Lifestyle

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโขน-ละคร :  รายงาน  โดย...   เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ[email protected]

 

          “อยากสืบทอดและสืบสานสิ่งเหล่านี้ไว้อยู่คู่กับลูกหลาน การเปิดสอนก็เป็นวิธีการที่ดีที่สุดวิธีการหนึ่ง” พินิจ สุทธิเนตร 

          ว่ากันว่า ถนนหลานหลวงเป็นเส้นทางสายนาฏศิลป์ที่รวมศิลปะการแสดงไทยแขนงต่างๆ ทั้งโขน ละคร มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ครูดนตรีไทย นาฏศิลป์ ตลอดจนศิลปินนักแสดง โขน ละคร นาฏศิลป์ฟ้อนรำ อาศัยอยู่ในย่านนี้เรื่อยมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่เชิงสะพานวัดสระเกตุ (ถนนจักรพรรดิพงษ์) เรื่อยไปจนถึงเชิงสะพานขาว (ถนนหลานหลวง) คณะนาฏศิลป์จากหลายแหล่งของประเทศไทยที่มีเชื้อสายไทย, มอญ, ทวาย และอื่นๆ ต่างมาตั้งรกรากเปิดคณะกันจนทั่วสองฝั่งฟากถนนรวมกันแล้วหลายสิบคณะในสมัยนั้น

 

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ

 

          “บ้านนราศิลป์” ตัวอักษรสีเหลืองทองในกรอบไม้สีเขียว อยู่เหนือประตูรั้วไม้ของ ตั้งอยู่ในชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) ริมถนนหลานหลวง เป็นบ้านไม้ที่มีต้นไม้ปกคลุมให้ความร่มรื่นล้อมรอบด้วยรั้วไม้สีเขียว ตัดด้วยประตูไม้สีขาวที่ด้านบนมีป้ายชื่อ “บ้านนราศิลป์” เด่นด้วยตัวอักษรสีเหลืองทองในกรอบไม้สีเขียว เป็นคณะนาฏศิลป์คณะใหญ่มีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไทย มีเรื่องราวความเป็นมายาวนานนับ 100 ปี ได้รับการคัดเลือกและประกาศให้เป็น “แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างยั่งยืน” จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตามโครงการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน ปีงบประมาณ 2561
  

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ


          ทายาทของบ้านนราศิลป์รุ่นที่ 3 “พินิจ สุทธิเนตร” ผู้จัดการบ้านนราศิลป์ เล่าว่า บ้านนราศิลป์ หรือคณะนราศิลป์ ก่อตั้งครั้งแรกในต้นสมัยรัชกาลที่ 6 โดยคุณแม่ละม่อม สุสังกรกาญจน์ สมัยนั้นรับงานแสดงโขนกลางแปลง โขนหน้าจอ, โขนชักรอก, ละครชาตรี, ละครพันทาง ประมาณ พ.ศ.2511 เป็นต้นมา คณะนราศิลป์ได้มีส่วนร่วมในเบื้องหลังการแสดงโขนธรรมศาสตร์ ของอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศและยังได้เริ่มผลิตละครร้อง ละครเวที เป็นบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในยุคแรกๆ ชื่อ นราศิลป์ภาพยนตร์ ต่อมาคุณแม่จินดา ปานสมุทร์ รับช่วงสืบสานงานนาฏศิลป์จนพัฒนาเป็นลำดับตามความนิยมคนไทยยุคนั้น จนเป็นคณะนาฏศิลป์คณะใหญ่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไทยมาเกือบ 100 ปี
 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ

 

          “บ้านนราศิลป์ เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ ค้นคว้าข้อมูลต่างๆ เราเก็บรักษาสิ่งที่มีในอดีตให้คงอยู่เหมือนที่ผ่านมาทั้งภาพยนตร์ เครื่องละคร เครื่องโขน หัวโขนฝีมือครูชิต แก้วดวงใหญ่ มีการสาธิตปักเครื่องโขน ซึ่งก็มีคนสนใจเข้ามาเยี่ยมชมเสมอ ส่วนการปักเครื่องโขน เครื่องก็เป็นสิ่งที่ลูกหลานทุกคนร่วมกันอนุรักษ์เหล่านี้คืองานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ ในการอนุรักษ์ทางบ้านนราศิลป์ก็ทำ 2 ส่วนคือ การอนุรักษ์ลวดลายโบราณ เช่น ลายกระจัง พุ่มข้าวบิณฑ์ กนก ก้านขด ประจำยาม และการต่อยอด ประยุกต์ทำลวดลายทำเป็นของที่ระลึกจำหน่าย เป็นต้น” พินิจ กล่าว

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ

 

          พินิจ กล่าวด้วย เวลานี้บ้านนราศิลป์ได้รับเลือกจากวธ. โดย สวธ.ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างยั่งยืนได้จัดโครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการงานหัตถศิลป์ งานปักเครื่องโขน ละคร รุ่นที่ 1 รับสมัครผู้สนใจ 50 คนใช้ระยะเวลา 8 สัปดาห์ทุกวันเสาร์คนมาเรียนมีตั้งแต่อายุ 11 ปีจนถึง 50 ปีขึ้นไป โดยรุ่นแรกสอนปักสไบนาง จะสอนตั้งแต่พื้นฐานการขึ้นสดึง การเนา การวาดลวดลาย การปักดิ้นเย็บจนสำเร็จเป็นชุด ในรุ่นต่อไปก็จะเริ่มงานที่ยากขึ้น เช่น รุ่นที่ 2 สอนการปักเครื่องโขน ซึ่งผู้เรียนรุ่นที่ 1 ก็สามารถมาสมัครเรียนได้โดยเปิดสอนฟรีไม่เก็บค่าใช้จ่าย
   

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ


          “อยากเชิญชวนให้เด็กนักเรียน ประชาชนทุกคนมาเรียนรู้ ศึกษาการปักเครื่องโขน เครื่องละครเพื่อร่วมกันอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ ผมอยากสืบทอดและสืบสานสิ่งเหล่านี้ไว้อยู่คู่กับลูกหลาน การเปิดสอนก็เป็นวิธีการที่ดีที่สุดวิธีการหนึ่ง ที่สำคัญทั้งหมดคืองานหัตถศิลป์ การเรียนนี้ไม่เพียงได้ความรู้ แต่ได้ทักษะอาชีพติดตัวยิ่งปัจจุบันคนทำงานด้านนี้มีน้อย ขณะที่ความต้องการสูง เช่น ในการทำชุดโขนเพื่อใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน ทางบ้านนราศิลป์ก็ทำด้วย เพราะฉะนั้นไม่ตกงานแน่นอน” พินิจ กล่าว

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ


    
          ขณะที่ “วาสนา สุจิมนัสกุล” ข้าราชการที่มาสมัครเรียนในรุ่นที่ 1 เผยว่า ส่วนตัวมีความชอบเรื่องงานปักอยู่แล้ว พอทราบจากเพื่อนในกลุ่มว่าบ้านนราศิลป์เปิดรับสมัครสอนปักเครื่องโขน ก็รีบมาลงเรียนโดยช่วง 2 สัปดาห์ก็จะเรียนพื้นฐานการขึ้นสดึง การเนา และเริ่มทำการปักจริงการปักเลื่อมโดยในการปักสไบนาง 1 ผืนจะร่วมกันทำประมาณ 4-5 คนรับผิดชอบการปักในแต่ละส่วน ซึ่งการได้มาเรียนส่วนตัวไม่รู้สึกยาก เรามีความชอบ ที่สำคัญได้เรียนรู้ปักผ้า ได้เป็นส่วนร่วมในการอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ของไทยด้วย

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ


    
          พิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า บ้านนราศิลป์เป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ งานปักเครื่องโขน ชุดละครไทย โดยบ้านนราศิลป์ได้เสนอโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการงานหัตถศิลป์ งานปักเครื่องโขน ละครรุ่นที่ 1 จึงได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และการเปิดบ้านนราศิลป์ เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชน เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมย่านนางเลิ้ง ในปีนี้ยังสอดรับกับที่สวธ.ได้เสนอโขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะทราบผลเดือนธันวาคมนี้

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ

 

          “ปัจจุบันหาครูปัญญาที่จะถ่ายทอดความรู้งานปักชุดโขนละครที่มีลวดลายโบราณที่สืบทอดกันมายากมากและการที่บ้านนราศิลป์จัดอบรมให้แก่ผู้สนใจ ที่เวลานี้ผ่านไป 1 รุ่นจำนวน 50 คนนับเป็นการสร้างครูแม่ไก่ที่จะช่วยสืบสานอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ อนาคตเน้นเผยแพร่งานปักเครื่องโขน ละคร ให้แก่เยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ฝึกหัดศิลปะแขนงนี้ สามารถต่อยอดเป็นวิชาชีพสร้างรายได้ เพราะปัจจุบันช่างปักเครื่องโขนขาดแคลน” นางพิมพ์รวี กล่าว

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ


    
          แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีทั้งหมด 150 แห่งในทุกภูมิภาคที่พร้อมจะให้ทุกคนได้เข้าไปเรียนรู้อดีตที่รักษาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันและต่อเนื่องเพื่อรุ่นหลังในอนาคต

 

"บ้านนราศิลป์" แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนสานต่อหัตถศิลป์ เครื่องโ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ