ ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุข ไม่มีภาวะเครียด และก็เอาบทเรียนของชีวิตเราเองสอนแก่นักเรียนและลูกๆ” ครูนก กล่าว

          ช่วงปี 2542-2556 ครูนก เป็นหนี้ 6.5 ล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ในระบบทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สหกรณ์ออมทรัพย์สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ หนี้ธนาคารออมสินจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ของสกสค. เพราะกู้ไปลงทุนทำการเกษตร หนี้ที่รับผิดชอบต่อจากพ่อแม่ การส่งเสียลูก 2 คนเรียนหนังสือ ต้องจ่ายเดือนละ 40,000 บาท เงินเดือนประมาณ 30,000 บาทติดลบกว่า 20,000 บาททุกเดือน

          ครูนก บอกว่าความจริงไม่ว่าทำอาชีพไหนก็ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ คนเป็นครูก็เช่นกัน ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าบางคนอาจจะเป็นหนี้จากการฟุ้งเฟ้อ แต่บางคนก็มาจากความจำเป็นของชีวิต การต้องเลี้ยงดูคนในครอบครัว ส่งเสียลูกเรียน และต้องยอมรับด้วยว่าภาวะเศรษฐกิจก็มีผล ยังมีเรื่องของภาษีสังคมที่เราปฏิเสธไม่ได้ ที่สำคัญครูในต่างจังหวัดพื้นฐานมาจากครอบครัวทำการเกษตรไม่ได้มีฐานะมากเท่าใดนัก
“ที่มีกลุ่มวิชาชีพครูออกมาเคลื่อนไหวจะยุติการจ่ายหนี้ อยากให้มองในหลายๆ มุม อย่ามองจุดเดียว ส่วนตัวมองในมุมที่เรามีประสบการณ์เคยตกในภาวะลำบากจริงๆ ที่ผ่านมามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่างๆ หลายโครงการก็ดีแต่ไม่ทำให้ต่อเนื่อง บางเรื่องก็ไม่กำหนดให้ชัดเจน อยากขอให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องนี้ลงมาดูแลแก้ไขปัญหาจริงจัง อย่าแค่มองมาจากข้างบน เพราะตอนนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป สภาพเศรษฐกิจ สังคมเปลี่ยน โดยอาจจะต้องหาวิธีการช่วยลดดอกเบี้ย รวมหนี้ไว้ที่สถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเพียงจุด หรือคนที่เกือบจะล้มละลาย อยากขอให้ช่วยดึงกัน เปิดโอกาสได้จัดการหนี้ใหม่เพราะถ้าปล่อยไว้ก็ไม่พ้นสภาพงูกินหางไปเรื่อยๆ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ